ดร.นิเวศน์ จินตนาการ “ประเทศไทย” ในอนาคตชี้รัฐต้องมองการณ์ไกล หวั่นคนสูงวัยใช้ชีวิตตามอัตภาพ

ดร.นิเวศน์ จินตนาการ

ดร.นิเวศน์ กูรูนักลงทุนวีไอ จินตนาการ “ประเทศไทย” ในอนาคต หรืออีก 60 ปี ชี้รัฐบาลต้องมองการณ์ไกล หวั่นเหลือคนวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน คนสูงอายุทำงานไม่ได้เต็มประเทศ ไม่มีเงินเพียงพอ ห่วงใช้ชีวิตตามอัตภาพ วิกฤตบ้านร้างเหมือนญี่ปุ่นที่ไม่มีคนอยู่

วันที่ 13 มกราคม 2567 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในระยะหลัง ๆ ผมสนใจเรื่องของการ “เติบโต” หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ การ “ถดถอย” หรือการ “ลดลง” ของจำนวนประชากรของประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย เหตุผลก็เพราะผมพบว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศ

จริงอยู่ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากเรื่องของจำนวนประชากรแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของคนที่อาจจะสามารถผลิตได้มากขึ้น หรือการเพิ่ม “ผลิตภาพ” ของประชากรด้วย แต่ประเด็นก็คือ การเพิ่มผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าการเพิ่มคนมากในทางปฏิบัติ

ย้อนไปช่วงอายุ 15 ปี 2511

ย้อนหลังไปประมาณ 55 ปี คือปี 2511 เมื่อตอนผมอายุ 15 ปี และกำลังเข้าเรียนมัธยมปลาย และเริ่มจะเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นกำลัง “เจริญ” ขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนหนทางเริ่มมีมากขึ้น ถนนเพชรบุรีเพิ่งจะ “ตัดใหม่” และเป็นแหล่ง “อาบอบนวด” ที่คนหนุ่มที่เริ่มทำงานที่มีมากขึ้น และเริ่มจะมีเงินมาเที่ยวในยามค่ำคืน ถนนสีลมเริ่มเป็นแหล่งที่มีธุรกิจมาสร้างอาคารสำนักงานเป็นย่านธุรกิจใหม่

“เซ็นทรัลสีลม” กลายเป็นห้างทันสมัยโดดเด่น และ “คนรวย” เริ่มมาซื้อของ อย่างไรก็ตาม ถนนสาทรก็ยังดูเป็นธรรมชาติ มีคลองดินอยู่กลางสาธรเหนือและใต้ ข้างคลองเรียงรายด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นเส้นทางที่ผม “โหนรถเมล์” ที่ “แน่นเป็นปลากระป๋อง” ไปเรียนทุกวัน

ในวันนั้นประชากรคนไทยมีจำนวนประมาณ 33 ล้านคน และแต่ละปีน่าจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคน กรุงเทพฯ เริ่มจะมีรถติดและหนักมากในเวลาต่อมา ผมยังจำได้ว่า “บ็อบโฮป” ศิลปินตลกชื่อก้องโลกชาวอเมริกันมา “เอ็นเตอร์เทน” ทหารอเมริกันที่ตั้งฐานทัพใหญ่โตในไทยเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม บ็อบโฮปยิงมุขที่เป็นอมตะมากว่า ไม่ต้องกลัวว่าเวียดนามจะบุกยึดกรุงเทพฯ เหตุผลก็เพราะรถมันติดมาก รถถังเข้าไปไม่ได้

/// ยุคเบบี้บูม

ยุคที่ผมเกิดและต่อมาจนถึงวัยรุ่นเป็นยุค “เบบี้บูม” แต่ละครอบครัวต่างก็มีลูกกันอย่างน้อย 5-6 คนขึ้นไป บางครอบครัวมีลูกเกือบ 10 คน การเลี้ยงดูเด็กไม่ได้มีต้นทุนสูงมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องอาหารที่ไม่แพงและทำกินเองทุกบ้าน เลี้ยงแค่สิบกว่าปีก็ทำงานหาเงินได้แล้ว ดูเหมือนว่าเป็น “การลงทุน” ที่คุ้มค่ามาก คนที่ไม่มีลูกนั้นจะถูกมองว่าอนาคตจะกลายเป็นคน “อนาถา” ไม่มีคนเลี้ยงดู

