“เงินร้อน” ไหลออกต่อเนื่อง กดดันค่าบาทอ่อนทะลุ 36 บาท

เงินบาท

เงินร้อนต่างชาติทะลักออก “หุ้น-บอนด์” ไทย มิ.ย.เดือนเดียวไหลออกแล้วเกือบ 5 หมื่นล้าน “ttb analytics” ชี้นโยบายเฟดปัจจัยสำคัญทำเงินบาทอ่อนค่าส่อทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์

ยันไม่น่ากังวลทิศทางทุนเคลื่อนย้ายยังสอดคล้องภูมิภาค ระบุบาทอ่อนดีต่อไทยช่วยหนุนฟื้น “ท่องเที่ยว-ส่งออก” ฟาก “กสิกรไทย” คาดแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง สกัด “เงินเฟ้อ-ทุนไหลออก”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทยต่อเนื่อง โดยช่วง 5 วันทำการล่าสุด (17-23 มิ.ย.) พบว่าเงินต่างชาติไหลออกสุทธิ 19,599 ล้านบาท แบ่งเป็นออกจากหุ้น 11,477 ล้านบาท และออกจากบอนด์ 8,122 ล้านบาท

ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือนมา (MTD) เงินไหลออกสุทธิ 46,059 ล้านบาท แบ่งเป็นออกจากหุ้น 31,484 ล้านบาท และออกจากบอนด์ 14,575 ล้านบาท ทำให้เห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าไปใกล้แตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมองไปข้างหน้าก็ยังมีโอกาสที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่ามากกว่านี้ได้อีก

“ช่วงนี้เงินต่างชาติไหลออกต่อเนื่องทุกวัน เพราะข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ค่อนข้างชัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย MTD ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแล้ว 2.5% ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงไป 3.76% เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค ยังมีเงินเยน เงินวอน เงินเปโซที่อ่อนค่ามากกว่า

“แต่ถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ดอลลาร์แข็งค่าไปแล้วประมาณ 9% ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว 6% เป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค เราก็ยังเคลื่อนไหวค่อนข้างสอดคล้องกับภูมิภาค ทั้งนี้ ถ้าเงินบาทอ่อนค่าไปที่กว่า 36 บาทก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้เฟดยังขึ้นดอกเบี้ยไม่จบ ยังไม่ถึงครึ่งทางเลย” นายนริศกล่าว

และว่า กระแสฟันด์โฟลว์ YTD ตอนนี้ยังเป็นบวกอยู่ราว 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้าหุ้น 1.1 แสนล้านบาท และไหลเข้าบอนด์ 1.1 แสนล้านบาท

นายนริศกล่าวอีกว่า แม้ช่วงนี้จะเห็นภาพเงินทุนไหลออกค่อนข้างมาก แต่ตนมองว่าไม่ได้น่ากังวลเพราะเป็นการไหลออกของ “เงินร้อน” เพราะสัดส่วนต่างชาติถือบอนด์ไทยอยู่แค่ 9% และลงทุนในหุ้นอยู่ประมาณ 22%

ดังนั้น การไหลออกของเงินต่างชาติก็มีจำกัด เพราะเงินต่างชาติไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ของตลาดเหมือนในบางประเทศที่มีสัดส่วนต่างชาติมาก ๆ จะเห็นว่าราคาสินทรัพย์ของไทยไม่ได้วิ่งตามเงินต่างชาติมากนัก

“ผมไม่ค่อยห่วงเงินร้อนไหลออก แต่การที่เงินบาทอ่อนก็จะช่วยเรื่องส่งออกกับท่องเที่ยวได้ แน่นอนว่าภาระค่านำเข้าจะแพงขึ้น แต่ตอนนี้ถ้าให้ท่องเที่ยวฟื้นได้ ส่งออกยังไปได้ ส่วนค่าน้ำมันที่แพงขึ้นก็หาวิธีจัดการกันไป ยังดีกว่าอยู่ดี ๆ จะให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา

“ดังนั้น สิ่งที่ต้องกังวลไม่ใช่เงินร้อนไหลออก แต่ควรกังวลเรื่องเงินลงทุนโดยตรง (FDI) มากกว่า เพราะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาว”

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทยังไม่ถึงจุดต่ำสุด โดยคาดว่ามีโอกาสหลุด 36 บาท และจะทยอยแข็งค่ากลับมาที่ระดับ 33.50 บาท ตอนสิ้นปี จากสัญญาณการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือน ส.ค. และครั้งต่อไปเดือน พ.ย. จากการที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐจะอยู่ที่ 3.5%

“จากนโยบายการเงินของเฟดทำให้ ธปท.มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าและยิ่งเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ย 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าหรือผันผวนเกินไป เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มาจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 5% และเงินบาทที่อ่อนค่าประมาณ 80-90% จะมาจากนโยบายการเงินของเฟด”