เปิดใจ “นายกสมาคมไรเดอร์” ยกสถานะ “ไรเดอร์” สู่อาชีพที่มีตัวตน

พรเทพ ชัชวาลอมรกุล
พรเทพ ชัชวาลอมรกุล

ประเด็นการเรียกร้องสวัสดิการของพี่น้อง “ไรเดอร์” อาชีพอิสระที่ถือกำเนิดจากการขยายตัวของบริการออนดีมานด์ดีลิเวอรี่ อยู่บนพื้นที่สื่อมาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี โดยเฉพาะสถานะทางแรงงานที่มีสถานะเป็น “ฟรีแลนซ์” แต่ต้องทำงานภายใต้กฎและข้อบังคับของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พรเทพ ชัชวาลอมรกุล” นายกสมาคมไรเดอร์ไทย เกี่ยวกับอุปสรรคในการทำงาน และข้อเรียกร้องของไรเดอร์ในประเด็นต่าง ๆ ไปจนถึงเป้าหมายของสมาคม ที่ต้องการผลักดันให้ไรเดอร์มีตัวตนและสถานะไม่ต่างจากอาชีพอื่นที่มีสวัสดิการและเกณฑ์การให้ค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน

Q : อุปสรรคในการทำงาน

ปัญหาที่ไรเดอร์ส่วนใหญ่เจอในการวิ่งงาน คือการส่งงานของแต่ละแอปพลิเคชั่น บางแอปสามารถเลือกได้ว่าจะทำทั้งส่งคนและส่งของ หรือจะทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางแอปก็เลือกไม่ได้ เขาส่งงานอะไรมาให้ทำก็ต้องทำหมด เพราะถ้าเราปัดงานทิ้งหรือไม่รับงานนั้น จะมีโอกาสโดนแบนงานสูง

ซึ่งไรเดอร์แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนอยากรับแค่งานส่งของ เพราะไม่ต้องยุ่งยากเรื่องข้อกฎหมายหรือการเอารถไปขึ้นทะเบียนตามกฎของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็มีหลายเคสที่กำลังวิ่งงานส่งของกับอาหารอยู่ดี ๆ ต้องไปส่งคนด้วย ทีนี้บางคนเอากล่องส่งอาหารผูกกับท้ายรถไปแล้ว ไม่มีที่ให้คนนั่ง ผู้โดยสารก็ต้องช่วยแบกกล่องไปด้วย

อย่างเรื่องงานพ่วง (Batch) หรือการพ่วงหลาย ๆ ออร์เดอร์ในการส่ง 1 ครั้ง ก็เป็นปัญหามาเรื่อย ๆ พอเราไปส่งอาหารให้ลูกค้าช้า ลูกค้าก็ไม่พอใจ ตำหนิ และให้คะแนนเราน้อย ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเกิดจากระบบ ไม่ใช่งานของเรา หรืออย่างเรื่องค่ารอบของงานพ่วง เราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นธรรม เช่น ออร์เดอร์แรกค่ารอบ 40 บาท ออร์เดอร์ที่พ่วงมาได้ 15 บาท ซึ่งในความเป็นจริงเท่ากับเราวิ่ง 2 งาน ก็ควรได้ 80 บาทหรือเปล่า

หรือแม้แต่ระบบการส่งงานก็ยังมีบางอย่างที่ผมกับน้อง ๆ ไรเดอร์คนอื่น ๆ ตั้งข้อสงสัย เช่น วันนั้นผมวิ่งงานใกล้ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับโบนัส (Incentive) แล้ว ขาดอีก 2-3 งานเท่านั้น แต่ระบบไม่ส่งงานมาให้ ทั้ง ๆ ที่ตัวผมอยู่ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง จึงเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ ที่จะไม่มีงานเข้ามาเลย

ผมเคยทดสอบกับน้อง ๆ ไรเดอร์อีก 2-3 คน นั่งอยู่หน้าร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เปิดระบบรับงานพร้อมกัน สักพักมีน้องไรเดอร์คนใหม่เข้ามารับออร์เดอร์ที่ร้าน ผมก็เข้าไปคุยกับน้องคนนั้น น้องก็บอกว่าผมมารับงานพ่วง สรุปว่าคนที่นั่งอยู่หน้าร้านไม่มีใครได้งานเลยสักคน แปลกตรงที่แอปไม่ส่งงานให้ไรเดอร์ที่อยู่ใกล้ร้านมากที่สุดก่อน แต่กลับส่งให้ไรเดอร์ที่อยู่ไกล ๆ แทน

นอกจากปัญหาเรื่องการส่งงานและการแบนงาน ยังมีเรื่องข้อบังคับและบทลงโทษที่เข้มงวด ทั้ง ๆ ที่แอปบอกว่าเราเป็นแค่พาร์ตเนอร์คนขับ ไม่ใช่พนักงานประจำด้วยซ้ำ ไปจนถึงเรื่องการปรับค่ารอบที่มีแต่จะลดลงด้วย

Q : ความต่างของค่ารอบในอดีตและปัจจุบัน

ช่วงที่อาชีพไรเดอร์เกิดขึ้นใหม่ ๆ บางค่ายให้ค่ารอบประมาณ 80-100 บาท ซึ่งจะไม่ต่ำกว่านี้ แล้วก็จะมีการหักค่าบริการแอปหรือ GP (Gross Profit) ประมาณ 15% แต่ปัจจุบันทำกันมาหลายปีเหลือ 40-60 บาท บางพื้นที่เหลือ 28 บาท ในต่างจังหวัดเหลือ 12-15 บาท ส่วนแอปก็ยังหัก GP เท่าเดิม

ผมกล้าพูดเลยว่าเราเป็นอาชีพเดียวในไทยที่ทํางานเหนื่อยขึ้น หนักขึ้น แต่รายได้น้อยลง เมื่อก่อนเราทํางาน 6 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นก็ได้ 1,000 บาทแล้ว แต่ตอนนี้ต้องทําตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่มกว่าจะได้ 1,000 บาท ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายและค่าน้ำมันในการวิ่งงานของเราไปแล้ว

อย่างวันที่ 5 มี.ค. 2567 ไลน์แมน (LINE MAN) จะเริ่มใช้อัตราค่ารอบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แบ่งเป็น 3 พื้นที่หลัก 1.พื้นที่ธุรกิจกลางเมือง (สีแดง) เช่น บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ วัฒนา เริ่มต้น 43 บาท/ออร์เดอร์ 2.พื้นที่ธุรกิจ (สีส้ม) เช่น จตุจักร พญาไท พระโขนง พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี สาทร เริ่มต้น 36 บาท/ออร์เดอร์ และ 3.พื้นที่อื่น ๆ (สีเทา) เริ่มต้น 30 บาท/ออร์เดอร์

เขาค่อย ๆ ลดอัตราค่ารอบแบบป่าล้อมเมือง ก่อนหน้านี้ลดในต่างจังหวัดไปแล้ว ตอนนี้ถึงคิวของไรเดอร์ในกรุงเทพฯบ้าง

Q : การเรียกร้องค่ารอบกลาง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมพยายามผลักดันเรื่องค่ารอบกลางมาตลอด ทุกแอปพยายามแข่งขันเรื่องราคา เพื่อดึงให้ลูกค้ามาใช้งานแอปของตนเอง จนกระทบกับค่ารอบของไรเดอร์ที่ลดลง วิ่งส่งงานที่เดียวกัน แต่ได้ค่ารอบไม่เท่ากัน เพราะแต่ละแอปมีสูตรคำนวณของตนเอง

และเท่าที่ผมทราบ อย่างการส่งคนบางแอปใช้สูตรคำนวณระยะทางจากรัศมีวงกลม ทำให้ค่าโดยสารยิ่งไกลยิ่งถูกเมื่อเทียบกับใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ แต่ระยะทางที่แอปเอามาคิดไม่ใช่เส้นทางที่ใช้จริง เพราะความเป็นจริงเราขับรถตามรัศมีวงกลมไม่ได้ เส้นทางจริงต้องขับอ้อมอีกกี่ซอยก็ไม่รู้

หรือแม้แต่ตอนนี้ค่ารอบในต่างจังหวัดก็น้อยกว่าในกรุงเทพฯมาก ทั้ง ๆ ที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่ากินค่าอยู่ก็สูงไม่ต่างกัน จะดีกว่าไหมถ้ามีราคากลางคอยกำหนดเกณฑ์ค่ารอบ ขับแอปไหนก็ได้ค่ารอบเท่ากัน จากที่เคยแข่งขันด้านราคาก็ให้แต่ละแอปแข่งขันที่คุณภาพการบริการแทน

จริง ๆ เท่าที่ผมคุยกับไรเดอร์ส่วนใหญ่มา น้อง ๆ เขาไม่ได้ต้องการโบนัสวันละ 200-300 บาทขนาดนั้น เขาต้องการค่ารอบในการวิ่งงานที่สม่ำเสมอ วิ่งงานแต่ละรอบแล้วได้ค่ารอบเท่ากันมากกว่า

Q : เป้าหมายของสมาคม

ปัจจุบันจำนวนไรเดอร์ในประเทศไทยที่เรามีตัวเลขคร่าว ๆ ประมาณ 3-4 แสนคน อยู่กับแกร็บ (Grab) 2 แสน ไลน์แมน 1 แสน โรบินฮู้ด (Robinhood) 8 หมื่น แต่ไรเดอร์ 1 คนไม่ได้ขับแอปเดียว ก็ถัวเฉลี่ยไปตามจำนวนแอปที่มี ซึ่งไรเดอร์เกิน 60% ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักไปแล้ว

พอหลายคนประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก และมีการใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น เราก็อยากผลักดันให้ไรเดอร์มีตัวตนและสถานะทางอาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น คล้าย ๆ กับแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ที่มีการรับรอง มีป้ายระบุตัวตน มีเกณฑ์ค่าตอบแทนที่ชัดเจน เวลาเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะมีน้ำหนักกว่าตอนที่ทุกคนบอกว่าเราเป็นอาชีพอิสระ

ที่ผ่านมาการเรียกร้องหรือการประท้วงของเราก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น เรื่องกฎการแบนงาน บางกรณีก็ปรับบทลงโทษให้เบาลง จากที่แบนถาวรก็เหลือแค่ปิดระบบรับงานชั่วคราว 7-14 วัน รวมถึงได้ค่าชดเชยเวลาวิ่งงานไกล ๆ เกิน 5-10 กิโลเมตรที่เหมาะสมมากขึ้น แต่เชื่อว่าถ้าเรามีสถานะที่ชัดเจน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ จะได้รับการแก้ปัญหาดีกว่านี้

Q : สิ่งที่ต้องการฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ

สิ่งที่อยากฝากถึงภาครัฐคงจะเป็นเรื่องของการกำกับดูแลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ารอบกลางให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน สวัสดิการต่าง ๆ และสัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไรเดอร์และบริษัท ไปจนถึงการที่รัฐบาลจะพยายามทำแอปกลางออกมา เพื่อเป็นทางเลือกของไรเดอร์และประชาชน

นอกจากนี้ยังมีข้อบังคับจากพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่ค่อนข้างเก่า ซึ่งรวมข้อบังคับของไรเดอร์เข้าไปในหมวดของรถรับจ้างปกติ ทำให้ไรเดอร์ต้องใช้กฎเดียวกับวินมอเตอร์ไซค์ แต่บางอย่างเป็นข้อจำกัดของไรเดอร์ที่เอารถของตนเองมาขับ เช่น ขนาดเครื่องยนต์ต้องไม่เกิน 125 ซีซี รถต้องเป็นชื่อของตนเอง ไม่ติดไฟแนนซ์

ผมเคยสอบถามไปกับหน่วยงานภาครัฐว่าสามารถแก้ไขข้อบังคับต่าง ๆ ให้เข้ากับสมัยนี้ได้อย่างไรบ้าง ก็ได้คำตอบกลับมาว่าต้องรื้อทั้งฉบับ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เรื่องนี้เราเรียกร้องกันมานานแล้ว

เวลาที่ผมเข้าไปเรียกร้องกับหน่วยงานต่าง ๆ จะชอบมีการตอบกลับมาว่าแอปพวกนี้เพิ่งเข้ามาในไทยได้ไม่นาน ขอเวลาไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน แต่จริง ๆ แล้วแอปพวกนี้เข้าไทยมาเป็น 10 ปีแล้ว ปรับนู่นเติมนี่จนเปลี่ยนไปหมด จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งการทำงานในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง