ปรับพอร์ตกระจายเสี่ยงกันอีกครั้ง เมื่อ “โอกาส” ลงทุนหมุนมาอีกรอบ

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

วันที่ 20 เมษายน 2567 นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด เปิดเผยผ่านบทความว่า นักลงทุนหลายท่านคงผ่านไตรมาส 1 มาด้วยรอยยิ้มนะครับ เพราะราคาสินทรัพย์ต่างๆ พากันปรับขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ตราสารหนี้ ค่าเงินดอลลาร์ ทองคำ หรือแม้แต่อาร์ตทอยสุดฮิตอย่าง ‘ลาบูบู้’ ที่กำลังเป็นไวรัลสนั่นโลกโซเซียล

การปรับขึ้นของ ‘ราคา’ อาจมาจากพื้นฐานที่แท้จริง หรือแค่อารมณ์ชั่ววูบตลาดและบรรยากาศที่พาไป นักลงทุนที่เน้นคุณค่าจึงควรแยกแยะปัจจัยเหล่านี้ให้ได้ และเมื่อหลายๆ โอกาสของการลงทุนเดินทางมาถึงพร้อมๆ กัน การจัดสรรและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรและลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนให้กับนักลงทุนสาย VI ได้นะครับ

สำรวจสินทรัพย์เด่นไตรมาส 1

 เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ นักวิเคราะห์ต่างพากัน move on จากภาพเศรษฐกิจถดถอย มาสู่การค่อยๆ ชะลอลงในลักษณะ Soft Landing แทน และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด กลายเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อตลาดการลงทุนและราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมีนาคม ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือนกันยายน จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน นอกจากนี้ เฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยลงเหลือแค่ 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ประเมินว่าจะลดถึง 3-4 ครั้ง ปัจจัยดังกล่าวดันดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ, bond yield, ค่าเงินดอลลาร์ และราคาสินทรัพย์อื่นๆ อีกด้วย

ในไตรมาส 1 ของปี 2024 ดัชนี MSCI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งอานิสงส์จากกระแส AI Boom ที่ยังคงอยู่และดันราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้ขึ้นต่อ และเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ทางด้านเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่ร่วงลงทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบ 34 ปีที่ระดับ 153 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่ bond yield 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับขึ้นแรงและเร็วมาอยู่ที่ 4.50%

ทองคำก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นราคาทองคำในตลาดโลกหรือในประเทศไทยเราเอง ณ วันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ราคาทองคำตลาด Spot เคลื่อนไหวอยู่ที่ 2,392 ดอลลาร์ ส่วนทองรูปพรรณบ้านเราราคาขายออกบาทละ 41,850 บาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าขึ้นทำนิวไฮเป็นว่าเล่นเลยทีเดียว

ทิ้งท้ายไว้ด้วยราคาน้องลาบูบู้ ที่ปกติพวงกุญแจเจ้าปีศาจน้อยฟันแหลมอยู่ที่กล่องละ 550 บาท และแบบยกชุด 6 ตัวราคาอยู่ที่ 3,300 บาท ราคาโดดขึ้นมาหลายเท่าเป็นตัวละ 2,500-2,600 บาท ส่วนแบบยกชุดอยู่ที่ประมาณ 19,000 บาท หลังจากที่พี่ Lisa Blackpink ได้โพสต์รูปคู่กับน้องลงโซเซียลมีเดีย กระแสลาบูบู้ก็มาแรงแซงโค้งจนสินค้าขาดตลาด และค่าตัวน้องก็พุ่งทะยานอย่างที่เห็นละครับ

เฟ้นสินทรัพย์ลงทุนพร้อมกระจายความเสี่ยง

เมื่อประตูการลงทุนในปี 2024 เริ่มเปิด และมีสินทรัพย์หลากหลายให้เราเลือกช้อป ก็คงมีคำถามตามมาอีกนะครับว่า จะเลือกลงทุนในอะไรดี? คำตอบง่ายๆ ก็คือ เลือกลงทุนในสิ่งที่ชอบ ที่ถนัด และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรืออาจยึดตามหลักการจัดสรรพอร์ตลงทุนควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยง ซึ่งสามารถทำตามได้ง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอนนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1 กระจายความเสี่ยงไปหลายๆ สินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ กองทุน หุ้น หรือทองคำ ตามความสนใจของนักลงทุนแต่ละคน หรืออาจลงทุนในทุกประเภทและจัดสรรสัดส่วนลงทุนมากน้อยตามความถนัด ซึ่งการจัดพอร์ตลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สินทรัพย์ใดผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคาด ติดลบ หรือแม้กระทั่งหายไปทั้งหมด ก็ยังทำให้เงินลงทุนของเราที่ยังอยู่ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ยังคงอยู่ ไม่หายไปทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 2 ในแต่ละประเภทสินทรัพย์ ก็ควรกระจายไปหลายๆ ประเทศ หลายๆ กลุ่มธุรกิจ เช่น หากเลือกลงทุนในกองทุน ก็อาจกระจายไปในหลายๆ ประเทศ ไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหากเศรษฐกิจประเทศไหนเติบโตได้ดี พอร์ตลงทุนของเราก็จะได้รับอานิงสงส์ไปด้วย ในทางกลับกันหากจีดีพีประเทศไทยชะลอตัวลง ก็มีประเทศที่โตดีช่วยพยุงพอร์ตไว้ได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายประเทศที่น่าสนใจลงทุน เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 กระจายความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุน หรือตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การจับจังหวะตลาดได้อย่างแม่นยำไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก ดังนั้น การลงทุนด้วยวิธี DCA จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งจากสถิติการลงทุนแบบ DCA ก็พิสูจน์ให้เห็นมานักต่อนักแล้วว่า ในระยะยาวจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่า เพราะตามธรรมชาติของตลาด การปรับขึ้นหรือลงของราคาสินทรัพย์ อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง หรืออารมณ์ตลาดในบางช่วงบางตอนเท่านั้น

จับแยก ‘ปัจจัยพื้นฐาน-อารมณ์ตลาด’

เมื่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ กำลังปรับขึ้นตามทิศทางการลดดอกเบี้ยเฟด รวมถึงธนาคารกลางอื่นๆ เชื่อว่าอารมณ์ของนักลงทุนคงกำลังพลุ่งพล่านตามราคาไปด้วย โดยเฉพาะราคาหุ้น แต่สำหรับนักลงทุนสาย VI ต้องแยกแยะให้ได้ระหว่างปัจจัยพื้นฐานที่จะมีผลต่อมูลค่าหุ้นในระยะยาว กับบรรยากาศของตลาดที่อาจส่งผลต่อราคาแค่ในช่วงสั้น

สำหรับนักลงทุนสาย VI อย่างผมมีหลักยึด 3 ข้อ ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ได้แก่ 1. พื้นฐานบริษัท 2. อัตราการเติบโต และ 3. ราคาที่เหมาะสม โดยเราต้องศึกษาข้อมูลบริษัทเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการทำกำไรในระยะยาว หากพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ดีในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้เรารู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นๆ และนำมาเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน ก็จะรู้ว่าเป็นราคาที่ถูกหรือแพง ดังนั้นนักลงทุน VI จึงต้องประเมินพื้นฐานบริษัทและแนวโน้มการเติบโตก่อน เพื่อให้รู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น แล้วจึงดูที่ราคาเป็นข้อสุดท้าย

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิดที่ราคาหุ้นตกลงมาถึง 30% ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เพราะนักลงทุนพากันขายหุ้นทิ้งทั้งตลาดเพราะความกลัว โดยไม่ได้แยกแยะว่าหุ้นตัวไหนยังมีอนาคตดีและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับวิกฤตโรคระบาด เช่น ในช่วงปิดเมืองหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวถูกกระทบโดยตรง

แต่หุ้นเทคฯ กลับได้ประโยชน์และยังมีอนาคตที่ดี ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับราคาที่ตกลงมามาก แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ไม่คิดถึงสิ่งนี้ อย่างที่คุณปู่วอเรน บัฟเฟตต์ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตลาดหุ้นเป็นที่ซึ่งคุณรู้ราคาของทุกอย่าง แต่ไม่รู้มูลค่าของอะไรเลย’ ซึ่งตามหลักการแล้ว นักลงทุนควรรู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นก่อนตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนหลายคนยังเข้าใจผิดว่า หลักการลงทุนแบบ VI คือ ซื้อแล้วถือยาวไปเลย แต่ในทางปฏิบัติจริงเราต้องมีการปรับพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและป้องกันความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นตามแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ แม้การลงทุนแบบ VI จะเน้นการลงทุนระยะยาว แต่เราสามารถขายทำกำไรได้เช่นกันนะครับ แต่ที่ต้องทำคือ เมื่อขายทรัพย์สินนั้นแล้วจะนำเงินไปลงทุนอะไรต่อ แต่หากขายสินทรัพย์ดีออกมาเพื่อถือเงินสดไว้ ก็คงไม่เรียกว่านักลงทุน VI นะครับ เช่น ถ้าคุณลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี อัตราผลตอบแทน 20% ต่อปี และขายทำกำไรออกมาแล้วถือเป็นเงินสดไว้ ผลตอบแทนของคุณก็จะเหลือแค่ 1% ต่อปี

การ cut loss ก็ถือเป็นการปรับพอร์ตลงทุนรูปแบบหนึ่ง เช่น ช่วงโควิดที่หุ้นท่องเที่ยวตกแรงและมีแนวโน้มที่จะลงต่อได้อีกยาวจากการปิดเมือง การขายขาดทุนหุ้นท่องเที่ยวและไปลงหุ้นเทคฯ จึงเป็นการปรับพอร์ตเพื่อลดขายทุนและเพิ่มโอกาสทำกำไรได้อีกด้วย หรืออาศัยหลักการย้ายเงินจากหุ้นที่แย่ที่สุดไปหุ้นที่ดีที่สุด เพราะเมื่อหุ้นที่ดีที่สุดขึ้นจะขึ้นได้แรงกว่า ดังนั้น การให้เงินอยู่ถูกที่ถูกทาง ถือเป็นการให้เงินทำงานแทนเราได้อย่างแท้จริง

มืออาชีพ-แพลตฟอร์ม ช่วยลงทุน

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเห็นแย้งว่า การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งผมก็เห็นด้วยเหมือนกันครับว่า ขณะที่หุ้นอาจต่างจากสินทรัพย์อื่น เพราะปกติสินทรัพย์หรือสินค้าโดยทั่วไปจะมีราคากลางกำหนดไว้ เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจซื้อหรือขาย แต่สำหรับราคาหุ้นการประเมินมูลค่าที่แท้จริงอาจทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับนักลงทุนโดยทั่วไป โดยเฉพาะหุ้นต่างประเทศที่ข้อมูลอาจไกลตัวไปหน่อย แต่เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าถึงการลงทุนระดับโลกได้มากขึ้น คุณสามารถหาข้อมูลจาก jitta.com ได้ฟรีๆ แถมครอบคลุมการลงทุนในตลาดหุ้น 28 ประเทศ หรือคิดเป็น 95% ของหุ้นทั่วโลกเลยทีเดียวครับ

ตอนนี้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศเปิดกว้างขึ้นมาก จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนกระจายพอร์ตลงทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มลงทุนที่ช่วยเพิ่มความสะดวก และให้เราเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือการลงทุนผ่านผู้จัดการลงทุนมืออาชีพ ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้คุณเข้าถึงการลงทุนระดับโลกแบบ VI (Vallue Investment) และตอนนี้โอกาสการลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลกเรียกว่ามีมหาศาล แถม

สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างน่าพึงพอใจ

โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโควิดในปี 2566 กองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนได้ถึง 42.93% เทียบกับผลตอบแทนจากดัชนี S&P 500 ที่ 24.20% หรือหากพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ผลตอบแทนทบต้นในตลาดหุ้นจีนอยูที่ 6.3% ต่อปี, ฮ่องกง 0.57%, ญี่ปุ่น 8.47%, สหรัฐฯ 12%, เวียดนาม 11% และตลาดหุ้นไทย 4.03% ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละตลาดก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง

ดังนั้น การเลือกลงทุนให้ถูกตลาดในแต่ละช่วงเวลา ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ โดยเลือกลงทุนประเทศที่แนวโน้มเศรษฐกิจดี พื้นฐานหุ้นดี และราคาถูก ซึ่งการจัดสรรพอร์ตลงทุนไปในหลากหลายตลาด ก็เป็นหลักการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การลงทุนผ่าน digital platform ก็เป็นอีกทางเลือก โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มออมหรือลงทุน เพื่อวางแผนสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และสามารถเป็นอิสระทางการเงินได้เร็วยิ่งขึ้นตามวิถีการใช้ชีวิตของคนยุคดิจิทัล

ว่ากันว่า บางวงการเข้าแล้วออกยาก แต่สำหรับวงการลงทุน ผมอยากให้ทุกท่านอยู่ด้วยกันไปตลอดนะครับ เพราะการลงทุนระยะยาวคือตัวช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้อย่างแท้จริง แต่การสร้างวินัยต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาข้อมูลลงทุน การจัดสรรพอร์ตลงทุนอย่างสร้างสรรค์ การกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และหมั่นปรับพอร์ตลงทุนให้เท่าทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาสู่พอร์ตลงทุนคุณภาพ ในแบบฉบับของ VI กันนะครับ