เปิดขั้นตอนหิ้วของเข้าไทย ต้องจ่ายภาษียังไงตามระบบศุลกากร

เปิดขั้นตอน หิ้วของเข้าไทย ต้องจ่ายภาษียังไง ตามระบบศุลกากร

เปิดขั้นตอนหิ้วของมีราคาเกิน 20,000 บาทเข้าไทย ต้องจ่ายภาษียังไงตามระบบกรมศุลกากร

หลายครั้งที่กรมศุลกากรตกเป็นกระแสสังคม โดยเฉพาะจากกรณีล่าสุดเมื่อสาวรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา กรณีถูกกรมศุลกากรที่สนามบินสุววรณภูมิปรับภาษีสินค้าแบรนด์เนมกว่า 54,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเข้ามาหากเป็นจำนวนมาก หรือมูลค่าเกิน 20,000 บาท จะต้องสำแดงสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร และต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียดมาให้ ดังนี้

ของส่วนตัวไม่ต้องสำแดง

  • ประเภทของส่วนตัวมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท
  • ไม่มีเป็นลักษณะทางการค้า เช่น นาฬิกา กระเป๋า กล้องถ่ายรูป รองเท้า
  • แอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 ลิตร
  • บุหรี่ 200 มวน หรือซิการ์หรือยาเส้นอย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมด 250 กรัม และบุหรี่ต้องไม่เกิน 200 มวน

ของที่ต้องสำแดง

  • ของส่วนตัวที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือของที่มีลักษณะทางการค้า แม้ว่าจะมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิน 1 ลิตร บุหรี่เกิน 200 มวน ซิการ์หรือยาเส้นเกิน 250 กรัม

สิ่งของที่ต้องมีใบอนุญาต

  • ยาอาหารเสริม
  • สัตว์เลี้ยง
  • เครื่องสำอาง
  • อาวุธปืน
  • พืช
  • โดรน

ขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรช่องแดง

  • นำกระเป๋าสัมภาระไปพบเจ้าหน้าที่
  • เปิดกระเป๋าให้เจ้าหน้าที่ตรวจสัมภาระและสิ่งของ
  • ประเมินราคาและค่าภาษีอากร
  • ชำระภาษีอากร

ของต้องห้ามเข้าประเทศ

  • ยาเสพติด
  • บารากู่
  • บุหรี่ไฟฟ้า
  • วัตถุลามก
  • ของละเมิดลิขสิทธิ์
  • ของเลียนแบบเครื่องหมายทางการค้า

เปิดอัตราอากรขาเข้าแต่ละประเภท

  • เสื้อผ้า, หมวก, เข็มขัด, รองเท้า, เครื่องสำอาง, น้ำหอม คิดภาษี 30%
  • กระเป๋าแบรนด์เนม, คิดภาษี 20%
  • โทรศัพท์, กล้อง, คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์, เมาส์, อุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ แผงวงจรไฟฟ้า ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • นาฬิกาข้อมือ, แว่นตา, แว่นกันแดด คิดภาษี 5%

หากตรวจพบจะมีความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ต้องถูกริบของและปรับเงิน 4 เท่าของราคารวมภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

วิธีการคำนวณอัตราอากรขาเข้า

  • อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

รู้จักราคาตามความตกลงแกตต์

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศุลกากร ระบุว่า ในกรณีของนำเข้า หมายถึง ราคาของ ของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากร ปัจจุบันประเทศไทยใช้ราคาศุลกากร ที่เรียกว่า “ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)” ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

ในการกำหนดราคาสินค้าขาเข้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ (Agreement on Implementation of Article VII of the General Agreement on tariffs and Trade 1994) ปกติการกำหนดราคาศุลกากรจะอยู่บนพื้นฐานของราคาซื้อขายของที่นำเข้า ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ซื้อจ่ายหรือพึงจ่ายจริงให้กับผู้ขายในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ราคาซื้อขายของที่นำเข้านั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การซื้อขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือการซื้อขายนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่นอีก

ราคาศุลกากรคืออะไร

ราคาศุลกากร คือ ราคาที่ถูกกำหนดเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีอากร ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กฎหมายศุลกากร กฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) และกฎกระทรวงอื่น ๆ ได้กำหนดไว้

6 วิธีการกำหนดราคาศุลกากร

การกำหนดราคาศุลกากรตามหลักการของแกตต์ กำหนดจาก 6 วิธี

วิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Transaction value) หมายถึง ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งได้มีการปรับราคาหรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น

วิธีที่ 2 ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction value of Identical Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่มีลักษณะเหมือนกันทุกด้านกับของที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียง และต้องผลิตขึ้นในประเทศเดียวกันกับของนำเข้าด้วย

ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้าด้วย

วิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (Transaction value of Similar Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่ไม่เหมือนกันครบทุกด้านกับของที่นำเข้า แต่มีลักษณะหรือใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน ผลิตในประเทศเดียวกัน และทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือทดแทนกันได้ในทางการค้า

ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ ชื่อเสียง และเครื่องหมายการค้าของ ของที่นำเข้ากับของนั้น

วิธีที่ 4 ราคาหักทอน (Deductive Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของ ของที่นำเข้า หรือราคาซื้อขายต่อหน่วยของ ของที่เหมือนหรือของที่คล้ายกันที่ได้ขายไปในประเทศไทย โดยหักทอนค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเช่น ค่านายหน้า หรือกำไรและค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ค่าภาษีอากรในประเทศไทย มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบหรือผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติม

วิธีที่ 5 ราคาคำนวณ (Computed Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นจากต้นทุนการผลิตของสินค้าที่นำเข้า บวกกับกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่รวมอยู่ตามปกติในการขายจากประเทศส่งออกมายังประเทศไทย รวมทั้งค่าภาชนะบรรจุ ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง

วิธีที่ 6 ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value) หมายถึง การกำหนดราคาโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดราคาตามวิธีที่ 1-5 มาใช้โดยผ่อนปรนเพื่อการกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผล