ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังนลท.เทขายทำกำไร-ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐที่ปรับขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังนักลงทุนเทขายทำกำไร หลังราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้ ประกอบกับนักลงทุนปรับลดการซื้อลง เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสำหรับส่งมอบเดือน ก.ย. จะปิดสัญญาการซื้อขายในวันนี้

– นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตในปี 59 ที่ระดับ 8.9 ล้านบารร์เรลต่อวัน เป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบเข้าสู่สภาวะสมดุลยากขึ้น

+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุน หลังผลสำรวจจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 60 ปรับลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะนับเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์

+ ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ (โอเปก) ตกลงที่จะเข้าร่วมการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบ เนื่องจากเล็งเห็นว่า แม้ว่าปริมาณการผลิตจะปรับตัวลดลง แต่รายได้จากการขายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

+ แหล่งน้ำมันดิบ El Sharara ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลิเบีย ซึ่งมีกำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน ปิดดำเนินการผลิตอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 60) โดยมีการประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) หลังถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายปิดล้อม

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคตึงตัว หลังมีการจำกัดการส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่นในประเทศจีน ประกอบกับมีโรงกลั่นในประเทศจีนเกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่งผลให้หยุดดำเนินการผลิตกะทันหัน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงตึงตัวหลังโรงกลั่นในออสเตรเลียหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในภูมิภาคอ่อนตัวเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูงสุดต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาค รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. ปรับลดลง 8.9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ระดับ 466.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล

ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่พยายามเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.60 ลง ในขณะที่อิรัก ปริมาณการส่งออกในเดือน ส.ค. มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยจากข้อมูลของ Reuters พบว่าปริมาณการส่งออก 14 วันของเดือน ส.ค. ปรับลดลง 80,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นว่าอิรักมีแนวโน้มทำได้ตามข้อตกลงมากขึ้น

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มกลับมาส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดไนจีเรียคาดปริมาณการผลิตและส่งออกจะเพิ่มขึ้น หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา