ศบค. แจง วัคซีนโควิด เข็ม 1-2 ฉีดต่างยี่ห้อ ได้หรือไม่

อภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารโควิด-19 (ศบค.)

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แจงฉีดวัคซีนโควิด เข็มที่ 1-2 ต่างยี่ห้อได้ หากมีอาการแพ้ เผยยังไม่มีการยืนยันชัดเจนฉีดยี่ห้อต่าง-เหมือนกัน แบบไหนได้ผลดีกว่า ด้าน WHO ยังแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกัน 

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีบนโลกออนไลน์มีการส่งต่อ โพสต์ของชายวัย 51 ปี อาศัยใน จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ใบแสดงการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่พบว่า เข็มที่ 1 เป็น “ซิโนแวค” และเข็มที่ 2 เป็น “แอสตร้าเซนเนก้า” จึงกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไรหรือไม่ ต่อมา ทางโรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับชายดังกล่าว ได้ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการฉีดวัคซีนให้ต่างชนิด แต่เป็นการบันทึกข้อมูลผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารโควิด-19 (ศบค.) ได้ชี้แจงภายหลังแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุว่า ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่เกิดคำถามถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ต่างยี่ห้อ แต่ในต่างประเทศก็มีข้อสงสัยเช่นเดียวกัน

จุดเริ่มต้นของการฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อ มีที่มาเริ่มต้นส่วนหนึ่งจากการที่มีประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดก็ตาม แล้วเกิดอาการแพ้วัคซีนนั้น ๆ อย่างรุนแรง จึงเป็นข้อห้ามที่ไม่ให้ฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ในยี่ห้อเดิม หลายประเทศจึงออกมาตรการในการจัดหาวัคซีนต่างยี่ห้อ ซึ่งอาจจะเป็นวัคซีนที่มีวิธีการผลิตที่ต่างกันไปเลย เช่น ซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย หากมีอาการแพ้ก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้วัคซีนอื่น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนเชื้อเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการแพ้

หลังจากมีการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อ ทางการแพทย์ก็ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยหลายหน่วยงาน ในประเทศไทย อย่างเช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็พยายามที่จะศึกษา ส่วนในต่างประเทศ เช่น เกาหลี หรือ อเมริกา ก็มีการตั้งคำถามวิจัยเช่นนี้ และพยายามศึกษาเช่นกัน โดยเบื้องต้นการศึกษาวิจัยเหล่านี้ ยังไม่มีใครกล้าออกมาสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ยี่ห้อเดียวกัน หรือต่างยี่ห้อ แบบไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

ฉะนั้นการที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้ทำการวิจัยมานานกว่า และตัวอย่างการศึกษาวิจัยมากกว่า และสรุปว่าให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้อเดียวกัน จึงเป็นหลักการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ แต่จากประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 หรือกระทั่งเข็มที่ 3 นับเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ และจะติดตามในรายละเอียด อย่างไรขอให้ประชาชนฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุขต่อไป