แพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย DPS แล้วกว่าพันแพลตฟอร์ม

ETDA เผยยอดรับแจ้ง DPS ครึ่งปีทะลุกว่า 1,000 แพลตฟอร์ม เตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง ‘ETDA DPS Notified’ เพิ่มความน่าเชื่อถือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เตรียมเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับ ขยายผลรับประสานแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์ม 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า ผ่านไปครึ่งปีนับตั้งแต่กฎหมาย พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (DPS) มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งไทยและต่างชาติแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มสัญชาติไทย รวมถึงกลุ่ม Online Marketplace ครองแชมป์แจ้งมากสุด

ให้แพลตฟอร์มยื่นแจ้งรายงานประจำปีและประกาศ “ข้อตกลงและเงื่อนไข” (T&C) ให้ทัน 29 ก.พ.นี้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการให้บริการประชาชน

พร้อมเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล เตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS ‘ETDA DPS Notified’ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ใหคนไทยมั่นใจและเชื่อได้ว่า แพลตฟอร์มที่มีเครื่องหมายนี้ มีการยืนยันตัวตน มีช่องทางการติดต่อเมื่อพบปัญหาจากการใช้บริการ และจะได้รับการดูแลเยียวยา ภายใต้มาตราการที่สอดคล้องกับกฎหมาย 

ดร.ชัยชนะกล่าวด้วยว่า ETDA มีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต

“ETDA ขยับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้แนวคิดการทำงาน Co-Creation Regulator อย่างเต็มตัว ที่ได้ดำเนินงานภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย Digital ID และกฎหมาย DPS ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำกับดูแลควบคู่กับการส่งเสริม เพื่อให้ประเทศเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจผ่านการดำเนินงานในหลายส่วน”

โดยหนึ่งงานไฮไลต์ที่เรียกว่าเข้ามาเพิ่มความเข้มข้นของบทบาท Co-Creation Regulator นั่นก็คือ การกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS ซึ่งถือเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในประเทศไทยมีจำนวนมากและหลากหลาย

การจะทำให้แพลตฟอร์มที่มีอยู่นี้เข้าสู่ระบบ มาแจ้งข้อมูลและดำเนินธุรกิจบริการภายใต้แนวปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ ETDA และผู้ปฏิบัติงาน ต่างเร่งวางกลยุทธ์การทำงานให้มีความรอบครอบ รัดกุมมากที่สุด ไปพร้อม ๆ กับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

โดยเฉพาะธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นกลุ่มหลักที่ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้มาร่วมกำหนดทิศทางการดูแลผู้ใช้บริการ การให้บริการ ที่มีความเหมาะสม ตลอดจนการมีแนวปฏิบัติที่ดี ที่รวมถึงการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวทางที่สามารถกำกับดูแลตนเองในการให้บริการที่ดีได้ในอนาคต (Self-regulate) 

ตั้งแต่กฎหมาย DPS หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 6 เดือน มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม

โดยแพลตฟอร์มที่มาแจ้งมากที่สุด คือ กลุ่มบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) จำนวน 302 แพลตฟอร์ม รองลงมาคือ บริการสื่อสารออนไลน์ (online communication) จำนวน 199 แพลตฟอร์ม และบริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) จำนวน 78 แพลตฟอร์ม

ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยถึง 94.46 % ส่วนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ 

นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวต่อว่า ข้อมูลข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ETDA ได้เห็นภาพ DPS Landscape ที่ให้บริการในไทยได้ชัดเจนขึ้น ก้าวต่อไปที่เราต้องไปต่อเพื่อยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น คือ การเร่งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องแจ้งแต่ยังไม่มาแจ้งให้มาดำเนินการแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด

รวมไปถึงการเร่งสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้แพลตฟอร์มที่มาแจ้งข้อมูลแล้ว ต้องดำเนินการยื่นรายงานประจำปีกับ ETDA เพื่ออัปเดตข้อมูล เช่น รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ เป็นต้น

รวมถึงการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบ ในกรณีแพลตฟอร์มที่มีลักษณะตาม มาตรา 16 ที่มีให้บริการโดยคิดค่าบริการ หรือ ให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือบริการ Search engine ซึ่งทั้งในส่วนรายงานประจำปีและการแจ้ง Terms & Conditions ข้างต้นแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 29 ก.พ. 2567 นี้ 

“เครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS Notified จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ แพลตฟอร์มทั่วไป ที่ยื่นแจ้งข้อมูลและผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับการอนุมัติให้สามารถดาวน์โหลดเครื่องหมาย ETDA DPS Notified เพื่อนำไปแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเองได้ ตามวิธีและเงื่อนไขที่ ETDA กำหนด”

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับบริการที่มั่นใจ เชื่อถือได้ ก่อนใช้บริการให้สังเกตเครื่องหมาย ETDA DPS Notified บนแพลตฟอร์มและอย่าลืมคลิกเข้าไปที่เครื่องหมายดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดที่สำคัญ ๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น ชื่อบริการ ลักษณะบริการ สถานการณ์ให้บริการ และช่องทางติดต่อ เป็นต้น

สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่แจ้งข้อมูลแบบย่อ และไม่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว แต่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่า ตนเป็นแพลตฟอร์มที่มีแนวปฏิบัติการให้บริการสอดคล้องกับกฎหมาย DPS สามารถนำใบรับแจ้งที่ได้จาก ETDA ไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการได้เช่นเดียวกัน

สำหรับประเด็นที่ว่า จากแพลตฟอร์มที่มาแจ้งกว่า 1,000 รายนี้ แพลตฟอร์มไหนบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (ตามมาตรา 18) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร

รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และมีผลกระทบในระดับสูง ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างประกาศรายชื่อดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของ ETDA ที่ www.etda.or.th