AIS เสริมแกร่งคอนเทนต์ ถอดสูตรปั้นยอดใช้งานข้อมูล 5G

สมชัย เลิศสุทธิวงค์-ปรัธนา ลีลพนัง AIS

ทำผลงาน Q1/2566 ได้อย่างน่าพอใจ สำหรับ “เอไอเอส” ด้วยรายได้รวม 46,712 ล้านบาท เติบโต 3.2% เป็นกำไรสุทธิ 6,757 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.1% เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รายได้โตขึ้น 1.4%) ฐานลูกค้ารวม 46.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 108,000 ราย (เป็นผู้ใช้ 5G ที่ 7.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านราย ในไตรมาสแรกปีที่แล้ว ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 11% มีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 99,000 ราย ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและธุรกิจอื่น ๆ (AIS business) รายได้เติบโต 5.2%

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS กล่าวว่า ความตั้งใจในการพัฒนา digital infrastructure ยกระดับศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะให้มีความพร้อมต่อการทำงาน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้งานให้ลูกค้าและคนไทย กับปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อของผู้บริโภค และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลถึงผลการดำเนินงานไตรมาสแรก

“นอกจากมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้คนไทยแล้ว เรายังมองไปถึงการสร้างโอกาสการเติบโตในรูปแบบใหม่ ๆ ให้หลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือ ecosystem economy ผ่านความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ระดับท้องถิ่นไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลก”

เร่งเสริมแกร่งคอนเทนต์

ล่าสุดจับมือกับ HBO แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก จัดแพ็กเกจพรีเมี่ยมให้ลูกค้าอีกครั้ง

“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า โครงข่ายดิจิทัลให้ประโยชน์กับลูกค้าหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ต่างมีบริการด้านความบันเทิงเป็นตัวนำ และถือเป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจ และความตั้งใจของ AIS ที่ต้องการสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ด้วยนำเน็ตเวิร์กที่เข้มแข็ง และคอนเทนต์ที่ดีทำให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงทั้งฟรีคอนเทนต์และพรีเมี่ยมคอนเทนต์

“เราไม่ใช่เจ้าของคอนเทนต์ จึงมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีคอนเทนต์แทบทุกสตูดิโอในโลกนี้ เพื่อนำคอนเทนต์ทุกประเภทให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตามความต้องการ ปัจจุบันตลาดคอนเทนต์เปลี่ยนรูปแบบไปจากหลายปีก่อนที่มีเพียงกล่องทีวี แม้กระทั่งแพลตฟอร์มโอทีทีก็ต้องมีคอนเทนต์ของตนเอง กรณี HBO แต่ก่อนเผยแพร่บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ตอนนี้ก็มีแพลตฟอร์มของตนเอง แต่เขาขยายตลาดด้วยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์มากกว่าจะให้บริการกับลูกค้าโดยตรง”

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลจาก 4G มา 5G ทำให้การส่งสัญญาณมีความชัดเจนกว่าระบบโทรทัศน์ ดังนั้นโครงสร้างจะต้องรองรับความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสตรีมมิ่งด้วยการขยายโครงข่ายไร้สาย 5G ที่ใช้ความถี่ทั้งหมดที่มีขยายสถานีฐานเตรียมไว้เพื่อรองรับเหล่าคอนเทนต์วิดีโอที่เป็นทั้ง long form และ short form

“วิดีโอ” ดันการใช้ข้อมูลทะลุ

“ปรัธนา” กล่าวว่า การบริโภคข้อมูล (data consumption) สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากคอนเทนต์ประเภทวิดีโอทั้งสิ้น ทั้งรูปแบบ short form หรือวิดีโอสั้น และคอนเทนต์ long form อย่างเช่นภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ทั้ง 2 แบบ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยวิดีโอแบบยาว ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่บ้าน เพราะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กก็ดูภาพยนตร์ทั้งเรื่องได้ ส่วนเอไอเอสไฟเบอร์ เป็นอีกเครือข่ายที่มีกว่า 130,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อขยายให้แต่ละบ้านเข้าถึงบริการได้

