จับตาจีนคลายล็อกโควิด-รายงานประชุมเฟด กดเงินบาทแข็งค่า

จับตาจีนคลายล็อกโควิด-รายงานประชุมเฟด กดเงินบาทแข็งค่า
REUTERS/Aly Song/File Photo

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 34.00-34.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตารายงานประชุมเฟด-โควิดในจีนหลังประกาศยุติ Zero Covid 1 มิ.ย.นี้ ส่งผลบวกตลาดหุ้นเอเชีย-เงินหยวน ทำเงินบาทแข็งค่า มองฟันด์โฟลว์ซื้อสลับขาย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 23-27 พฤษภาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.10-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดค่อนข้างผันผวน โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นภาพโควิด-19 ในจีน ซึ่งจะเป็นแฟคเตอร์สำคัญต่อตลาดหุ้นเอเชีย และค่าเงินหยวน โดยจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าได้

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ จะมีตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนเม.ย. และตัวเลข PCE เงินเฟ้อเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มอนิเตอร์เป็นหลัก เพื่อดูว่า Core PCE มีการเพิ่มขึ้นเป็นรายเดือน และขยายวงกว้าง โดยตลาดคาดการณ์อยู่ที่ +0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หากตัวเลขออกมากกว่าตลาดจะเริ่มกังวลเรื่องของเงินเฟ้อ

รวมถึงจะมีรายงานเฟดออกมา ซึ่งตลาดจะรอดูรายละเอียดของคณะกรรมการว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% และในอนาคตจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยและจุดสิ้นสุดของดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไร ตลอดจนสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้อย่างไร และติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดอีกด้วย

ส่วนในฝั่งยุโรป จะมีตัวเลข PMI เช่นกัน หากตัวเลขออกมาดีเกิดคาด จะทำให้ค่าเงินยูโรเริ่มแข็งค่าได้ ขณะที่ในประเทศ จะมีตัวเลขนำเข้าและส่งออก อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญ แต่จะสะท้อนถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลงหรือเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน

“เงินบาทตอนนี้แข็งสลับอ่อนค่อนข้างผันผวน ซึ่งตัวที่จะมีผลต่อค่าเงินบาท จะเป็นเรื่องข่าวการทยอยคลายล็อกดาวน์ของจีน และจะยุตินโยบาย Zero Covid วันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งส่งผลบวกต่อภาพตลาดหุ้นเอเชีย และค่าเงินหยวน และมีแรงเทขายโฟลว์ทองคำอีก ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ รวมถึงเราเห็นสัญญาณคนกระจายความเสี่ยงจากการถือเงินสกุลดอลลาร์หันไปถือเยนเพิ่มขึ้น”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ปรับลดลง ส่วผลมห้มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 12,600 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นมีแรงซื้อสลับขายตามภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีแรงซื้อสุทธิ 9,360 ล้านบาท

“ภาพตลาดสัปดาห์หน้ายังคงเป็นการซื้อสลับขายอยู่ตามสตอรี่จีนที่มีข่าวจะยุติมาตรการล็อกดาวน์โควิดและหลังปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีโมเมนตัมในตลาด ส่วนบอนด์คาดว่าจะมีแรงซื้อสุทธิเกือบ 5 พันล้านบาท เพราะจะมีการประมูลบอนด์ โดยอาจจะเห็นการซื้อและขายทำกำไรบ้าง”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 34.00-34.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามรายงานประชุมเฟด ค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ รวมถึงยอดนำเข้าส่งออกเดือนเม.ย.ของไทย

“ภาพใหญ่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เริ่มพักฐาน ส่งผลให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทลบได้บ้าง และยังคงต้องติดตามทิศทางเงินเฟ้อโลก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดหลายรายการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าตลาดอาจต้องกลับมาทบทวนการคาดการณ์การคุมเข้มนโยบายของเฟดได้เช่นกัน

เรามองเงินบาทยังอ่อนค่าในไตรมาสนี้ แต่มีโอกาสกลับมาแข็งค่าช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งจากการทบทวนแนวโน้มนโยบายเฟด และอานิสงส์จากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น”