4 กรรมการ กสทช. ส่งหนังสือถึงประธาน กสทช. ขอถกด่วน ติดตามสถานการณ์บริการโทรศัพท์มือถือ หลังการควบรวมทรู-ดีแทค หลังไม่พบวาระการพิจารณาติดตามผลในที่ประชุมบอร์ด กสทช. เดือนธันวาคม 2566
วันที่ 15 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวจาก สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกรรมการ (กสทช.) กรรมการ กสทช. 4 คน มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 1003/ 353 เรื่อง ขอให้มอบหมายสำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอัตราค่าบริการสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 วันที่ 20 ธันวาคม 2566
การรวบรวมข้อเท็จจริงนี้ สืบเนื่องจากมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้
ก่อนหน้านี้ มีการบรรจุระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เข้าสู่การพิจารณาของ กสทช. ครั้งที่ 22/2566 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ในระเบียบวาระ 3.6 โดยสำนักงาน กสทช. รวบรวมรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการแต่ละครั้ง แต่ไม่ได้จัดส่งตารางรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะแต่อย่างใด และในการประชุม กสทช. วันพุธที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
กสทช. ทั้ง 4 คน จึงมีบันทึกด่วนที่สุดขอให้มีการบรรจุวาระดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา
เนื้อความในบันทึกด่วนที่สุดฉบับดังกล่าว มีถ้อยความดังนี้
“เรียน ประธาน กสทช.
“ตามที่ สาธารณชนมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมโดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ อันเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้ นั้น
“ในการนี้ กสทช. พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ฯ กสทช. ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กสทช. รศ. ดร.ศุภัชฯ และ กสทช. รศ. ดร.สมภพฯ เห็นว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ในอันที่จะกำกับดูแล
“การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอนำเรียนท่านในฐานะประธาน กสทช. และ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้โปรดมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากการให้บริการโทรคมนาคม
“โดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เพื่อให้กรรมการ กสทช. ได้ร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน
“นอกจากนี้ ตามที่ กสทช. ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ (1) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการรวมธุรกิจของผู้ขอรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะทั้งก่อน (Ex Ante) และหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) ตามที่ กสทช. กำหนด (2) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) (3) จัดทำรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเป็นระยะ ๆ จึงเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการมีความต่อเนื่อง สำนักงาน กสทช. ควรเร่งดำเนินการขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวซึ่งครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 และพร้อมกันนี้ขอให้โปรดพิจารณามอบหมายให้สำนักงาน กสทช.จัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ โดยเชิญภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม องค์กรผู้บริโภค และสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตาม เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“จึงนำเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จะเป็นพระคุณอย่างสูง
“(ลงนาม) รศ. ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รศ. ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ”