ทำไม ? บริษัทแห่ขายหุ้นกู้ “ประชาชนทั่วไป” มากขึ้น แต่ขายสถาบันลดลง

หุ้นกู้

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเหตุผล ทำไม ? บริษัทเอกชน แห่ขายหุ้นกู้แก่ “ประชาชนทั่วไป” มากขึ้น แต่กลับขายให้นักลงทุน “สถาบัน” ลดลง TRUE-LOTUS-CPALL ท็อป 3 มูลค่าการออกสูงสุด

วันที่ 11 มกราคม 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2566 มูลค่าการออกหุ้นกู้ใหม่สามารถแตะ 1,018,690 ล้านบาท ได้ตามประมาณการ ถึงแม้ว่าตลาดทุนไทยไม่ดี และพบว่าหลายบริษัทชะลอการออกหุ้นกู้ หรือขายได้ไม่เต็มจำนวน โดยหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงสูง (ไฮยีลด์บอนด์) ออกลดลงเหลือแค่ 91,977 ล้านบาท เทียบจากช่วงปีก่อนหน้า 130,266 ล้านบาท

กลุ่มที่ออกหุ้นกู้มากที่สุด คือ อันดับเครดิตเรตติ้ง A มูลค่า 525,695 ล้านบาท แต่จะเห็นว่าออกน้อยลงเช่นกันจากปีก่อนหน้า ที่ทำออลไทม์ไฮ 657,849 ล้านบาท และหุ้นกู้อันดับเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB- (เรตติ้ง BB, B) ออกได้อยู่แต่น้อยลงเหมือนกัน เหลือแค่ 44,040 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าออกไป 61,378 ล้านบาท

เช่นเดียวกันหุ้นกู้ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) ที่ออกไปแค่ 47,936 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าออกไป 68,888 ล้านบาท สะท้อนว่านักลงทุนมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนมากขึ้น และผู้ออกถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่อาจจะมีทางเลือกลงทุนผ่านช่องทางอื่น ในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่าปี 2566 กลุ่มไฟแนนซ์เป็นกลุ่มที่มียอดการออกมากที่สุด มูลค่า 208,511 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน 161,533 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 150,909 ล้านบาท กลุ่มธนาคาร 114,523 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มค้าปลีก 88,692 ล้านบาท

Advertisment

นางสาวอริยากล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเสนอขายหุ้นกู้ตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ 1.เสนอขายนักลงทุนในวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย (PP10) 2.เสนอขายนักลงทุนสถาบัน (II) อาทิ กองทุนรวม, กบข., บริษัทประกันชีวิต เป็นต้น 3.เสนอขายนักลงทุนรายใหญ่ (HNW) ซึ่งต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป มีทรัพย์สินสุทธิ 50 ล้านบาท และ 4.เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป (Public Offering)

โดยที่ผ่านมา ๆ การเสนอขายกลุ่ม II-HNW จะมากที่สุด แต่มีข้อสังเกตช่วงหลัง ๆ มานี้ หรือปีที่ผ่านมา จะเห็นปรากฏการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ที่เสนอขายแก่ PO ในสัดส่วนที่สูงขึ้น และมักจะไม่จำกัดมูลค่าขั้นต่ำของการเสนอขาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งถือว่าช่วยสร้างกระแสการลงทุนในหุ้นกู้สำหรับนักลงทุนรายย่อย เพราะมีเงิน 1,000 บาท ก็ซื้อได้แล้ว ต่างจาก HNW ที่ต้องลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท

ประกอบกับหุ้นกู้ของบริษัทที่เป็นที่รู้จักของประชาชน เริ่มขายให้กับนักลงทุนสถาบันยากขึ้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น วงเงินที่เสนอขายสูงเกินไปแล้ว จะเห็นคือกลุ่มซีพี (CPALL, CPF, TRUE) ซึ่งก็มีอันดับเครดิตเรตติ้งสูง เพียงแต่เวลานักลงทุนสถาบันลงทุนจะมองภาพทั้งเครือ

เพราะฉะนั้นเมื่อเขาลงทุนหุ้นกู้ CPALL, CPF, TRUE ไปแล้ว อาจจะซื้อเพิ่มลำบากแล้ว เพราะฉะนั้นทางเลือกในการเสนอขายของกลุ่ม ซี.พี. คือ ขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนทั่วไปมากขึ้น หรือแม้แต่กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ (SCB) ก็ตาม เนื่องจากเป็นบริษัทที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นอยู่แล้วรวมถึงปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่มีการเสนอขาย PO มาโดยตลอดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีฐานลูกค้ารายย่อยค่อนข้างมาก

Advertisment

โดยปี 2566 จะเห็นผู้ออกหุ้นกู้ที่มีการเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปสูงสุด 15 อันดับแรก คือ 1.TRUE มูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท 2.LOTUS มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท 3.CPALL มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท 4.SCB มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท

5.SCC มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท 6.SAWAD มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท 7.MTC มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท 8.TUC มูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท 9.CPAXT มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท 10.SIRI มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท

11.IRPC มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท 12.CPF มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท 13.MINT มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท 14.EA มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และ 15.CK มูลค่า 9 พันล้านบาท