“ค่าเฉลี่ยของการใช้โมบายดาต้าจะอยู่ที่ 22-24 GB แต่ถ้าดูเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานมากสุด จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 GB ซึ่งเป็นส่วนของการใช้งานวิดีโอเป็นหลัก เพราะวิดีโอกินแบนด์วิดท์มหาศาล สูงกว่าการใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไถฟีดดูคอนเทนต์เท่าไหร่ไม่หมดสักที แต่การดูวิดีโอสั้นในแง่ความต่อเนื่องในการดูไม่มีผลมากนัก คือ มาเร็ว เปลี่ยนเร็ว คือหัวใจสำคัญๅ”

“ดังนั้น การตอบสนองของเครือข่ายการมีความหน่วงต่ำ ทำให้คอนเทนต์มาเร็ว กดดูแล้วชัดเลย และดูได้ทุกที่เป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนวิดีโอยาว ๆ ภาพต้องคมชัดถึงจะดูแล้วได้อรรถรส มีความต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ไม่ได้เคลื่อนที่มากนัก ต้องตั้งใจนั่งดู แต่ปริมาณข้อมูลต่อคลิปจะหนักมาก”

ถ้าเทียบกับการเล่นเกมแล้ว จะพบว่ามีแบนด์วิดท์ในการใช้งานต่ำมาก การบริโภคข้อมูลจึงไม่สูง แต่เน้นการตอบสนองและความหน่วง ซึ่งทั้งเครือข่าย 5G และไฟเบอร์ล้วนตอบโจทย์ความหน่วง แต่ไม่ใช่ตัวหลักใน “การบริโภคข้อมูล”

ลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้น

“ปรัธนา” กล่าวต่อว่า ความนิยมใช้งานด้านวิดีโอทำให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จากการบริโภคข้อมูลที่มากขึ้น ส่งผลให้รายได้จ่ายต่อคนต่อเดือน (ARPU) เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“เมื่อคนนิยมดูคอนเทนต์ ความต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องบอกว่าความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากทั้งคอนเทนต์และประโยชน์อื่น ๆ ทุกวันนี้คนขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้ และความต้องการก็เพิ่มเรื่อย ๆ โดยมีคอนเทนต์เป็นตัวบูสต์ที่สำคัญ”

ปัจจุบันค่าบริการโทรคมนาคมในเมืองไทยถือว่าถูกมาก อย่างบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สปีด 1 GB ราคาอยู่ที่ 699 บาท หรือ 500 MB ทั้งอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ อยู่ที่ประมาณ 499 บาทเท่านั้น

“APRU เฉลี่ยของเอไอเอส ในบริการมือถือแบบรายเดือนหรือ post-paid อยู่ที่ 449 บาท ส่วนพรีเพดอยู่ที่ 120 บาท ขณะที่ไฟเบอร์บรอดแบนด์จะอยู่ที่ 407 บาท”

ลุ้นคนใช้ 5G ทะลุ 15 ล้าน

สำหรับฐานผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบ 5G ปัจจุบันอยู่ที่ 7.2 ล้านราย จากฐานลูกค้ารวม 46 ล้านราย และคาดว่าภายในสิ้นปีอาจได้เห็นลูกค้า 5G เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านราย เนื่องจากเริ่มมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ในราคา 5,000 บาทมากขึ้น จากที่ผ่านมา มีปัญหาการขาดแคลนชิปเซตสำหรับผลิตอุปกรณ์มือถือ ทำให้เครื่อง 5G ราคายังแพงแต่ปีนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น อุปกรณ์ราคา 5 พันกว่าบาท มีมากขึ้น จึงน่าจะดึงดูดกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ 5G มากขึ้นได้

“คิดว่าเครื่องใหม่ที่เอไอเอสจะนำมาขายกว่าครึ่ง จะเป็นสมาร์ทโฟน 5G แต่วันนี้ยังมีเครื่อง 4G มากอยู่ โดยเฉลี่ยปีหนึ่งยอดนำเครื่องใหม่มาขายในบ้านเราจะอยู่ที่ 11-12 ล้านเครื่อง”

และเมื่อถามถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ ผู้บริหาร AIS กล่าวว่า ครึ่งแรกของปีมีปัจจัยพลังงานที่มีราคาสูง แต่นักท่องเที่ยวเริ่มไหลกลับมา 40% ของช่วงก่อนโควิดดังนั้นในครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเติบโตอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นรากฐานหลักของเศรษฐกิจ ในส่วนของกำลังซื้อคงต้องรอดู แต่โดยส่วนตัวมองเป็นบวก

ส่วนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการย้ายขั้วของรัฐบาลไม่มีผลอะไรกับเอไอเอส เพราะเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนต้องใช้ และต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง