ก.ล.ต. รื้อใหญ่เกณฑ์กำกับ SET ตั้งแต่ IPO ยันเพิกถอน-ชู บจ. โปร่งใส

ก.ล.ต.

เลขาฯ ก.ล.ต. ยกเครื่องกำกับ SET ขนานใหญ่ หวังปราบทุจริต-คุมเข้มบริษัทจดทะเบียน ล่าสุด บอร์ดอนุมัติแผนตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ลุยกำกับ บจ. ตั้งแต่เข้าไอพีโอถึงกระบวนการเพิกถอน เพิ่มเกณฑ์ “กำไร-ส่วนผู้ถือหุ้น” ธุรกิจเข้าจดทะเบียน SET-mai เริ่มใช้ 1 ม.ค. ปีหน้า แย้มต้นเดือน มี.ค.นี้ ออกเกณฑ์กำกับโปรแกรมเทรดดิ้ง

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงาน Media Briefing “เกาะติดภารกิจ ก.ล.ต. ป้อง ปราม ปราบ ยกระดับ บจ.เข้มแข็ง” ว่า ตามที่ได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ (Trust & Confidence) ให้กลับมาสู่ตลาดทุนไทยโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา บอร์ด ก.ล.ต.ก็ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ทั้งองคาพยพตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอแล้ว

ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกัน โดยจะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET และ mai ซึ่งจะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่าง ๆ

สำหรับเกณฑ์ใหม่เข้า SET กำหนดจะต้องมีกำไรมากกว่า 75 ล้านบาท (เดิม 30 ล้านบาท) mai มากกว่า 25 ล้านบาท (เดิม 10 ล้านบาท) และกำไร 2-3 ปีล่าสุดเข้า SET ต้องมีมากกว่า 125 ล้านบาท (เดิม 50 ล้านบาท) mai มากกว่า 40 ล้านบาท (เดิมไม่กำหนด)

ขณะเดียวกันสำหรับ SET ต้องมีส่วนผู้ถือหุ้นหลัง IPO มากกว่า 800 ล้านบาท (เดิม 300 ล้านบาท) และมากกว่า 100 ล้านบาท (เดิม 50 ล้านบาท) สำหรับ mai ขณะที่ทุนชำระแล้วหลัง IPO ในการเข้า SET ปรับลดเหลือ 100 ล้านบาท (เดิม 300 ล้านบาท) ส่วน mai กำหนดไว้ที่มากกว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2568

“เกณฑ์ใหม่ไอพีโอ ผ่านการเฮียริ่งหมดแล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนรับทราบกันแล้ว อย่างไรก็ตาม คงจะมีผลกระทบบ้างกับบริษัทที่ยังไม่สามารถทำตามเกณฑ์นี้ได้ แต่เชื่อว่าถ้าแลกกับบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ ก็น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจในตลาดทุนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือว่าคุ้ม”

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวต่อว่า ต่อมาการกำกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) ให้มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้น IPO รวมถึงการยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567

รวมทั้งจะให้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ กองทุนต่าง ๆ จาก 10 รายแรก เพิ่มเติมรายที่ถือตั้งแต่ 0.5% ของทุนที่ชำระแล้ว/จดทะเบียน ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้วย ซึ่งเรื่องนี้ดำเนินการได้เร็ว โดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มี.ค. 2567

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า ถัดมาจะมีการเพิ่มการขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้นสำหรับ 1. สัดส่วนนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CF เวลา 1 ปี และหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ จะขึ้นเครื่องหมาย SP อีก 1 ปี ก่อนจะนำไปสู่เหตุเพิกถอน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 20 บริษัท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567

2. บจ. ที่มีผลประกอบขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกัน จนส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าทุนชำระแล้วโดยดูจากงบการเงินปีล่าสุด 3.การผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน/หุ้นกู้ อ้างอิงข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) 4.บจ.ใน SET และ mai ที่มีรายได้จากการดำเนินงานประจำปีน้อยกว่า 100 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท 3 ปีติดต่อกัน ก็จะเป็นเหตุของการขึ้นเครื่องหมาย และนำไปสู่เหตุเพิกถอน

นอกจากนี้จะมีการเพิ่มความชัดเจนและเกณฑ์ที่เข้มขึ้นในการเพิกถอนบริษัทที่มีปัญหา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567 รวมถึงยังมีการทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น และศึกษาแนวทางการออกเกณฑ์ Auto Halt หรือหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวสำหรับหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยคาดว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์และนำมาปฏิบัติได้ภายในปี 2567

“เชื่อว่าพอเกณฑ์เริ่มใช้ จำนวนบริษัทก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าไม่น่าจะอยากมีใครโดนขึ้นเครื่องหมาย ก.ล.ต. เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะทำให้บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็งขึ้น และลดเคสที่มีปัญหาลงได้” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวอีกว่า ส่วนการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนทุกประเภท จากที่ตอนนี้มีสัดส่วนการซื้อขายจากโปรแกรมเทรดดิ้ง หรือ HFT สูงกว่า 30-40% ประมาณช่วงเดือน มี.ค. 2567 จะมีมาตรการใหม่ออกมากำกับเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนในระยะยาว

“คงไม่สามารถแก้ปัญหาโดยกินยาเม็ดเดียวและแก้ได้ทุกโรค เรากำลังหายาที่เหมาะสมกับบริบทของตลาดทุนไทยที่จะยั่งยืนได้”

ส่วนในกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ยังคงดำเนินการขยายฐานความผิดต่อเนื่อง หลังจากเมื่อปลายปี 2566 ได้กล่าวโทษเพิ่มจากฐานความผิดการใช้ข้อมูลภายใน นอกจากนี้ได้มีการติดตามประสานหน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการ

“เราไม่อยากเห็นบริษัทจดทะเบียนหรือผู้ระดมทุนในตลาดทุนไทยมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเชิงผลการดำเนินงาน หรือการทุจริต หรือการกระทำที่ไม่ชอบ จึงต้องอาศัยการยกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณภาพบริษัทไปจนถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน-แจ้งเบาะแส ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา มีกว่า 2,200 เคส แบ่งเป็นการสอบถามข้อมูล 1,200 เคส และสายด่วนหลอกลงทุนอีก 751 เคส ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่ถูกหลอกลงทุน ซึ่งพยายามเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม