Digital Transformation กับการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจ

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือกล่าวไว้ว่า 1 ใน 3 ขององค์กรระดับโลกจะถูก disrupt ทุก ๆ 5 ปี จึงเป็นเหตุให้องค์กรต่าง ๆ ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “digital transformation” ซึ่งก็คือการนำ digital technology ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความสะดวกสบาย ลดต้นทุน รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งอาจจะเป็น digital technology ที่ใช้กับกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำก็ได้ หรือถึงขั้นฉีกความคิดเดิม ๆ ก้าวข้ามไปยังดินแดนใหม่ ๆ ทางความคิดได้

ในความคิดเห็นของผม การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในยุค digital transformation นั้น กระทรวงการคลังน่าจะเป็นหน่วยงานแรกที่มีการนำ digital technology มาใช้ ซึ่งตอบโจทย์ความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย ช่วยเหลือตรงตัว เงินถึงมือปุ๊บใช้จ่ายได้ปั๊บ ไม่รั่วไหล ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ การเป็นสังคมที่ไม่ใช้เงินสด (cashless society) และทำให้ประชาชนมีความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 โครงการ ครอบคลุมประชาชนกว่า 30 ล้านคน ดังนี้

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (ปี 2560 และ 2561) หรือโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 13.6 ล้านคน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพเป็นการโอนวงเงินมาไว้ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อใช้ซื้อสินค้าจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ ก๊าซหุงต้ม รถไฟ รถทัวร์ รถเมล์ และรถไฟฟ้า รวมถึงการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กแรกเกิด และการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา โดยใช้บัตรเสียบกับ “เครื่อง EDC” ผ่านร้านค้าต่าง ๆ กว่า 90,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

โครงการชิม ช้อป ใช้ (ปี 2562) จำนวน 11.2 ล้านคน เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา เป็นโครงการแรกที่ทำให้เราต้อง “ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือ” โดยรัฐบาลใส่เงินผ่าน “G-wallet” คนละ 1,000 บาท นโยบายนี้เป็นนโยบายแรกที่ทำให้เรารู้จักกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

โครงการเราไม่ทิ้งกัน (ปี 2563) หรือโครงการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน จำนวนคน 15.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง อาชีพอิสระ และร้านค้ารายย่อย โดยตรวจสอบคุณสมบัติจาก14 ฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “data verification” โดยรัฐจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และ “พร้อมเพย์” ซึ่งได้อานิสงส์จากโครงการ “National e-Payment”

โครงการคนละครึ่ง (ปี 2563 และ 2564) จำนวนประมาณ 28 ล้านคน (เฟส 1, 2 และ 3) และมีร้านค้าเข้าร่วม 1.1 ล้านกิจการ เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้แก่ประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้ารายย่อย โดยภาครัฐจะช่วย copay ร้อยละ 50 อีกร้อยละ 50 ผู้บริโภคออกเอง และมีการสร้าง “แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง” สำหรับฝั่งผู้ซื้อ และ “แอปพลิเคชั่นถุงเงิน” สำหรับฝั่งผู้ขาย โดยการสแกน “QR code” เพื่อทำธุรกรรม โดยในเฟส 3 มี “การเชื่อมโยงกับ food delivery platform” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากขึ้น

โครงการเราชนะ (ปี 2563 และ 2564) จำนวน 33.2 ล้านคน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” กลุ่มผู้มี “แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง” กลุ่มผู้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมีร้านค้ากิจการต่าง ๆ เข้าร่วมผ่าน “แอปพลิเคชั่นถุงเงิน” จำนวน 1.3 ล้านกิจการเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และเพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและฐานรากมากขึ้น โดยการสแกน “QR code” เพื่อทำธุรกรรม

โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ (ปี 2564) ตั้งเป้าผู้ได้รับสิทธิไว้ที่ 1 ล้านคน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 โดยผู้บริโภคสามารถเติมเงินจากบัญชีเข้ามาอยู่ใน “G-wallet” ผ่าน “internet banking” และสามารถนำไปใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยการสแกน “QR code” เพื่อทำธุรกรรม และเมื่อใช้จ่ายถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับ “e-Voucher” เข้ามาใน “G-wallet” สามารถนำไปใช้จ่ายได้อีกต่อหนึ่ง ถือเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภค

ดังนั้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของกระทรวงการคลัง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เครื่อง EDC การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือ การมี G-wallet การทำ data verification การมีพร้อมเพย์ภายใต้โครงการ National e-Payment การมี internet banking แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง แอปพลิเคชั่นถุงเงิน การสแกน QR code เพื่อทำธุรกรรม การเชื่อมโยงกับ food delivery platform และ e-Voucher ตลอดจนการนำข้อมูลภายใต้โครงการต่าง ๆ มาทำ big data และการทำ data-driven policy ในอนาคต สะท้อนถึงการก้าวสู่ digital transformation อย่างเต็มตัวแล้วและจะพัฒนาต่อไป

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด