แบงก์กำไร Q1 พุ่ง 6 หมื่นล้าน เบาตั้งสำรอง-จับตาลดดอกเบี้ยฉุด NIM

กำไรแบงก์ กำไรธนาคาร 2567

โบรกฯ วิเคราะห์กำไรหุ้นแบงก์ Q1/2567 พุ่งต่อ “บล.พาย” คาด 8 แห่งกำไรแตะ 5.5 หมื่นล้าน อานิสงส์ “ค่าใช้จ่ายลดลงตามฤดูกาล-ตั้งสำรองลดลง” ช่วยชดเชย NIM ที่อ่อนตัว ส่วนแนวโน้ม NPL ยังขาขึ้น คาดสิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.6% จาก NPL “รายย่อย-SMEs” ประเมิน กนง. 10 เม.ย.นี้ กรณีลดดอกเบี้ยกระทบ NIM นาน 2 เดือน ฉุดกำไรแบงก์ แต่ตลาดคาดยังไม่ลดรอบนี้ ฟาก “เอเซีย พลัส” ประเมิน 8 แบงก์กำไรทะลุ 6 หมื่นล้าน

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย เปิดเผยว่า ประเมินงบการเงินกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในงวดไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) ที่กำลังจะออกมาจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงไทย (KTB) 2.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 3.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 4.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

5.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 6.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) 7.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ 8.ทุนธนชาต (TCAP) จะมีกำไรสุทธิ 5.3-5.5 หมื่นล้านบาท โตขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ที่มีกำไร 4.39 หมื่นล้านบาท และโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไร 5.17 หมื่นล้านบาท

โดยในเชิง QOQ เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลงจากช่วงไตรมาส 4/2566 ที่หลายธนาคารตั้งสำรองพิเศษ จากผลกระทบกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

รวมถึง TTB ที่ตั้งสำรอง เพราะเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างไรก็ตาม อาจถูกกดดันจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ที่ลดลง ซึ่งคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ NIM จะอยู่ที่ 3.5-3.55% จากไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 3.6%

“ตั้งสำรองจะลดลง QOQ แต่ยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบ YOY เพราะยังมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และหุ้น ITD แต่เชื่อว่าแบงก์คงจะตั้งสำรองไปเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดแบงก์ก็ยืนยันเข้าไปอุ้มต่อ หนี้อาจจะยังไม่ไหลตกชั้นเป็นหนี้เสีย (NPL) ยังอยู่ใน Stage-2 แต่หากมีการปรับให้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย ประเมินผลกระทบ NPL จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ราว 4-5%”

ส่วนในเชิง YOY จะได้ประโยชน์จาก NIM ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับดอกเบี้ย ซึ่งไตรมาสแรกปีที่แล้ว NIM อยู่แค่ 3.2% แต่อย่างไรก็ตาม NIM คงเป็นจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และจะเริ่มเป็นทิศทางที่ค่อย ๆ ทยอยปรับลดลง โดยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจังหวะดอกเบี้ยที่ปรับลง

โดยหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย. กดดันงบการเงินแบงก์งวดไตรมาส 2/2567 มากกว่า 2 เดือน แต่หากไปลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมวันที่ 12 มิ.ย. 2567 จะมีผลกระทบน้อยลง

กราฟฟิก คาดกำไรแบงก์

“ส่วนใหญ่แล้วตลาดมองท่าทีของ กนง.รอบนี้ เอียงไปทางคงดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติจะต้องตอบคำถามให้ได้ เพราะตอนนี้หลายฝ่ายรุกหนักให้ลดดอกเบี้ยจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับตลาด โดยเรามีการปรับกำไรแบงก์ล่วงหน้าไปแล้ว อ้างอิง กนง.จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ รวมกัน 0.50% โดยคาดการณ์กำไรแบงก์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 217,639 ล้านบาท เติบโต 7.7% YOY”

ด้านสถานการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมยังไม่ค่อยดี ลดลง QOQ จากไตรมาส 4 ที่เป็น Peak Season จากคนจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันและกองทุนรวม เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ประกอบกับวอลุ่มเทรดตลาดหุ้นไทยยังไม่ดี ส่วนภาพ YOY จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงหนุนยอดขายประกัน ส่วนตัวแปรที่คาดเดายาก คือการบันทึกบัญชีกำไรขาดทุนจากเงินลงทุน

นายธนเดชกล่าวด้วยว่า การเติบโตของสินเชื่องวดไตรมาส 1/2567 ยังไม่ค่อยฟื้นตัว เพราะเดือน ม.ค. ติดลบ 0.5% เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นแค่ 0.1% ส่วนเดือน มี.ค. ก็อาจจะดีขึ้นตามการใช้จ่าย แต่โดยรวมคงแค่ทรงตัว แต่ช่วงครึ่งปีหลังเมื่อผ่านงบประมาณปี 2567 เงินน่าจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นสินเชื่อปรับตัวขึ้นได้ มากกว่างวดไตรมาส 2 ถึงแม้ว่าจะมีธีมเรื่องลดดอกเบี้ยให้คนสนใจเข้าไปกู้เงิน

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า คาดการณ์กำไรแบงก์งวดไตรมาส 1/2567 จำนวน 8 แห่ง (KTB, BBL, SCB, KBANK, BAY, TTB, TISCO และ KKP) จะมีกำไรสุทธิ 60,647 ล้านบาท เติบโต 20.3% โดย QOQ โตขึ้นเกือบทุกธนาคาร

โดย 3 อันดับแรกคือ KTB, KKP และ BBL ส่วน YOY เติบโต 3.2% (ดูตาราง) โดย TISCO จะประกาศงบ ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ และปิดท้ายด้วย KBANK วันที่ 22 เม.ย.

ทั้งนี้ การเติบโตหลัก ๆ เป็นเพราะ OPEX ลดลงตามฤดูกาล ชดเชย NIM ที่อ่อนตัว จากการทยอย Repricing ต้นทุนเงินฝากประจำ ตรงข้ามกับดอกเบี้ยสินเชื่อทรงตัว หลังวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น มีโอกาสกลับทิศเป็นขาลงตั้งแต่กลางปี 2567 สำหรับแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ยังคงอ่อนแอ คาด NPL สิ้นไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3.6% จาก 3.5% เมื่อสิ้นไตรมาส 4/2566 ทั้งลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี

รวมถึงความไม่แน่นอนของลูกหนี้ในกลุ่มรับเหมารายใหญ่รายหนึ่ง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สะท้อนวัฏจักรขาขึ้นของ NPL ยังดำเนินต่อไป

“การเติบโตของกำไรกลุ่มแบงก์ค่อนข้างจำกัด ตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังขาดพัฒนาการบวกที่เด่นชัด อีกทั้งยังขาดแรงขับเคลื่อนจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ แต่หุ้นในกลุ่มแบงก์มีการปรับฐานจนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) กลุ่มแบงก์ซื้อขายที่ 0.8 เท่า และแต่ละแบงก์ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงเกิน 5% ถือว่า Valuation น่าสนใจ”

นายภาสกรกล่าวด้วยว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนกลุ่มแบงก์ เน้นแบงก์ที่ให้ Dividend Yield สูงเกิน 6% ต่อปี อย่าง TTB ราคาเป้าหมาย 1.98 บาท และหุ้นที่ปรับฐานลึกอย่าง BBL ราคาเป้าหมาย 175 บาท รวมถึง KBANK ราคาเป้าหมาย 145 บาท คาดดาวน์ไซด์ไม่ลึกมาก