บ้านผมเองนั้นเนื่องจากยากจน จึงลงทุนมีลูกได้แค่ 3 คน อย่างไรก็ตาม พอคนเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตำแหน่งงานเพิ่มไม่ทัน คนว่างงานก็มากขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคม รัฐบาลก็ต้องชะลอการเกิด โดยเน้นการคุมกำเนิดและเริ่มรณรงค์ด้วยสโลแกน “ลูกมากจะยากจน” และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย “มีชัย” อย่างไรก็ตาม คนก็ยังคงเกิดมากอยู่ดี

ธุรกิจที่เฟื่องฟูมากที่สุดในยุคนั้นก็คือ “บ้านจัดสรร” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในช่วงนั้น และทุกรายต่างก็จะเน้นโฆษณา “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีตลาด” ทำเลที่มีโครงการมากที่สุดจุดหนึ่งก็คือ “ซอยอ่อนนุช” และอีกจุดหนึ่งก็คือ ถนนลาดพร้าว ที่มีการตัดถนนใหม่และมีพื้นที่ว่างจำนวนมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ กรุงเทพฯ ในยุคนั้น “ยังเล็กมาก” ถนนหลัก ๆ มีไม่กี่สาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ยัง “ว่าง ๆ” “สะพานควาย” เมื่อ 60 ปีก่อนยังแทบจะเป็น “นอกเมือง” แต่ก็ไม่มีควายให้เห็นแล้ว

/// ยุคเด็กเกิดน้อย ชนชั้นกลางรับภาระไม่ไหว

ตัดภาพอย่างรวดเร็วมาถึงปัจจุบัน ที่คนไทยเพิ่มขึ้นมาจนเกือบถึง 70 ล้านคน และก็น่าจะกำลังเป็นจุดสูงสุด คนยุคเบบี้บูมก็เริ่มตายมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วก็อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไปแล้ว บางคนใกล้ 80 ปีแล้ว ปี 2566 คนตายมากกว่าคนเกิดเป็นหมื่นคนแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ จำนวนคนเกิดแต่ละปีในช่วงหลังนั้นเหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 5 แสนคน และดูเหมือนว่าจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะการเลี้ยงเด็กมีต้นทุนที่สูงมาก และกลายเป็น “การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า” สำหรับพ่อแม่ การมีลูกกลายเป็น “การบริโภคที่ฟุ่มเฟือย” และแม้แต่คนชั้นกลางจำนวนมากก็ “รับไม่ไหว”

อีก 60 ปี เหลือคนวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน

การศึกษาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 2-3 วันก่อน นำโดยอาจารย์เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์ทางด้านประชากรศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นของผมที่จุฬาฯ ให้ข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า ภายใน 60 ปี คือปี 2083 ซึ่งหลานผมจะมีอายุประมาณ 66 ปี คนไทยจะเหลือเพียง 33 ล้านคน เท่ากับสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น และในจำนวนนั้นจะมีคนที่อยู่ในวัยทำงานเพียง 14 ล้านคน จากที่ไทยมีประมาณ 46 ล้านคนในวันนี้ หรือเหลือแค่ 30%

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคนในวันนี้ เป็น 18 ล้านคน หรือเกินกว่า 50% ของคนไทยทั้งหมด ซึ่งถ้ามองว่าคนที่อายุเกิน 65 ปีนั้นจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ 100% ต้องมีคนช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพ นั่นก็แปลว่าคนไทยที่ทำงาน 1 คนจะต้องดูแลเลี้ยงดูคนสูงอายุ 1.3 คน “ผ่านระบบภาษี” นั่นก็คือ รัฐบาลเก็บภาษีคนทำงาน อาจจะในอัตราอย่างน้อย 50% เพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการเลี้ยงดูคนสูงอายุที่ทำงานไม่ไหวแล้ว

และนั่นก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า รัฐไทยไม่ได้ทำอะไรที่จะแก้ไขก่อนจะถึงวันนั้น เช่น ให้มีการลงทุนในประเทศอื่นจำนวนมากอย่างที่ทำในประเทศสแกนดิเนเวียหลายประเทศ ที่นำเงินทั้งของรัฐและประชาชนไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะเพียงพอที่จะนำผลตอบแทนกลับมาให้ประชาชนของตนเองมีกินมีใช้เพียงพอโดยไม่ต้องทำงานเมื่อเกษียณแล้ว เป็นต้น

รัฐบาลต้องมองการณ์ไกล

ผมคงไม่พูดมากนักกับเรื่องว่าจะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ในอีก 60 ปี นั่นควรเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องมองการณ์ไกล และอาจจะต้องเริ่มแก้ไขก่อน เพราะวิธีแก้ไขนั้นต้องใช้ระยะเวลายาวพอ ๆ กับปัญหา แต่ผมอยากจะมองหรือจินตนาการว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะยาว แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องตระหนัก เพราะระยะยาวก็คือระยะสั้นหลาย ๆ ช่วงที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มองระยะยาว เราจะไม่เข้าใจว่าทำไมระยะสั้นแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละปีจึงเกิดสิ่งที่เราเห็น

เศรษฐกิจจะถดถอย

ประเด็นแรกก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะถดถอย หรือลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างยาวนาน สุดท้ายเมื่อครบ 60 ปี ขนาดของเศรษฐกิจอาจจะลดลงจากปัจจุบันเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าคนทำงานของเราอาจจะเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือต่ำกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ปีต่อปีนั้น บางปีเศรษฐกิจก็อาจจะดีกว่าปกติได้ แต่ก็จะไม่ยั่งยืน ปีต่อไปก็อาจจะลดลงต่อ ดังนั้น การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีก็ทำได้ยาก

ธุรกิจที่ค่อนข้างที่จะอิงกับจำนวนคน โดยเฉพาะที่เป็นหนุ่มสาวหรือคนทำงานจะค่อย ๆ ถดถอยลงในระยะยาว โอกาสที่จะเติบโตน้อยมาก ตัวสำคัญก็คือที่อยู่อาศัย รวมถึงอาคารสำนักงาน และห้างร้านค้าปลีกเกือบทุกประเภท

บ้านร้างเหมือนญี่ปุ่น

บ้านจัดสรรและคอนโดฯนั้นจะมียอดขายโดยรวมต่อปีลดลงไปเรื่อย ๆ และถึงจุดหนึ่งก็จะมีบ้านร้างแบบเดียวกับญี่ปุ่นที่ไม่มีคนอยู่ และเจ้าของต้องยกให้คนอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงานก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจลดขนาดลงเพราะเศรษฐกิจไม่โตหรือลดลง ความต้องการพื้นที่สำนักงานก็จะลดลง และนี่ก็เช่นเดียวกัน บางปีก็อาจจะดีบ้าง แต่ในระยะยาวก็จะกลับมาลดลงต่อ

ช็อปปิ้งมอลล์ที่กำลังมีการเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าห่วงมาก ว่าเปิดแล้วจะมีคนเข้าไปใช้บริการเพียงพอหรือไม่ เพราะคนจะเริ่มน้อยลง แน่นอนว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวก็ไม่พอที่จะเติมเต็มห้างที่อาจจะมากเกินไปแล้วตั้งแต่วันนี้

รถไฟฟ้าสาธารณะที่เพิ่งเปิดหลายสาย รวมถึงที่กำลังสร้าง และที่อยู่ในแผน ถนนหนทางต่าง ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งในเมืองและต่างจังหวัด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐเคยคำนึงถึงแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ของไทยที่กำลังลดลงหรือไม่ แผนและงบประมาณอาจจะล้าสมัยหมดแล้ว สร้างเสร็จแล้วผมก็ห่วงว่าอนาคตอาจจะไม่ค่อยมีคนใช้ และกลายเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองก็ได้

ระบบโรงเรียนที่ทำไว้เพื่อรองรับจำนวนเด็กเป็นล้านคนต่อปี ถึงวันนี้ผมไม่รู้ว่ามีคนคิดหรือไม่ ว่าจะต้องเริ่มทำอะไรที่จะรับกับจำนวนนักเรียนที่เหลือเพียงครึ่งเดียว งบประมาณที่มีจำนวนสูงแทบจะที่สุดนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ ที่จะทำให้คนไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยลง และคนไทยมีรายได้สูงกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

คนสูงวัยใช้ชีวิตตามอัตภาพ

สุดท้ายก็คือ คนสูงอายุที่ทำงานไม่ได้และจำนวนมากไม่ได้มีเงินออมและเงินลงทุนเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเพียงพอตามอัตภาพจะทำอย่างไร และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นที่สุด อาจจะแค่ภายใน 10 ปีนี้เท่านั้น

ยังมีประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นตามการแก่ตัวของคนที่ยังไม่มีใครคิด ไม่ต้องพูดถึงการแก้ไข ถ้าจะมีผมคิดว่าก็อาจจะเป็นนักลงทุนแบบ VI รวมถึงตัวผมเองที่เริ่มไปลงทุนในตลาดของประเทศที่ยังไม่แก่ตัวแล้ว เหตุเพราะเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่จะต้องตัดสินใจวันนี้