เสถียร-สินีนุช เปิดสูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย เจ้าของรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2

“เสถียร” คาราบาวกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจรุ่น 1 เตือนธุรกิจครอบครัวใส่ใจ “เทคโนโลยี-กติกาโลก” เมื่อธุรกิจใหญ่พอควรเข้าตลาดหุ้น หวังลดข้อขัดแย้ง ชี้ทำธุรกิจอย่ายึดมั่นถือมั่น ฟาก “สินีนุช” แนะจัดทำโครงสร้างให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น-รีวิวธรรมนูญครอบครัวต่อเนื่อง ทำธุรกิจรุ่น 2 แก้ปัญหาเป็น มุ่งสร้าง Legacy

วันที่ 25 มกราคม 2567 เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ในโลกความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจะตีพิมพ์ทั้งหมด 5,000 เล่ม เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) และกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่ใช้เวลาในการเขียนจากประสบการณ์ร่วม 20 ปี ในการเป็นที่ปรึกษาจัดโครงสร้างให้กับธุรกิจครอบครัวไทยมาอย่างมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG)

โดยภายในงานเปิดตัวหนังสือ “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ในฐานะเจ้าของธุรกิจรุ่นที่ 1 พร้อมด้วย “สินีนุช โกกนุทาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ในฐานะเจ้าของธุรกิจรุ่นที่ 2 ที่ประกอบธุรกิจยางธรรมชาติ น้ำมันปาล์มดิบ และพลังงานทดแทน ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ในมุมมองจากเจ้าของธุรกิจ”

“เสถียร” เตือนใส่ใจ “เทคโนโลยี-กติกาโลก”

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) เปิดเผยว่า ในฐานะรุ่นที่ 1 ของการทำธุรกิจ เห็นผลกระทบต่อการทำธุรกิจมาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งต้องใส่ใจมาก เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจะส่งผลไปถึงพฤติกรรมของคนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ตอนนี้ยิ่งเห็นการเข้ามาของเอไอ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันกฎระเบียบหรือกฎกติกาของโลกที่เพิ่มขึ้น เช่น กฎเกณฑ์ ESG เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ เพราะถ้าไม่ปรับตัวจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ยาก

คาราบาวกรุ๊ปให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องเทคโนโลยีและเอไอ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จะสามารถพัฒนาธุรกิจเข้าไปแข่งขันกับบริษัทอื่นได้อย่างรวดเร็ว และการที่มาทีหลัง ก็ไม่มีภาระเทคโนโลยีเก่า ๆ ทำให้การปรับเปลี่ยนง่ายกว่าเดิมมาก

ยกตัวอย่าง ช่วงเปลี่ยนทำธุรกิจคาราบาวแดง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และหลังจากที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนนั้นโรงงานเก่า (ตอนทำยังจนอยู่) เทคโนโลยีก็จะเก่า ๆ สภาวะแวดล้อมก็ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน

แต่วันหนึ่งตัดสินใจตั้งโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ จากเดิมมีไลน์การผลิตคาราวบาวแบบขวดหรือกระป๋องได้ประมาณ 250 ขวด/กระป๋อง/นาที แต่พอใช้เทคโนโลยีใหม่ มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ขวด/กระป๋อง/นาที

หรือตอนทำโรงงานผลิตกระป๋องร่วมกับญี่ปุ่น ก็สามารถผลิตกระป๋องได้ถึง 2,700 กระป๋อง/นาที ซึ่งเร็วมาก เทียบให้เห็นภาพ ยิงปืน M16 แค่ 500 นัด/นาที ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ แต่อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าเทคโนโลยีเป็นคำตอบทั้งหมด เพียงแต่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

สนับสนุนเข้าตลาดหุ้น

และถ้าธุรกิจมีขนาดใหญ่พอแนะนำว่าควรเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะกฎกติกา หรือข้อบังคับต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ทุกอย่างโปร่งใส แม้กระทั่งผู้สอบบัญชีที่ต้องได้มาตรฐาน และต้องมีกรรมการอิสระ ซึ่งช่วยลดข้อครหาหรือความขัดแย้งต่าง ๆ ได้

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มธุรกิจกับพี่แอ๊ด-คาราบาว และคุณณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ซึ่งพี่แอ๊ดไม่ได้บริหาร มาลงทุนและช่วยงานด้านการตลาด ตอนนั้นบริษัทเล็ก ยังไม่รู้จะอยู่รอดหรือไม่ มีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 200 ล้านบาท และผมก็บอกไปว่าเราควรจะจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี BIG4 ซึ่งตอนนั้นหลายคนคัดค้าน แต่มองว่าอย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าซื้อประกันการทะเลาะกัน โดยที่ยังไม่มีกรรมการ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งว่าถ้าเรามีกฎกติกา แม้กระทั่งเป็นหุ้นส่วน หรืออยู่ในหมู่พี่น้อง ก็จะลดความขัดแย้งได้”

ทำธุรกิจอย่ายึดมั่นถือมั่น

นายเสถียรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เวลาเกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในหมู่พี่น้อง หุ้นส่วน หรือระหว่างรุ่นที่ 1 กับรุ่นที่ 2 ง่ายนิดเดียว อย่าเชื่อว่าตัวเองถูกทั้งหมด ความขัดแย้งจะบานปลายเพราะว่า “ยึดมั่นถือมั่น” ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั่นถูก แล้วยิ่งไม่ได้ จะยิ่งขัดใจ เหมือนเวลาออกจากบ้าน ตัดสินใจไปใช้เส้นทางใหม่โดยไม่ใช้ google map ส่วนใหญ่พบว่ามักตัดสินใจผิดมากกว่าถูก เพราะไปเจอเส้นที่รถติดเป็นประจำ

”สิ่งที่อยากให้คำนึงไว้เสมอ มีด้วยกัน 3 ข้อคือ 1.คนในครอบครัวต้องรักกัน ถ้าเราเริ่มทุกอย่างจากความรักจะแก้ปัญหาได้หมด แต่หากสร้างสิ่งนี้ไม่ได้ ธุรกิจที่ใหญ่โตมโหฬารก็ไม่มีความหมายอะไร 2.ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขมาก ๆ และ 3.ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น” นายเสถียรกล่าว

เน้นสร้างมืออาชีพด้วยตัวเอง

ส่วนในเรื่องมุมมองการจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารแล้วบริษัทจะเดินต่อไปได้นั้น โดยส่วนตัวแล้วมองว่าอาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะตอนเริ่มทำธุรกิจค้าปลีกซีเจใหม่ ๆ ซึ่งยังขาดทุนอยู่ เคยจ้างผู้บริหารคนหนึ่ง ให้เงินเดือน 2.5 ล้านบาท/เดือน เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี ต้องทำให้ธุรกิจมีกำไร 1,000 ล้านบาท และจะให้โบนัส 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เอาจริง ๆ ทำงานอยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ซีเจมีกำไรแล้ว 2,600 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการมุ่งสร้างมืออาชีพขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยการฟูมฟักคนที่ทำงานอยู่กับบริษัท พยายามให้โอกาสพนักงานทุกคนได้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

จัดทำโครงสร้างให้ชัดเจน

นางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) กล่าวว่า ในฐานะรุ่นที่ 2 ของการทำธุรกิจ แนะนำว่าควรวางแผนจัดทำโครงสร้างให้ชัดเจน ตั้งแต่โครงสร้างครอบครัว/โครงสร้างโฮลดิ้งส์ และควรทำตั้งแต่ตอนที่ไม่มีปัญหาจะดีที่สุด ซึ่งตอนที่ครอบครัวจัดทำโครงสร้าง แบ่งปันทรัพย์สิน-ที่ดิน เป็นช่วงที่ทุกคนช่วยกันก่อร่างสร้างตัว เพราะฉะนั้นไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ว่าใครได้มากได้น้อย เพราะทุกคนอยู่ในช่วงร่วมกันปลุกปั้นธุรกิจ จึงมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเริ่มทำโครงสร้างให้ชัดเจน

“อย่างไรก็ตามแม้เราทำธรรมนูญครอบครัวแล้ว แต่ต้องรีวิวอยู่เรื่อย ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัย”

และพอธุรกิจใหญ่โตขึ้น แนะนำว่าให้นำบริษัทเข้าตลาดหุ้น เพราะจะมีแหล่งเงินช่วยในการขยายกิจการให้เติบโตต่อไปได้ จากที่พึ่งพาแหล่งเงินจากธนาคารเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจมีข้อจำกัดอยู่

และจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับเงินปันผล ซึ่งก่อนหน้านี้ที่บริษัทยังไม่เข้าตลาดหุ้น ไม่เคยมีการจ่ายปันผลเลย แต่หลังจากเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผล 40% ของกำไรสุทธิ

รู้จักแก้ปัญหา

นางสาวสินีนุชกล่าวต่อว่า ในส่วนของการบริหารธุรกิจนั้น จริง ๆ จะเน้นค่อย ๆ ทำ และค่อย ๆ แก้ปัญหาอุปสรรค รวมถึงวางโมเดลให้ธุรกิจมีความยั่งยืน เห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก เติบโตมาจากการเป็นเกษตรกร ทำไร่ปลูกอ้อย ปลูกยางพารา ปลูกปาล์ม และมาทำโรงงาน มีการเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรที่ดิน มีการสร้างความน่าเชื่อถือที่ดีให้กับสถาบันการเงิน ทำให้เมื่อเข้ามารับช่วงต่อได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทั้งธนาคารและคู่ค้าเกษตรกร

ทั้งนี้เมื่อเข้ามาทำงานจริง ปัญหาแรกเวลาทำสินค้าเกษตรคือ แหล่งทรัพยากรที่จำกัด โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ เพราะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตอย่างมาก ดังนั้นการจัดการน้ำเป็นเรื่องแรกที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ซึ่งช่วงที่ผ่านมาที่มีการขยายโรงงาน ปัจจุบันมีอยู่กว่า 10 แห่งแล้ว การแก้ปัญหาการจัดการน้ำมองแบบระยะยาว โดยกำหนดแผนลงทุนที่ชัดเจนทุก ๆ 2-3 ปี ต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่มารองรับ แต่จะค่อย ๆ ลงทุน เนื่องจากโตมาจากธุรกิจขนาดเล็ก

แต่อย่างไรก็ตามพอพัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำเพิ่ม แต่ก็ไม่พอ จึงต้องเริ่มคิดต่อไปว่า ถ้าไม่พอทำอย่างไรให้เกิดการรีไซเคิลหรือรียูสได้

นั่นจึงเกิดเป็นโมเดลของการแชริ่งทรัพยากรร่วมกัน ในธุรกิจซัพพลายเชนทั้งธุรกิจยางและปาล์ม เพราะบางกระบวนการไม่จำเป็นต้องใช้น้ำใหม่ สามารถใช้น้ำรียูสจากโรงงานหนึ่งมารียูสอีกโรงงานหนึ่งได้ เป็นลักษณะของการต่อโมเดลว่าแต่ละปัญหา แต่ละช่วงเวลาที่เจอ ทำอย่างไรให้พอกับการเติบโต พอกับการใช้ และใช้อย่างเพียงพอ

“สิ่งเหล่านี้ทำมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ยังไม่รู้จักคำว่า ESG เลยด้วยซ้ำ และเมื่อเราจัดการทรัพยากรน้ำเสร็จ ต่อมาเราก็มามุ่งทำเรื่องพลังงาน และทำเรื่อง Zero Waste เพราะปี ๆ หนึ่งจะมีน้ำเสียออกมาเป็นล้านตัน สิ่งที่รุ่น 2 ทำ ถามว่าทำเพื่ออะไร ก็เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของทรัพยากรที่เพียงพอในการส่งต่อธุรกิจให้รุ่นถัดไป ซึ่งอาจไม่ได้โผล่มาเป็นตัวเงิน แต่เหมือนเรากำลังสร้าง Legacy ซึ่งภูมิใจที่ได้ทำอะไรเอาไว้ให้คนรุ่นที่ 3”