สศช. แถลงแล้ว จีดีพี Q4 ปี’66 โตแค่ 1.7% หดตัว QOQ ทั้งปีโต 1.9%

สศช.ประกาศจีดีพีไทย

สศช.แถลงแล้วจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 โตแค่ 1.7% ต่อปี หดตัว 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งปีขยายตัวได้ 1.9%

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวได้ที่ 1.7% ต่อปี หดตัวเล็กน้อย 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ขณะที่ทั้งปีขยายตัวได้ 1.9%

ซึ่งก่อนหน้านี้ จีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 1.8% ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จีดีพีเติบโตที่ 1.9% โดยรอบที่แล้ว สศช.ประมาณการจีดีพีปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% จากก่อนหน้านั้นคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังได้ประมาณการว่า จีดีพีปี 2566 จะออกมาโตแค่ 1.8% ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมมาก

โดยนายดนุชากล่าวว่า การใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส

โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.8 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการทางการเงินร้อยละ 35.4 และร้อยละ 7.9 ตามลำดับ

ขณะที่ทั้งปี 2566 โต 1.9% ชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา 2565 อยู่ที่ 2.5% ตามการลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออกสินค้า รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการส่งออกบริการยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2-3.2 (ค่ากลางการประมาณการที่ร้อยละ 2.7) จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% ซึ่งตัวเลขนี้ ยังไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเลต โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นถึง 35 ล้านคน จะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.22 ล้านล้านบาท แต่ยังมีความเสี่ยง จากงบประมาณปี’67 ที่ยังล่าช้า รวมทั้งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีอยู่สูง รวมถึงการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า คาดจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ เลขาฯสภาพัฒน์ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการออกแบบมาตรการ จะทำให้เกิดการกระตุ้นการผลิตสินค้า และการลงทุนมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งต้องขอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง, ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย, ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตทางการเกษตร, ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

“ส่วนการลดดอกเบี้ยคงต้องดูให้เกิดประโยชน์ของทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และภาคครัวเรือน ทั้งหมดคงต้องอยู่กับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มองว่าควรมีการพิจารณาแบบจริงจัง“