ส่องนโยบาย TikTok-FaceBook เข้มคอนเทนต์การเมืองรับศึกเลือกตั้ง’66

ชนิดา คล้ายพันธ์-แคลร์ อมาดอร์

กระชั้นเข้ามาเรื่อย ๆ กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ 2566 ที่ประชาชนคนไทยจะมีโอกาสกำหนดอนาคตของตนเองอีกครั้ง ทำให้พื้นที่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ร้อนฉ่าตามไปด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกในเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดียมาแต่ไหนแต่ไร แพลตฟอร์มออนไลน์จึงกลายเป็นสมรภูมิสำคัญของพรรคการเมือง และบรรดาผู้สมัครทั้งหลาย

ล่าสุดน้องใหม่มาแรงอย่าง TikTok ลุกขึ้นมาประกาศนโยบายในการใช้งาน โดยจัดประเภทบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พร้อมระบุกฎ กติกาต่าง ๆ เช่นกันกับยักษ์โซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก”

TikTok เข้มคอนเทนต์การเมือง

“ชนิดา คล้ายพันธ์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาอาจทำให้หลายภาคส่วนมองว่าแพลตฟอร์ม TikTok จะเป็นพื้นที่หลักในการหาเสียง หรือทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเมือง ขณะที่บริษัทมีจุดยืนในการเป็น “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์ม” เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก

จึงมีการบริหารจัดการคอนเทนต์การเมือง โดยจัดประเภทบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง (GPPPA : government, politician, and political party account) เช่น หน่วยงานภาครัฐ, ผู้สมัครรับเลือกตั้ง, รัฐมนตรี, ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์หาเสียง เป็นต้น

เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการห้ามให้บัญชีประเภทดังกล่าวบูสต์ หรือซื้อโฆษณาโปรโมตคอนเทนต์ ทั้งไม่สามารถใช้โปรแกรม affiliate ที่ว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มโปรโมตเนื้อหาของตนได้ และไม่สามารถเข้าถึงฟีเจอร์เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok

ที่ผ่านมายังให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน และยึดมั่นในจุดยืนของแพลตฟอร์มในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ในการต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และบิดเบือนทุกประเภทให้ออกไปจากแพลตฟอร์ม โดยมีการวางแผนต่อเนื่องในการสร้างความร่วมมือองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างการรับรู้ และให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เพราะเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ (digital literacy) โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้ง จะทำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีบนสังคมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม TikTok ไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูด กล่าวคือเหล่าแฟนคลับ หรือผู้ใช้ทั่วไปยังสามารถพูดถึงพรรคการเมือง หรือนักการเมือง หรือทำคอนเทนต์เพื่อหาเสียง นำเสนอนโยบายได้ เช่นกันกับสื่อสารมวลชนก็สามารถเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ปกติ แต่คอนเทนต์เหล่านี้จะไม่สามารถ “ซื้อโฆษณา” ได้ และไม่อนุญาตให้มีการชักชวนเพื่อระดมทุน รณรงค์หาเสียงบนแพลตฟอร์ม มีเนื้อหา เช่น วิดีโอจากนักการเมืองขอรับบริจาค หรือพรรคการเมืองเชื้อเชิญผู้คนไปยังเว็บไซต์ของตนเพื่อขอรับบริจาค เป็นต้น

ย้ำจุดยืนห้ามโฆษณา

“ปัญหาสำคัญ คือการว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์ หรือครีเอเตอร์เป็นการส่วนตัวเพื่อทำคอนเทนต์การเมือง ซึ่งหากไม่มีการโฆษณา เราเองก็ยังหาวิธีตรวจสอบไม่ได้ ต้องให้หน่วยงานภายนอกมาช่วย แต่ในกรณีที่มีผู้ใช้ หรือครีเอเตอร์สร้างคอนเทนต์การเมืองแล้วลักลอบซื้อโฆษณา ตัวระบบอัลกอริทึ่มของติ๊กต๊อก จะมีการตรวจจับ และลงโทษ take down คอนเทนต์เหล่านั้น”

“ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานตรวจสอบคอนเทนต์เริ่มพบการโฆษณาทางการเมือง และสั่งปิดคอนเทนต์เหล่านั้นไปแล้วเป็นจำนวนมาก และตอนนี้ก็เริ่มเห็นการเปิดบัญชีผู้ใช้งานของผู้ช่วยหาเสียง เพื่อหวังซื้อโฆษณาโปรโมตพรรคการเมืองทางอ้อม จึงขอยืนยันว่าทำไม่ได้ ระบบจะ take down เนื้อหาออกไป ต่อให้ไม่ได้ใช้ชื่อพรรคหรือนักการเมืองนั้น ๆ ตรง ๆ ก็ไม่ได้

ผู้บริหาร TikTok กล่าวด้วยว่า กำลังเร่งขอความร่วมมือจากพรรคการเมือง ผู้ช่วยหาเสียง หรือหน่วยงานราชการให้มา “ยืนยันตัวตน” เนื่องจากปัจจุบันพบว่าบัญชีพรรคการเมืองและนักการเมืองส่วนมากที่เปิดใช้จะดำเนินการโดยกลุ่มแฟนคลับ หรือสาขาของพรรค ทำให้ยากที่จะระบุหรือยืนยันตัวตนได้

“เราเปิดรับให้นักการเมืองหรือผู้ใช้ตัวจริงมายื่นขอ verified บัญชีผู้ใช้ก่อนเลือกตั้ง จึงอยากขอความร่วมมือให้แสดงตนว่าจะให้บัญชีผู้ใช้ใดเป็นบัญชีทางการของพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสื่อสารในวงกว้าง”

“เฟซบุ๊ก” ไฟเขียวลงโฆษณา

ด้าน “แคลร์ อมาดอร์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทย และฟิลิปปินส์ Meta กล่าวว่า เมต้า หรือ เฟซบุ๊ก (Facebook) มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมายาวนาน และได้พัฒนาเครื่องมือมากมาย เพื่อสนับสนุนความโปร่งใส และการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการ “โฆษณา” หรือ “รณรงค์” ทางการเมืองที่ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้

“เฟซบุ๊ก” ต่างจาก TikTok ตรงที่ส่งเสริมการโฆษณาคอนเทนต์ทางการเมือง แต่มีเงื่อนไขว่า ทุกคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าบัญชีผู้ใช้จะเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง ข้าราชการ คนธรรมดา หรือแม้แต่สื่อสารมวลชน จะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาต และยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ออกโดยรัฐบาล หากต้องการโพสต์คอนเทนต์ ทั้งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ ที่เกี่ยวกับการเมือง นโยบาย หรือบุคคลทางการเมืองใด ๆ ก็ตาม

และคอนเทนต์ด้านการเมืองที่จ่ายเงินเพื่อการโฆษณา จะมีการระบุข้อความด้วยว่า “ได้รับสปอนเซอร์จาก” เพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่าใครเป็นผู้ซื้อโฆษณาดังกล่าว

“เรามีเวลาการตรวจสอบคอนเทนต์ราว 48 ชม. ซึ่งนอกจากตรวจสอบด้วยอัลกอริทึ่มแล้ว จะมีทีมงานจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อตรวจสอบในช่วงเลือกตั้งโดยเฉพาะ นอกจากคอนเทนต์เกี่ยวข้องกับการเมืองจะต้องยืนยันตัวตนแล้วผู้ที่ซื้อโฆษณาทางการเมืองยังต้องอยู่ในเขตประเทศไทยด้วย ไม่ให้การจ่ายเงินกระทำจากนอกประเทศ เพราะอาจเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศได้”

ตั้งแต่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา คอนเทนต์การเมืองที่มีการซื้อโฆษณา เฟซบุ๊กจะแยกไว้ในบัญชีคลังโฆษณา (Ad library) หมวดหมู่ “ประเด็นปัญหา การเลือกตั้ง หรือการเมือง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นสปอนเซอร์โฆษณานั้น ๆ ได้ด้วย โดย Meta จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้นาน 7 ปี เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังได้ เป็นการเน้นย้ำเรื่องการสร้างความโปร่งใส

ตั้งทีมเฉพาะกิจปิดบัญชี IO

ที่ผ่านมา ทั้ง Meta, TikTok และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ต่างประสบปัญหาเกี่ยวกับการปลอมแปลงตัวตนผู้ใช้ แอ็กหลุม หรือบัญชีผู้ใช้ที่เปิดเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้าง และโจมตีข่าวสาร หรือ IO (information operation) ที่อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างความเกลียดชังได้

โดยทั้งคู่มี “ระเบียบ” หรือ “ข้อตกลงของชุมชน” คอยกำกับ หากบัญชีผู้ใช้ใดสร้างคอนเทนต์ที่เป็น (hate speech) กลั่นแกล้ง (bullying) ล่วงละเมิด (harassment) ละเมิดนโยบายความรุนแรง และการยั่วยุ จะมีบทลงโทษ ตั้งแต่ปิดกั้นคอนเทนต์ ไปจนถึงระงับบัญชี แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้คลี่คลายลง

ผู้บริหาร Meta เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะ และมีเทคโนโลยีด้านภาษากว่า 60 ภาษาทั่วโลก เพื่อให้เข้าถึง ตรวจสอบ และยับยั้งความพยายามในการเข้าถึงผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม ล่าสุดทีมและระบบที่สร้างขึ้นสามารถตรวจเจอ และลบบัญชีปลอมได้ภายในไม่กี่นาที หลังบัญชีเหล่านั้นสร้างขึ้นแล้ว โดยในไตรมาส 4/2565 มีบัญชีปลอมกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่โดนลบออกไปจากแพลตฟอร์ม

“ปีที่ผ่านมา Meta มีทีมตรวจสอบเนื้อหาและความปลอดภัยไซเบอร์กว่า 40,000 คน ลงทุนไปกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาความสามารถในการตรวจสอบการแทรกแซงจากต่างชาติ และขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จ และต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ”

ส่องสถิติสองแพลตฟอร์ม

สำหรับช่วงเลือกตั้งในประเทศไทย ได้จัดเตรียมทีมงานเฉพาะ ประกอบด้วยผู้ที่เชี่ยวชาญที่เข้าใจบริบทของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์

“เรื่อง IO เรามีระบบตรวจสอบที่ทำมานานแล้ว และด้วยทีมความปลอดภัยไซเบอร์กว่า 40,000 คนทั่วโลก ผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า CIB โดย IO เป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งลักษณะเครือข่าย CIB (coordinated inauthentic behavior) หรือเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย มีพฤติกรรมเสี่ยงร่วมกันในการสร้างข้อมูลบิดเบือน หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ หรือแอ็กเคานต์ปลอมต่าง ๆ ที่ทำงานเป็นเครือข่าย โดยตั้งแต่ปี 2560 เราปิดเครือข่ายพวกนี้ไปกว่า 200 เครือข่ายแล้ว”

ฝั่ง TikTok เปิดเผยว่า ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 มีการตรวจสอบ และลบวิดีโอที่บิดเบือน เป็นอันตราย และมีเนื้อหาละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน ออกจากแพลตฟอร์มไปมากกว่า 96.5% และมีการลบออกภายใน 24 ชั่วโมงถึง 92.7% มีการลบออกก่อนมียอดเข้าชม 89.5% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาข่าวปลอม

รวมไปถึงการมีทีมเฉพาะ และระบบเทคโนโลยีการจัดการเนื้อหา (content moderation) ตรวจสอบเนื้อหาตลอด 24 ชั่วโมง

“อัลกอริทึ่มของติ๊กต๊อกจะคัดกรองผู้ใช้ และพฤติกรรมการใช้งานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ หากระบบเห็นว่าผิดมาตรฐานชุมชนจะสั่งลบคอนเทนต์ทันที หากมีพฤติกรรมผิดซ้ำ ๆ ก็จะนำไปสู่การสั่งระงับบัญชี และหนักสุดคือแบนไอพีของโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ ไม่ให้เข้าสู่ติ๊กต๊อกได้อีกเลย”