มูดี้ส์ คงเครดิตเรตติ้งไทย Baa1 จับตาแจกเงินดิจิทัล 10,000

Moody's Thailand Credit Rating Digital Wallet มูดี้ส์ อันดับเครดิต ประเทศไทย แจกเงินดิจิทัล

มูดี้ส์คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ Baa1 และคงความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยโตแตะร้อยละ 3 ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวของภาคส่งออก-ท่องเที่ยว พร้อมจับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดทำหนี้รัฐบาลเพิ่มสู่ระดับ 58-59% ของจีดีพี

วันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย อีกทั้งมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นประมาณร้อยละ 3 ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคน ในปี 2566 เป็น 35 ล้านคน ในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน ในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Pre-Pandemic)

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ อีกทั้งภาครัฐได้สนับสนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และเพิ่มการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี

2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ยังมีความเข้มแข็งแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ Moody’s คาดว่าในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง (Strong Debt Affordability) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peers) โดยสามารถใช้เครื่องมือการระดมทุนในประเทศที่หลากหลายด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทและมีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity) ยาว

3) ปัจจัยสำคัญที่ Moody’s จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย ได้แก่ ศักยภาพการผลิต (Productivity) การปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ตลอดจนการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation)

จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ขณะที่รายงานของมูดี้ส์ ระบุการคาดการณ์ว่า รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการขาดดุลทางการคลังต่อไป ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการขาดดุลเพิ่มขึ้นแตะ 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2568) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่จะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

ทำให้มูดี้ส์คาดว่าหนี้รัฐบาลของประเทศไทย (Government Debt) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 58-59% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่อยู่ในระดับ 33.7% และในระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 54.9% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2566

มูดี้ส์ระบุเพิ่มเติมว่า ในระยะกลาง คาดว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภายในปี 2570-2571 ผ่านการกลับมาใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในรอบการเมืองครั้งก่อน ๆ

ด้านความสามารถในการจ่ายหนี้ของประเทศไทย มูดี้ส์มองว่าจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน แม้ประเทศไทยจะมีระดับหนี้สูงกว่าในอดีต เนื่องจากภาระการจ่ายดอกเบี้ยคิดเป็น 5.6% ของรายได้รัฐบาลในประเทศไทยในปี 2566 เทียบกับค่ามัธยฐานที่ 8.0% สำหรับรัฐบาลที่ได้รับการจัดอันดับ Baa

นอกจากนี้ มูดี้ส์คาดว่าการจ่ายดอกเบี้ยของประเทศไทยจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 6% ของรายได้รัฐบาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่ความสามารถการจ่ายหนี้ของประเทศไทยเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากความสามารถของรัฐบาลในการเข้าถึงตลาดทุนในประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่นที่มีต้นทุนการเงินที่ต่ำ นอกจากนี้ หนี้ภาครัฐเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนทางการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งช่วยปกป้องงบดุลของรัฐบาลจากผลกระทบที่มาจากปัจจัยภายนอก และด้วยระยะเวลาครบกำหนดโดยเฉลี่ยที่ยาวนาน

เปิดปัจจัยสู่การปรับเพิ่ม-ปรับลดอันดับเครดิต

รายงานของมูดี้ส์ระบุว่า อันดับเครดิตของประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญต่อ ดังนี้

  • ความล่าช้าในการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะกลาง
  • ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยอาจอ่อนตัวลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economy’s Potential) ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือต้นทุนทางการเงินจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยมากกว่าที่คาดไว้
  • อัตราการเติบโตตามศักยภาพ (Growth Potential) ที่อ่อนแอลง จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วขึ้น และการลงทุนที่ชะลอตัว ทำให้จำกัดศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตในระยะสั้นถึงปานกลาง
  • ประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ยังคงจำกัดอันดับเครดิต โดยเป็นปัจจัยที่จำกัดความคืบหน้าในการปฏิรูปที่สำคัญและกระตุ้นให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งขัดขวางการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย

มูดี้ส์ระบุเพิ่มเติมว่า อันดับเครดิตของประเทศไทยนั้น มีปัจจัยที่ต้องติดตามเพื่อปรับเพิ่ม หรือปรับลดอันดับเครดิต ดังนี้

การปรับเพิ่มอันดับเครดิต

อันดับเครดิตอาจจะได้รับการปรับเพิ่ม หากการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity-Enhancing Investment) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยชดเชยการเติบโตที่อาจลดลงจากช่องว่างด้านทักษะในปัจจุบันและจำนวนประชากรสูงวัย และการลงทุนอาจเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้างที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ไปจนถึงการขยายตัวของ EEC ที่เร็วกว่าในปัจจุบัน และ/หรือการผ่อนปรนความเสี่ยงทางการเมืองอย่างถาวร

การปรับลดอันดับเครดิต

อันดับเครดิตอาจจะได้รับการปรับลด หากรัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ในระยะกลาง ซึ่งอาจมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเข้าสู่สมดุลทางการคลังระยะกลาง (Medium-Term Fiscal Consolidation) ที่อ่อนแอลง

รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่อาจกดดันให้อันดับเครดิตลดลง เช่น ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ที่ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าที่ Moody’s Ratings คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง และความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนทำให้สถาบันการเมือง/พรรคการเมืองอ่อนแอลงอย่างมาก และขัดขวางการกำหนดนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