ยกระดับมาตรการและพัฒนาเครื่องมือสำหรับผู้ลงทุน

นักลงทุน
คอลัมน์ : เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.
ผู้เขียน : อาชินี ปัทมะสุคนธ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ (Trust & Confidence) ในตลาดทุน โดยยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนทั้งองคาพยพ ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจของผู้ลงทุน (Empowering Investor) ทั้งในหุ้นและหุ้นกู้ ผ่านมาตรการที่เข้มขึ้นและเครื่องมือในรูปแบบต่าง ๆ

ก.ล.ต.สนับสนุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการออกมาตรการเพื่อยกระดับการขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายที่เข้มข้นขึ้น เช่น การเพิ่มเหตุแห่งการขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) เพื่อสะท้อนว่า บริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน เช่น กรณีขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกัน จนทำให้ส่วน Equity น้อยกว่าทุนชำระแล้ว กรณีผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ (โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ThaiBMA)

กรณีมีรายได้จากการดำเนินงานประจำปีน้อยกว่า 100 ล้านบาท สำหรับบริษัทที่อยู่ใน SET และน้อยกว่า 50 ล้านบาท สำหรับบริษัทใน mai และกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงิน โดยมาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีผลใช้บังคับวันที่ 25 มีนาคม 2567

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างยกระดับเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนให้เข้มขึ้น เช่น กำหนดให้ต้องมีกำไรและส่วนผู้ถือหุ้นในระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น รวมทั้งการนำบริษัทจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) ก็จะปรับกระบวนการพิจารณาให้เข้มข้นเทียบเท่าการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีกด้วย

ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้เพิ่มขึ้น เช่น ปรับเพิ่มตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (Key Financial Ratio) ทั้งอัตราส่วนแสดงความสามารถด้านการทำกำไรและกระแสเงินสด รวมถึงการปรับความถี่ในการนำส่ง (นำส่งมาพร้อมงบการเงินทุกครั้ง) เช่น หากเป็นบริษัทจดทะเบียนก็จะต้องมีการเปิดเผย Key Financial Ratio เป็นรายไตรมาส ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์อย่างเพียงพอ และสามารถติดตามสถานการณ์ของหุ้นกู้ที่ได้ลงทุนไปแล้วได้อย่างทันท่วงที

รวมทั้งการเสนอขาย High Yield Bond ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงเรื่องการกำหนดชื่อให้สะท้อนความเสี่ยงมากขึ้น และการปรับปรุง Factsheet โดยมีการใช้สี สัญลักษณ์ และคำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงให้ใบจองซื้อมีการระบุคำเตือนว่าเป็นการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง และควรกระจายการลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังมีเครื่องมือสำหรับตรวจเช็กหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหุ้นกู้ที่ออกเสนอขายไปแล้ว เพื่อติดตามข้อมูลสถิติต่าง ๆ และสามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมได้

IPO Fact Figure ศูนย์รวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับหุ้น IPO ซึ่ง ก.ล.ต.ได้เปิดตัวเฟสแรกไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้แก่ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ประกอบด้วย (1) ข้อมูลสถิติหุ้น IPO เช่น วันซื้อขายวันแรก ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการเปรียบเทียบราคา IPO กับราคาแต่ละช่วงเวลาหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว

(2) กราฟการเคลื่อนไหวของราคา เช่น ราคาในช่วง 1 ปี หลัง IPO เทียบกับราคา IPO และกราฟผลตอบแทนเทียบกับอุตสาหกรรม และเทียบกับดัชนี SET หรือ mai (3) ตารางสรุปฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของหุ้น IPO อย่างย่อ ทั้งก่อนและหลังเข้าจดทะเบียน ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะพัฒนาเพิ่มเติมต่อไป

SEC Bond Check แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้หรือผู้ที่สนใจลงทุน โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือหรือตัวช่วยในการค้นหารายชื่อหุ้นกู้ที่มีการออกและเสนอขาย รวมถึงสามารถเปรียบเทียบข้อมูล ทั้งอัตราดอกเบี้ย อายุตราสาร และระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่เสนอขายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถเรียกดูเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้ รวมถึงสืบค้นข้อมูลมูลค่าคงค้างหุ้นกู้สกุลต่างประเทศ และมูลค่าผิดนัดชำระหนี้ที่ผู้ออกรายงานต่อ ก.ล.ต.ได้ด้วย

การยกระดับมาตรการและพัฒนาเครื่องมือช่วยติดอาวุธความรู้ผู้ลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจได้อย่างเชื่อมั่นและคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงมีเครื่องมือที่จะดูแลปกป้องสิทธิของตัวเองได้อย่างเพียงพอ