กูรูตลาดทุน ตั้งคำถาม “หุ้นไทยไม่น่าลงทุนแล้ว” จริงหรือ ?

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

”ไพบูลย์“ กูรูตลาดทุน ตั้งคำถาม “ตลาดหุ้นไทยไม่น่าลงทุนแล้วจริงหรือ” หลังนักลงทุนถอดใจ-กองทุนต่างชาติที่ลงทุนหุ้นไทยปิดตัว เหตุเงินไหลออก ชี้ถึงเวลาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างบริษัทจดทะเบียน เพิ่มหุ้นกลุ่มศักยภาพสูง-ธุรกิจ New S-curve หวัง SET กลับมาให้ผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับตลาดคู่แข่งในระยะยาว

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ตลาดหุ้นไทยไม่น่าลงทุนแล้ว…จริงหรือ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมากเริ่มถอดใจ หลายคนเป็นบุคคลมีชื่อเสียงที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนไทยมายาวนาน และยังมีอีกหลายกองทุนต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในหุ้นไทยโดยเฉพาะ ประกาศปิดตัวลงเพราะมีแต่เงินไหลออกไม่มีเงินใหม่ไหลเข้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่

ในความคิดผม ตลาดหุ้นที่น่าลงทุนควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องเป็นบวกทุกปี เพราะบางปีอาจโชคร้ายเจอมรสุมเศรษฐกิจ หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น โควิด แต่อย่างน้อย ผลตอบแทนในระยะยาว 10 ปี ควรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-10% ต่อปี

ถ้าใช้นิยามนี้ และวัดจากผลงานที่เกิดขึ้นจริง ตลาดหุ้นไทยคือ ตลาดหุ้นที่ไม่น่าลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงปี 2557-2566 ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นแค่ 9% หรือเฉลี่ยไม่ถึง 1% ต่อปี ในขณะที่ตลาดหุ้นคู่แข่งในอาเซียนอย่าง เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ให้ผลตอบแทนสูงถึง 124% และ 70% ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ซึ่งปกติมักให้ผลตอบแทนที่ไม่สูง ด้วยข้อจำกัดด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ กลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 91% หรือ 9% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ทะยานขึ้นถึง 158% และตลาดหุ้น NASDAQ ที่ปรับขึ้นถึง 259%

10 ปีที่ผ่านมา จึงเป็น 10 ปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนไทย และไม่น่าแปลกใจที่ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

มองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง และไม่มีการปรับโครงสร้างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของหุ้นในกลุ่มที่มีศักยภาพสูง เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจ ใน “New S-curve” โอกาสที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยกลับมาให้ผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับตลาดคู่แข่งในระยะยาว น่าจะมีไม่มาก

ผมขอเริ่มที่ประเด็นหลังก่อน จากการคำนวณของผม สัดส่วนหุ้น “Old Economy” หรือ หุ้นเศรษฐกิจยุคเก่า ในตลาดหุ้นไทยมีราว 70% ตัวเลขนี้ไม่นับหุ้นในกลุ่มการแพทย์ การท่องเที่ยว และการขนส่ง (หุ้นสนามบินถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้) เพราะถึงแม้จะไม่ใช่ หุ้น “New Economy” โดยตรง แต่เป็นหุ้นศักยภาพสูง เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดขายของประเทศ

หลายคนอาจไม่ทราบว่า เหตุผลสำคัญที่ SET Index ไม่ขยับไปไหน เป็นเพราะหุ้นจำนวนมากในกลุ่ม “Old Economy” มีราคาที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 1% บางบริษัทก็มีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น เช่น หุ้นพลังงาน เพิ่มขึ้น 8% และบางกลุ่มราคาลดลงด้วยซ้ำ เช่น หุ้นธนาคาร ลดลง 16%

จริง ๆ แล้ว ตลาดหุ้นไทยก็มีหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น หุ้นกลุ่มการแพทย์ ที่ราคาเพิ่มขึ้น 144% หรือเฉลี่ย 14% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้นบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวม DELTA ที่ราคาผันผวนเกินไป) ราคาเพิ่มขึ้น 143% หุ้นกลุ่มขนส่ง ราคาเพิ่มขึ้น 85% เป็นต้น แต่ด้วยสัดส่วนของหุ้นเหล่านี้ไม่สูงมาก จึงช่วย SET Index ได้เพียงเล็กน้อย

ถ้าสัดส่วนหุ้น “Old Economy” และ “New Economy” กลับกัน ตลาดหุ้นไทยคงมีผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้อีกหลายตลาดหุ้น

การเพิ่มจำนวนหุ้นศักยภาพสูง และหุ้นเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในระยะนี้ และในระยะถัดไป จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพลิกฟื้นความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย

ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ คือ อีกปัจจัยลบที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยย่ำอยู่กับที่ เราพูดกันมานานว่าต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงาน เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังช้ามาก

ที่แน่ ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปีล่าสุด เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.9% ต่อปี ซึ่งนอกจากโตต่ำที่สุดในอาเซียน ยังไม่มีปีไหนที่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าประเทศคู่แข่งหลัก อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ผมยอมรับว่ายังมองทิศทางตลาดหุ้นไทยในภาพรวมในระยะยาวได้ไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จในการแก้หลายปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้น

แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นที่น่าลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ “Well-being” ซึ่งไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูง และเป็นธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ รวมทั้งหุ้นเทคโนโลยี หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ New S-curve และหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงและสม่ำเสมอ

ส่วนในระยะสั้น ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสรีบาวนด์ในช่วงกลางปีนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยเฟดลดลง และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัว นอกจากนั้นยังมีเม็ดเงินงบประมาณที่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบ และอาจมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้งเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) มีแนวโน้มไหลกลับ

“กล่าวโดยสรุป ผมยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดหุ้นไทย แต่ยังมีการบ้านให้ทำอีกมากสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง” นายไพบูลย์กล่าว