ยักษ์ IBM หนุน Rapidus เป็นเบอร์สามตลาดชิป

Rapidus

“IBM” ทุ่มทรัพยากรมหาศาลดัน “Rapidus” บริษัทผลิตชิปสัญชาติญี่ปุ่นเป็นเบอร์สามในตลาด หวังลดความรุนแรงจากปัญหาขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรม

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า “ไอบีเอ็ม” (IBM) กำลังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบริษัทสตาร์ตอัพด้านการผลิตชิปของญี่ปุ่นอย่าง “Rapidus” เพราะเล็งเห็นความสำคัญในการรักษาอุปทานของอุตสาหกรรมชิปและเซมิคอนดักเตอร์ในระยะยาว

Rapidus เป็นบริษัทร่วมทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า (Toyota), เดนโซ่ (Denso) และโซนี่ (Sony) ถือเป็นโครงการกึ่งสาธารณะที่เริ่มต้นเมื่อปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตชิปในญี่ปุ่นช่วงที่ความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งหัวเรือใหญ่ของบริษัทแห่งนี้คือ “เท็ตสึโร่ ฮิกาชิ” (Tetsuro Higashi) อดีตประธานของ Tokyo Electron และ “อัตสึโยชิ โคอิเกะ” (Atsuyoshi Koike) อดีตประธานของ Western Digital ประเทศญี่ปุ่น

ขณะนี้ Rapidus กำลังพัฒนาโมเดลชิปขนาด 2 นาโนเมตรของ IBM ให้พร้อมสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตชิปดังกล่าวในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันมีขนาดอยู่ที่ 3 นาโนเมตร

โนริชิเกะ โมริโมโตะ (Norishige Morimoto) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ IBM Japan กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “เรากำลังทุ่มสรรพกำลังไปที่ Rapidus และลงทุนทรัพยากรจำนวนมหาศาลในโครงการนี้ แม้จะต้องสละบางสิ่งที่ใช้ในการวิจัยอื่น ๆ ก็ตาม เพราะเราต้องการให้ Rapidus ประสบความสำเร็จ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกอย่างมีเสถียรภาพ”

การสร้างโรงหล่อชิประดับโลกเพื่อผลิตชิปให้กับลูกค้าภายนอก กลายเป็นความท้าทายที่ Rapidus ต้องเผชิญ เพราะเป็นการไล่ตามผู้นำในอุตสาหกรรมอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ภายในเวลาไม่กี่ปี

วิศวกรของ Rapidus ถูกส่งไปยัง Albany NanoTech Complex ของ IBM เพื่อออกแบบสายการผลิตให้เหมาะกับการผลิตชิปจำนวนมาก ในขณะที่โรงงานของ Rapidus กำลังสร้างอยู่ในเมืองฮอกไกโด คาดว่าจะมีการลงทุนในโครงการผลิตชิป 2 นาโนเมตร จำนวน 5 ล้านล้านเยน (1.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับค่าใช้จ่ายรายปีของ TSMC และบริษัทผู้ผลิตชิปจากเกาหลีใต้อย่าง Samsung

“อกิระ มินามิคาวะ” (Akira Minamikawa) นักวิเคราะห์จาก Omdia บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี กล่าวว่า Rapidus และ Samsung เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีของ IBM ทั้งคู่ และมีโมเดลธุรกิจต่างกันมาก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือทางธุรกิจแล้วได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แม้ว่าความต้องการอุปกรณ์ไอทีจะลดลง หลังจากการระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้คนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ความต้องการชิปและเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของ AI ที่ต้องใช้หน่วยความจำและการประมวลผลที่ทรงพลังมากขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างอิงข้อมูลจาก “อินนา สเควิร์ตโซวา” (Inna Skvortsova) นักวิเคราะห์ตลาดในอุตสาหกรรมชิปและเซมิคอนดักเตอร์ว่า รายรับทั่วโลกจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (35 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลา 10 ปี

ปัจจุบัน มีเพียง Samsung และ TSMC เท่านั้นที่สามารถผลิตชิปที่ทันสมัยที่สุดได้ ทำให้เป็น 2 บริษัทที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่ง Rapidus ตั้งเป้าที่จะเป็นตัวเลือกที่สามในตลาด โดยโมริโมโตะกล่าวว่า การจัดหาชิปรุ่นล่าสุดไม่ใช่สิ่งที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะทำได้เพียงลำพัง

“TSMC และ Samsung ยินดีที่จะให้ Rapidus อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิปรุ่นล่าสุด เพราะความต้องการของลูกค้ามีมากกว่ากำลังการผลิตของทั้งสองบริษัท ทำให้การแบ่งคำสั่งซื้อมาที่ Rapidus ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา”