ผู้ประกอบการถนนข้าวสาร ลุ้น ศบค. 8 เมษา จัดสงกรานต์ อะไรทำได้-ไม่ได้

FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

ผู้ประกอบการถนนข้าวสาร รอ ศบค. เคาะ กติกาจัดงานสงกรานต์ ชี้เสนอมาตรการจัดงานผ่านรัฐบาล กทม. ทั้ง 2 ทาง รอที่ประชุมชุดใหญ่เคาะ 8 เม.ย. 

วันที่ 30 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 มี.ค.) นายขจิต ชัชชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานครเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปี 2565 ตามประเพณีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ข้อปฏิบัติและระเบียบต่าง ๆ จะต้องให้ผ่านการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี

โดยคาดว่าจะมีการลงนามในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง กทม.จะออกคำสั่งตามระเบียบดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มีนาคม เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2565

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 6/2565 หรือ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นประธานนั้น จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 9.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

สงกรานต์ “ข้าวสาร” ยังรอคำตอบ ศบค.

ขณะที่ นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ทางสมาคมยื่นเรื่องขอจัดงานสงกรานต์ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเข้ารับเรื่อง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมศบค. ต่อไป ซึ่งกำลังรอคำตอบ

จากนั้นได้ยื่นหนังสือไปที่ปลัดกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นเท่าที่ทราบ คือ ในพื้นที่ กทม. สามารถเล่นน้ำได้ แต่ต้องรอที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

ในส่วนของผู้ประกอบการ แต่ละร้านเริ่มจัดงานอีเวนต์ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ส่วนพื้นที่ 400 เมตร บนถนนข้าวสารยังรอคำตอบสุดท้ายจาก กทม. ว่า สรุปสุดท้ายจะเอาอย่างไร

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ได้ยื่นมาตรการการคัดกรอง การจัดงานสงกรานต์ไปแล้วว่า มีมาตรการใด ป้องกันอย่างไร ตรวจเช็คอุณหภูมิ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ การตรวจสอบผลตรวจ ATK จำกัดพื้นที่ บนถนนไม่เกิน 50,000 คน ซึ่งได้ส่งขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ไปแล้ว

ขณะที่มีกระแสข่าวออกมาว่า กรุงเทพมหานคร อนุญาตให้จัดงานสงกรานต์ได้ นายสง่า กล่าวว่า ได้ทราบข่าว แต่การจัดงานยังไม่ถึงท้ายที่สุด ว่ายังต้องเข้าที่ประชุม ศบค. อยู่หรือไม่ รวมถึงยังไม่มีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการออกมา

ผู้ประกอบการรอประกาศทางการ วางแผนลงทุนปลุกการค้าสงกรานต์

ส่วนการเล่นน้ำสงกรานต์แบบปะพรม ก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่สามารถตีความได้ ว่าในกรณีนี้สามารถเล่นปืนฉีดน้ำได้ไหม มาตราการทุกอย่างมีความเชื่อมต่อกันทั้งหมด เช่น ผู้ผลิตปืนฉีดน้ำกล้าที่จะผลิตออกมา คนที่จะไปซื้อมาขายต่อก็ไม่กล้าซื้อ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าในกรณีนี้สามารถเล่นน้ำได้หรือไม่

นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการข้าวสารได้พูดคุยและเตรียมมาตรการการจัดการ จัดงาน เพียงแต่ต้องหารือกับสำนักงานเขตเพิ่มเติมว่า จำนวนผู้คนที่จะเข้าร่วมงาน ซึ่งก็ต้องมีสำนักงานเขตว่าจะมีการจำกัดผู้คน 4 ตารางเมตร ต่อ 1 คน หรือ 2 ตารางเมตร ต่อ 1 คน กันแน่

หรือผู้เข้าร่วมงานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากใสป้องกันใบหน้า (เฟซชีลด์) ขณะเล่นน้ำหรือไม่ รวมไปถึง ปืนฉีดน้ำสามารถนำเข้าไปในงานได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการจัดงานอีเวนต์จัดงานของตนเองอยู่แล้ว ในส่วนนี้สามารถจัดได้อยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล

มาตรการ ศบค. อะไรได้/ไม่ได้

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการในพื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่ ศบค. กำหนด ตามที่มีได้ออกระเบียบวาระเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่ควบคุมกำกับ อนุญาตให้เล่นน้ำจัดกิจกรรมตามประเพณี ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting

ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา

  • เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

ประเมินความเสี่ยง

  • หากพบว่ามีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณา ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง

การเดินทาง

  • โดยขนส่งสาธารณะให้เข้มงวดการสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ และงดรับประทานอาหาร

การขออนุญาตจัดงาน

  • ให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร กำหนด สำหรับการจัดกิจกรรมในชุมชนให้แจ้งต่อ ศปก.ต./ศปก.อ. ผู้นำชุมชน และกำหนดให้มีมาตรการ ในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด

พื้นที่ที่จัดงานที่มีการควบคุม

กิจกรรมที่ทำได้ 

  • รดน้ำดำหัว
  • สรงน้ำพระ
  • การละเล่น
  • การแสดงทางวัฒนธรรม
  • ประเพณีท้องถิ่น
  • ขบวนแห่
  • การแสดงดนตรี
  • การจัดงานต้องกำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
  • สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงาน ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด

กิจกรรมที่ทำไม่ได้

  • ห้ามประแป้ง
  • ปาร์ตี้โฟม
  • จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน

ขณะที่ พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามกิจกรรมเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม