เศรษฐกิจไทยสาละวันเตี้ยลง จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยอุ้มครัวเรือน-SMEs

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

เศรษฐกิจไทยเติบโตแผ่วลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทย ปี 2566 เติบโตเพียงแค่ 1.9% ต่อปี ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดจะเติบโต 2.5% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ของปี 2567 ลงด้วย จากเดิมคาดว่าจะโตเฉลี่ย 3.2% เหลือโตเฉลี่ยแค่ 2.7%

ไตรมาส 4/66 โตต่ำกว่าคาด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวได้ที่ 1.7% ต่อปี (YOY) ลดลงจากไตรมาส 3/2566 ที่ 0.6% (QOQ) ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปจึงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง และการลงทุนรวมลดลง

“ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ส่วนการอุปโภคภาครัฐบาลลดลง 3% การลงทุนรวมลดลง 0.4% ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.4% ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 3.4%”

จีดีพีปี’66 โตแผ่วจากปีก่อน

ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 และต่ำกว่าที่ สศช.ประมาณการครั้งก่อน ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% เป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐหดตัวติดลบ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

สำหรับความจำเป็นว่าจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบมาตรการจะทำให้เกิดการกระตุ้นการผลิตสินค้าและการลงทุนมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งต้องขอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

“เศรษฐกิจที่โตในอัตราต่ำลงนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไม่ดีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงขยายตัวได้ ซึ่งการโตต่ำในปี 2566 หากดูทั้งปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบภาวะความผันผวนจากภายนอกค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง มาขยายตัวได้ในไตรมาส 4”

หั่นเป้าปี’67 โตเฉลี่ย 2.7%

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สำหรับปี 2567 สศช.คาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%) จากเดิมคาดว่าจะโต 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) ซึ่งการคาดการณ์นี้ยังไม่ได้นำโครงการดิจิทัลวอลเลตเข้ามาคำนวณ

เนื่องจากนโยบายหลักต้องหารืออีกหลายฝ่าย หลังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อพิจารณาความเห็น ทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอื่น ๆ

โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมถึงการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดจะขยายตัวดี การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นที่ 35 ล้านคน และจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.22 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของจีดีพี

“สาเหตุที่ทำให้ต้องปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีเรื่องฉับพลันเกิดขึ้น ดังนั้น การส่งออกแม้จะขยายตัวดี แต่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ และมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายในอาจส่งผลต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก”

ปี’67 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ

นายดนุชากล่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้ยังมีความเสี่ยง โดยต้องติดตามการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ที่เป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป

รวมถึงภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตทางการเกษตร และความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

ส่วนโอกาสจะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ในไตรมาส 1/2567 หรือไม่นั้น เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ต้องรอดูตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.ก่อน รวมถึงหากการบริโภคดีอยู่ การท่องเที่ยวยังไปได้ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง โอกาสที่จะเกิด Technical Recession ก็จะลดลง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปีนี้ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ พร้อมกับทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสม ปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า และปัญหาหลบเลี่ยงภาษีให้รัดกุมมากขึ้น หลังตั้งข้อสังเกตจากปริมาณการผลิตลดลง สวนทางกับการเติบโตภาคการบริโภค

“ควรต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการทุ่มตลาด จากปัจจุบันที่มีกระแสข่าว หากสินค้าจากต่างประเทศเข้ามากระทบกับสินค้าที่เป็นการผลิตภายในประเทศ จะทำให้การผลิตภายในประเทศลดลง จะต้องมีมาตรการเข้าไปกำกับดูแลอย่างจริงจัง ต้องมีการเฝ้าระวัง รักษาฐานผลิตในประเทศ แต่มาตรการที่ออกมาต้องไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะไปผิดต่อข้อตกลงทางการค้าด้วย”

ขณะเดียวกัน ต้องยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงขับเคลื่อนการส่งออกให้มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนของความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ ต้องเร่งรัดการลงทุน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การดำเนินมาตรการส่งเสริมภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกร เพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น ตลอดจนต้องการรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี และงบฯการลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้

จี้ลดดอกเบี้ยอุ้มครัวเรือน-SMEs

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า แม้ว่าที่ผ่านมาการบริโภคยังคงขยายตัวได้ดี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา โดยอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งในระยะถัดไปมาตรการด้านการเงินควรมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระของเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนโดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ควรผ่อนคลายมาตรการด้านสินเชื่อ ช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมาก โดย ธปท.ควรปรับลดอัตราการผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำลงมาเป็น 5% จากที่ขึ้นมาเป็น 8% ในช่วงต้นปี 2567

“ตอนนี้ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางด้านการคลังไปหมดแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาในช่วงถัดไป คือมาตรการด้านการเงินต้องมีส่วนเข้ามาช่วยในการลดภาระหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยในกลุ่มครัวเรือนและ SMEs แคบลง”

นายดนุชากล่าวด้วยว่า การลดดอกเบี้ยต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว ซึ่งต้องมีหลายมาตรการที่จะเข้าไปเพื่อกำกับไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้วย

“เรื่องดอกเบี้ยขอให้ ธปท.เป็นผู้พิจารณา ว่าเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับลดจะเป็นเมื่อไร เพราะต้องพิจารณาในมุมอื่นด้วย เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าทำได้เร็วก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจได้เร็ว โดยการลดดอกเบี้ยต้องทำควบคู่ไปกับการกำกับด้านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว”