กรณีศึกษาด้านมืด AI ใช้ “ดีปเฟก” สวมรอย Taylor Swift

Taylor Swift
Taylor Swift ในงาน 2019 Billboard Music Awards - REUTERS/Steve Marcus

ชวนสำรวจด้านมืดของ AI ผ่านการใช้ “ดีปเฟก” สวมรอยคนดังอย่าง “Taylor Swift” ด้านนักวิเคราะห์เผยความรุ่งเรืองของ AI ทำให้คอนเทนต์ดีปเฟกเพิ่มขึ้น 9 เท่า

วันที่ 30 มกราคม 2567 จากกรณีที่นักร้องสาวพ๊อปสตาร์ชื่อดังระดับโลก “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ถูกนำใบหน้าไปปลอมแปลงในสื่ออนาจารด้วยเทคโนโลยีดีปเฟก (Deepfake) หรือการใช้ AI สร้างตัวตนเสมือนจากลักษณะภายนอก สะท้อนให้เห็นถึงอีกด้านของการนำ AI ไปใช้อย่างไม่มีจริยธรรม

ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวได้มีการนำไปเผยแพร่บน X (Twitter) จนสร้างความเสียหายให้กับนักร้องสาว และนำมาซึ่งความไม่พอใจของเหล่า “สวิฟตี้” (Swifty) แฟนคลับของเธอเป็นจำนวนมาก

เว็บไซต์ The Verge สื่อออนไลน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีในสหรัฐรายงานว่า แม้ X จะมีกฎห้ามแชร์เนื้อหาที่ผ่านการสังเคราะห์และละเมิดสิทธิของผู้อื่นบนแพลตฟอร์ม แต่โพสต์ที่เกิดจากการใช้ดีปเฟกปลอมแปลงตัวตนของเทย์เลอร์กลับใช้เวลาในการลบออกถึง 17 ชั่วโมง หลังจากเผยแพร่ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้เข้าชมไปแล้วมากกว่า 45 ล้านครั้ง

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทย์เลอร์ถูกนำใบหน้าและตัวตนไปใช้ในเทคโนโลยีดีปเฟก เนื่องจากรายงานของ Similarweb บริษัทติดตามปริมาณการใช้งานเว็บไซต์ ระบุว่า ในเดือน ธ.ค. 2566 มีวิดีโอดีปเฟกที่ใช้ตัวตนของนักร้องสาวบนเว็บไซต์ Mrdeepfakes เกือบ 500 รายการ

แต่ไม่ได้มีเพียงเทย์เลอร์ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ดีปเฟกในทางที่ผิดเท่านั้น เพราะยังมีคนที่ได้รับผลกระทบอีกหลายราย เช่น “โจ ไบเดน” (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ถูกปลอมแปลงเสียงเพื่อบิดเบือนข้อมูลในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เปิดเผยว่า ดีปเฟกคือ Generative AI ประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว ผ่านการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) และใช้ข้อมูลจากลักษณะภายนอก เช่น สีผิว ตา ปาก จมูก เป็นต้น

การสร้างสื่อจากดีปเฟกแบ่งเป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ 1.การปลอมแค่บางส่วน (Face Wrap) หรือการเอาใบหน้าของบุคคลที่ต้องการปลอมไปใส่ในหน้าของบุคคลจริง แล้วเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลนั้น และ 2.การปลอมทั้งหมด (Face Reenactment) หรือการใช้ AI สร้างภาพสังเคราะห์จากการป้อนข้อมูลลักษณะภายนอกของบุคคลต่าง ๆ ให้ระบบเรียนรู้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานโดยอ้างอิงการวิจัยของ “เจเนวีฟ โอ” (Genevieve Oh) นักวิเคราะห์อิสระว่า กระแส AI ที่เฟื่องฟูขึ้น ทำให้สื่ออนาจารที่สร้างจากเทคโนโลยีดีปเฟกเพิ่มจำนวนมากกว่า 9 เท่า จากปี 2563 โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีคอนเทนต์ประเภทนี้เผยแพร่อยู่บนโลกออนไลน์กว่า 114,000 รายการ

ทั้งนี้ สื่อประเภทดังกล่าวยังสามารถค้นหาได้อย่างง่ายดาย ผ่านการใช้เสิร์ชเอ็นจิ้น และแม้ว่า Google จะมีแบบฟอร์มสำหรับยื่นคำร้องเพื่อลบเนื้อหาที่สร้างจากดีปเฟก แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงยังมีการเผยแพร่คอนเทนต์ประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Discord และ Midjourney ด้วย

อย่างไรก็ตาม การตรวจจับเนื้อหาที่สร้างจากดีปเฟกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อ AI มีความสามารถมากขึ้น การสร้างเนื้อหาจะเหมือนจริงขึ้นด้วย แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น TikTok, Facebook และ Instagram ก็ได้ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับและคัดกรองเนื้อหาที่สังเคราะห์จาก AI เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ แต่หลายฝ่ายก็พยายามผลักดันมาตรการควบคุมการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เกิดจากการใช้ดีปเฟก หรือเนื้อหาที่สร้างจาก AI เพื่อปกป้องเหยื่อและผู้ใช้งานที่ได้รับความเสียหาย เช่น สภาคองเกรสได้เริ่มหารือเกี่ยวกับขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของคนดังและศิลปินจากการใช้ AI ในบางกรณี เป็นต้น