เงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตาดัชนี PCE ในวันศุกร์นี้

เงินบาท-ธนบัตรไทย-banknote
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตาดัชนี PCE หรือดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญในวันศุกร์นี้

วันที่ 26 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/3) ที่ระดับ 36.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 36.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยทางสหรัฐมีการเปิดเผยยอดขายบ้านประจำเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 662,000 ยูนิต ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และเดือนก่อนหน้าที่ 675,000 ยูนิต และ 664,000 ยูนิต

โดยนักลงทุนจับตาดัชนี PCE (ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล : Personal Consumption Expenditure (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.4% เช่นกันในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. จากระดับ 0.3% ในเดือน ม.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% เช่นกันในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ก.พ. จากระดับ 0.4% ในเดือน ม.ค.

ในส่วนของน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (25/3) หลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลรัสเซียมีคำสั่งควบคุมการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากข่าวการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในรัสเซียและยูเครน

นอกจากนี้รัฐบาลรัสเซียได้สั่งให้บริษัทต่าง ๆ ปรับลดการผลิตน้ำมันในไตรมาส 2 ปีนี้ เพื่อให้รัสเซียสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วันภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ตามคำมั่นสัญญาที่รัสเซียให้ไว้กับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส

ตลาดยังได้แรงหนุนจากข่าวรัสเซียถล่มขีปนาวุธ ใส่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในแคว้นลวีฟทางตะวันตกของยูเครนหลังจากที่ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียหลายครั้งในเดือนนี้ ส่งผลให้การกลั่นน้ำมันในรัสเซียลดลงราว 7% ของกำลังการกลั่นในประเทศ ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าการที่รัสเซียและยูเครนต่างก็โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของกันและกันนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.พ. 67 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 23,384 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากตลาดคาดขยายตัว 3.9-4.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,938 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.2% ส่งผลให้ในเดือน ก.พ.ไทยขาดดุลการค้า 554 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออก มีมูลค่ารวม 46,034 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 49,346 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 3,311 ล้านเหรียญสหรัฐ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาจากภาคการผลิตโลกฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือเศรษฐกิจจีนเติบโตอยู่ในระดับต่ำ และยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมประเมินว่าการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้ จะขยายตัวได้ในระดับ 1-2% ส่วนทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 1-2% ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.30-16.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/3) ที่ระดับ 1.0841/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 1.0821/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้น และนักลงทุนขานรับแนวโน้มที่ธนาคารกลางรายใหญ่ต่าง ๆ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0841-1.0851 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0848/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/3) ที่ระดับ 154.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 151.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ม.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า โอกาสที่ BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

และหาก BOJ มีความมั่นใจว่าค่าจ้างและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม BOJ ก็จะพิจารณายุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose monetary policy) ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 151.22-151.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (26/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของออสเตรเลีย (27/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐ (28/3), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/3), รายงานยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงโตเกียว (29/3) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (28/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.4/-9.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