กสทช. เสียงข้างมาก 4 : 2 ควัก 600 ล้านซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

กสทช.

แม้จะมีเสียงค้านรอบทิศ แต่ในที่สุด กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก (4 : 2) ก็มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

โหวตรอบนี้ออกมาเป็น 4 : 2 (ตามคาด) รวม 6 เสียง โดยมี กสทช.ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง คือ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ลงคะแนนให้เสียงข้างมากร่วมกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นายต่อพงศ์ เสลานนท์

ฝั่ง 2 เสียงข้างน้อย ยังคงเป็น ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์

ใช้เงินกองทุน กทปส.

“ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ที่ประชุม กสทช. เห็นว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช.ดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช.กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)

“กสทช.โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกคนรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป”

ที่มาตัวเลข 600 ล้านบาท

รักษาการเลขาธิการ กสทช.อธิบายถึงที่มาที่ไปของตัวเลข 600 ล้านบาทว่า ใช้วิธีการเดียวกับเมื่อครั้งที่สนับสนุนค่าถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา โดยออกคนละครึ่งกับการกีฬาแห่งประเทศไทย

“เดิมค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกอยู่ที่ 42.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ล่าสุดผู้ว่าการ กกท.ชี้แจงว่า ทำหนังสือไปต่อรองกับฟีฟ่าขอให้ลดราคาลงมาที่ 32.2 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,223 ล้านบาท แม้ฟีฟ่าจะยังไม่ได้ยืนยันว่าลดได้หรือไม่ แต่ กสทช.ได้พิจารณาโดยใช้หลักออกคนละครึ่งก็จะอยู่ที่ 16.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 611 ล้านบาท จึงปัดตัวเลขกลม ๆ ลงมาที่ 600 ล้านบาท”

“พิรงรอง” ย้ำสิ่งที่สังคมต้องรู้

อย่างไรก็ตาม คืนก่อนที่ กสทช.จะนัดประชุมลงมติ “ศ.ดร.พิรงรอง” ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “สังคมควรได้รับทราบ และพิจารณาถึงข้อเท็จจริง และผลกระทบที่จะมีต่อสาธารณะในหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องข้อกฎหมาย โดยระบุว่า “การให้เหตุผลว่าเพื่อให้คนพิการ และคนด้อยโอกาสได้รับชมฟุตบอลโลกโดยเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่สามารถนำมาอ้างได้ เพราะในกรณีฟุตบอลโลกปีนี้ แม้แต่คนทั่วไปก็อาจไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก”

นอกจากนี้ ประกาศ Must Have ไม่ได้หมายความว่า กสทช.ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มา ซึ่งรายการที่ระบุให้เป็น Must Have ถ้าเอกชนที่มีการออกอากาศรายการตามภาคผนวก กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลให้เอกชนต้องเผยแพร่รายการนั้นผ่านการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดในการแสวงหารายการตามประกาศ Must Have มาเผยแพร่ กสทช.จึงไม่มีภารกิจตามกฎหมายในการสนับสนุนการแสวงหาซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหารายการฟุตบอลโลก

และว่า การใช้เงินกองทุนเพื่อซื้อเนื้อหาจากบริษัทเอกชนมาเผยแพร่ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล เพราะฟุตบอลโลกเป็นรายการที่มีมูลค่าทางธุรกิจและควรเป็นการลงทุนตามกลไกตลาด หากต้องอุดหนุนรายการควรเป็นในกรณีที่ต้องการตอบสนองวัตถุประสงค์เฉพาะอันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการอุดหนุน เช่น รายการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รายการสำหรับชน
กลุ่มน้อย เป็นต้น

ถอดบทเรียนสิงคโปร์

และว่า ในอดีต Media Development Authority (MDA) หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ ตัดสินใจไม่ใช้เงินทุน Public Service Broadcast อุดหนุนรายการฟุตบอลโลก เพราะมองว่าไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค หรือส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี กสทช.มีประกาศ Must Have ทำให้มีประเด็นว่าเป็นการแทรกแซงตลาด และเอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหาเฉพาะบางประเภทที่ประเทศอื่นอาจจะไม่มี

ส่อง Must Have Must Carry

“ศ.พิรงรอง” กล่าวว่า หากวิเคราะห์แล้ว กฎ Must Have และกฎ Must Carry จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อสิทธิเอกชนที่มีความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินแต่เพียงผู้เดียวมากที่สุด เนื่องจากสิทธิในการจัดการผู้สนับสนุนในรายการและในช่วงเวลาการถ่ายทอดสดยังคงเป็นของเจ้าของสิทธิ และการที่กฎ Must Carry ให้ผู้ให้บริการแบบบอกรับเป็นสมาชิกนำพาสัญญาณไปแบบห้ามดัดแปลงจะส่งผลให้เกิดการรับชมที่กว้างขวางขึ้น กลับเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสิทธิในการที่จะอ้างอิงสัดส่วนการรับชมที่มากขึ้น

ส่วนผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกอาจมีแรงจูงใจลดลง เนื่องจากเมื่อได้สิทธิมาก็ไม่สามารถนำมาแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์จากการแพร่ภาพเฉพาะในช่องทีวีแบบบอกรับสมาชิกได้

ทั้งนี้ กฎ Must Have และ Must Carry อาจส่งผลต่อราคาค่าลิขสิทธิ์ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์จะคิดและต่อรองตามจำนวนช่องทางที่ซื้อสิทธิสำหรับเผยแพร่ เช่น โทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุกระจายเสียง อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ อุปกรณ์มือถือ การรับชม/รับฟังแบบเก็บค่าบริการหรือการถ่ายทอดไฮไลต์จากการแข่งขัน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า กฎ Must Have และกฎ Must Carry มีส่วนทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการมีความซับซ้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประกาศ Must Have ยังมีข้อยกเว้นสำหรับการทำตามกฎ Must Have โดยเขียนว่าการดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน

“กกท.” มีกองทุนของตนเอง

“พิรงรอง” กล่าวด้วยว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีการตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้นมา และมีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนํา และร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา

ขณะที่ กสทช.ตั้งขึ้นมาพร้อมกับมีกองทุน กทปส. เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และกระจายเสียงอย่างทั่วถึง

หากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่า กกท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา มีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีรายได้อันเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการกีฬาของประเทศโดยตรง ทั้งมีช่องทีวี T Sport ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช.

ดังนั้นหาก กสทช.สนับสนุนการถ่ายทอดแล้วมีการฉายในช่อง กกท. ย่อมเป็นการแทรกแซงตลาด และขัดต่อหลักการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ กกท.จะได้เงินจาก กสทช.แล้ว 600 ล้านบาท ในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก แต่ก็เป็นเพียงครึ่งเดียวจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงต้องเร่งหาอีกในห้วงเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก่อนศึกบอลโลกจะเริ่มฟาดแข้งกัน