ราชกิจจาฯประกาศเปิดผับบาร์ พื้นที่เฝ้าระวัง-นําร่องท่องเที่ยว 1 มิ.ย.

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน คลายล็อกมาตรการโควิด-19 เปิดสถานบันเทิง ดื่มแอลกอฮอล์ได้ เริ่ม 1 มิ.ย. นี้

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔๕) ความว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่คลี่คลายลง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดําเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาด และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด

ส่งผลให้จํานวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงเป็นลําดับ จนสามารถผ่อนปรนให้ประชาชนและ ผู้ประกอบการสามารถดํารงชีวิตและดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ที่ยังคงจําเป็นต้องคงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขได้ดําเนินการตามแผนงานเพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศ และเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านที่จะประกาศเป็นโรคประจําถิ่น (Endemic)

อันจะเป็นผลให้การดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขและการดําเนินชีวิต ของประชาชนกลับสู่สภาวะปกติมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวทางของนานาประเทศ

รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงเห็นสมควรพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกําหนดพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ และกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยให้นํามาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือ แย้งกับข้อกําหนดนี้

ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการ ควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อกําหนด (ฉบับที่ ๔๔) ลงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๕ ได้แก่

การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุม แบบบูรณาการจําแนกตามพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว และการปรับปรุงการกําหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือ แนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นภายใต้ข้อกําหนดดังกล่าวยังคงมีผล ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้

ข้อ ๓ มาตรการควบคุมและป้องกันโรคสําหรับสถานบริการหรือสถานที่ เสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั่วราชอาณาจักร สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักร ยังมีความจําเป็นให้ปิดดําเนินการ ไว้ก่อน

ยกเว้นสถานที่ดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังและเขตพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop COVID 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้ว และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถเปิดให้บริการได้

โดยผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ต้องจัดเตรียมสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัย สําหรับองค์กร (COVID – Free Setting) และต้องกํากับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการและ ผู้เข้ารับบริการให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่ราชการกําหนดขึ้น เป็นการเฉพาะ ดังนี้

(๑) การเปิดให้บริการ การจําหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน สามารถทําได้ไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา โดยงดกิจกรรมที่อาจทําให้เกิดความแออัด

(๒) ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการต้องดําเนินการจัดให้ผู้ให้บริการ และบุคลากรในความรับผิดชอบได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แล้ว และหากเป็นการบริการลักษณะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา

โดยในทุกสัปดาห์ให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง (ชุดตรวจ ATK) รวมทั้งประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่าน แอปพลิเคชัjนไทยเซฟไทย (Thai Save Thai) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย

(๓) ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการต้องดําเนินการตรวจคัดกรอง ผู้ใช้บริการเพื่อความปลอดภัย โดยจะให้บริการได้เฉพาะผู้ใช้บริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบ ตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนดและได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แล้วเท่านั้น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)

อย่างไรก็ดี มีข้อแนะนํา ให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม ๖๐๘) เลี่ยงการเข้าใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป