
ธุรกิจ-ประชาชนกังวลภาวะสงคราม-เงินเฟ้อพุ่ง ส่งผลกระทบตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วน “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” เผยแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงโยกเงินฝากแบงก์ ดันสภาพคล่องในระบบ 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท เงินฝากคงค้างเดือน เม.ย. 65 ทะลุ 15.62 ล้านล้านบาท
ภาคธุรกิจกอดเงินสดรับมือความไม่แน่นอน-ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น “ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้แนวโน้มเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สภาพคล่องส่วนเกินในระบบ 1 ล้านล้าน หลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยทำสงครามกับเงินเฟ้อ
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
เงินฝาก 4 เดือนเพิ่ม 4 แสนล้าน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 18 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 มียอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 15.62 ล้านล้านบาท
โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 400,539 ล้านบาท หรือเติบโต 2.6% เมื่อเทียบสิ้นปี 2564 ที่มียอดคงค้าง 15.22 ล้านบาท และหากเทียบกับช่วงเมษายน 2564 คิดเป็นการเติบโต 5%
ทั้งนี้ ภาพรวมเงินฝากที่เพิ่มขึ้นราว 4 แสนล้านบาท จะเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เนื่องจากเป็นเดือนที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย และมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนทั่วโลก ทำให้มีแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและกอดสภาพคล่องไว้ โดยการมาพักไว้ที่เงินฝาก เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ซึ่งสะท้อนภาพเงินฝากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
หากดูยอดคงค้างเงินฝาก ณ เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 15.57 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 5.9% YOY นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ มี.ค. 2564
กอดเงินสดรับมือความผันผวน
นางสาวกาญจนากล่าวว่า จากเงินฝากที่เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนมาจากเงินฝากภาคธุรกิจราว 51% และเงินฝากบุคคลธรรมดา หรือรายย่อย 43% ที่เหลือเป็นเงินฝากอื่น ๆ เช่น รัฐบาล กองทุน และสหกรณ์ เป็นต้น โดยประเภทเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี หากดูไส้ในเงินฝากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จะเห็นว่ากลุ่มที่เพิ่มขึ้นเยอะจะเป็นกลุ่มวงเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไปต่อบัญชี เนื่องจากภาคธุรกิจจำเป็นต้องสะสมสภาพคล่องไว้รองรับทำธุรกิจ ประกอบกับในช่วงที่มีสงคราม ส่งผลให้ภาคธุรกิจเจอต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับและบริหารธุรกิจ
ขณะที่กลุ่มบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น เป็นบัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง สะท้อนว่ามีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงมาพักไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัยก่อน
“ภาพรวมเงินฝาก 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้นราว 4 แสนล้านบาท แม้ว่าจะน้อยกว่าเมื่อช่วงที่เกิดโควิดระลอกแรกในปี 2563 ซึ่งมีนาคมเดือนเดียวเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงถึง 7-8 แสนล้านบาท แต่ตัวเลข 4 แสนล้านบาทถือว่าไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งสตอรี่ก็คล้าย ๆ กัน
คือ คนกอดเงินสด กอดสภาพคล่องในยามที่ตลาดผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง เพื่อเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เราจึงเห็นเงินฝากแบงก์เป็นที่ปลอดภัยในการเก็บสภาพคล่องไว้ทั้งภาคธุรกิจและรายย่อย”
สภาพคล่องส่วนเกิน 1 ล้านล้าน
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเงินฝากปีนี้มองว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ายอดเงินฝากคงค้างของแบงก์ทั้งระบบในไตรมาส 1 อยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท
สูงกว่าสินเชื่อทั้งระบบที่มีอยู่ 15.3 ล้านล้านบาท สะท้อนว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบราว 1 ล้านล้านบาท และหากดูธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง จะเห็นว่ามีเงินฝากเพิ่มขึ้นทุกธนาคาร
ปัจจัยที่สนับสนุนสภาพคล่องส่วนเกินเพิ่มขึ้น มาจากเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่พุ่งสูง และส่งผลต่อมายังอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายธนาคารกลางในต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น
โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และดูดสภาพคล่องกลับ ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน ซึ่งจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านที่เกิดขึ้น ทำให้คนหันนำสภาพคล่องมาเก็บไว้ในรูปเงินฝากมากขึ้น เพื่อรอดูสถานการณ์
เศรษฐีลดพอร์ตลงทุนกำเงินสด
สำหรับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เริ่มเห็นสัญญาณสภาพคล่องไหลเข้าเงินฝากทั้งในส่วนภาคธุรกิจ และรายย่อย โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 3,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 3% สอดคล้องกับภาพรวมทั้งระบบที่เห็นยอดเงินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะยังคงเพิ่มเรื่อย ๆ เพราะสถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
หากดูเงินฝากของแบงก์ที่ไหลเข้ามาจำนวน 3,500 ล้านบาท จะพบว่าสภาพคล่องส่วนเกินก้อนใหญ่ไหลเข้าเงินฝากประจำราว 50-60% โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง ที่ตัดขาดทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ และลดสัดส่วนการลงทุน หันมาฝากเงินมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มบุคคลธรรมดาจะเห็นการฝากเงินในเงินฝาก Digital CASA เนื่องจากให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ โดยปีนี้ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าเงินฝากในส่วนของรายย่อยอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท
“เรายังคงเห็นเงินฝากในระบบสูงขึ้นได้อีก เพราะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แม้ว่าต้นเดือน มิ.ย.ตลาดลงทุนเริ่มกลับมาได้ แต่มองว่าไม่ได้ดียั่งยืน เพราะภาพรวมความเสี่ยงยังคงมีอยู่ ทำให้สภาพคล่องในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น และไหลเข้าเงินฝากประจำ ซึ่งถือว่าดีสำหรับแบงก์
เพราะถ้าเป็นเงินฝากระยะสั้น ธนาคารไม่สามารถนำไปปล่อยกู้ได้ ขณะที่แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อทยอยกลับมา โดยเริ่มเห็นสัญญาณสินเชื่อบ้านโตขึ้น ขณะที่เทรนด์ดอกเบี้ยโลกเริ่มขยับขึ้น ภายใต้เงินเฟ้อเร่งตัวสูง คาดว่า ธปท.น่าจะขยับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในไตรมาส 3 ได้”
ธปท.เปิดตัวเลขบัญชีเงินฝาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขยอดคงค้างรับฝากแยกตามขนาดและอายุเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ พบว่า ตัวเลขจำนวนบัญชีเงินรับฝากเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 115,056,299 บัญชี เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 ที่อยู่ที่ 113,745,234 บัญชี
โดยยอดเงินรับฝาก ณเดือนมษายน 2565 อยู่ที่ 15,731,122 ล้านบาท จากเดือนธันวาคม 2564 ที่มีจำนวน 15,331,447 ล้านบาท