คุยกับ นายกสมาคมไรเดอร์ ชำแหละปัญหาแอป “ฟู้ดดีลิเวอรี่”

พรเทพ ชัชวาลอมรกุล

“ไรเดอร์” น่าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีจากการเติบโตของบริการออนดีมานด์ดีลิเวอรี่ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ที่เฟื่องฟูอย่างมากตั้งแต่โควิด-19 นั่น ทำให้อาชีพบริการส่งอาหาร หรือ “ไรเดอร์” กลายเป็นอาชีพอิสระที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะความยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน และรายได้ ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากหันมาทำเป็นอาชีพเสริม และอีกไม่น้อยกลายเป็นอาชีพหลัก อีกทั้งขยายขอบเขตงานที่มากไปกว่ารับส่งอาหาร

“ไรเดอร์” กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อธุรกิจต่าง ๆ และวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองในฐานะผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่นกันกับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย ถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์คนขับ หรือ “ไรเดอร์” ก็ไม่สามารถส่งผ่านสิ่งต่าง ๆ ไปยังผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พรเทพ ชัชวาลอมรกุล” นายกสมาคมไรเดอร์ไทย เกี่ยวกับที่มาที่ไปในการจัดตั้งสมาคม และสารพันปัญหาการทำงานที่ “ไรเดอร์” ต้องเผชิญอันนำไปสู่การออกมาเรียกร้องสิทธิ และสวัสดิการต่าง ๆ ดังนี้

ที่มาของสมาคมไรเดอร์ไทย

นายพรเทพ ชัชวาลอมรกุล นายกสมาคมไรเดอร์ไทย เล่าถึงที่มาที่ไปของสมาคมไรเดอร์ไทยว่า ก่อนหน้านี้ ไรเดอร์มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์ก่อน เป็นกลุ่มคนที่ทำอาชีพไรเดอร์ตั้งขึ้นมาไว้พูดคุยกัน ใครมีปัญหาหรือมีเรื่องอะไรก็นำมาแชร์แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยส่วนตัวก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อนไรเดอร์ ทำให้ผันตนเองมาเป็น “ผู้ให้” การช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ในอาชีพนี้บ้าง

“ตอนนั้นผมประสบอุบัติเหตุโดนรถชนระหว่างทำงาน ก็ได้คนในกลุ่มไลน์ไรเดอร์ช่วยเหลือ เพราะบริษัทไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย ถ้าไม่มีเพื่อน ๆ ในกลุ่มนี้ผมคงลำบากมาก ตอนไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ได้คนในกลุ่มช่วยเหลือ เมื่อผมหายดีก็เลยช่วยคนอื่นบ้าง กลุ่มไลน์มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนเฟซบุ๊ก และเปิดเพจรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องไรเดอร์ทั่วราชอาณาจักร มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากจึงดำเนินการจัดตั้งสมาคมไรเดอร์ไทยขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือกับไรเดอร์ เราเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับการรับรองถูกต้องตามกฎหมาย”

ปัจจุบันสมาคมไรเดอร์ไทยมีสมาชิกหลายหมื่นคน

สารพัดปัญหา และภารกิจ

“พรเทพ” บอกว่า ภารกิจสำคัญในฐานะนายกสมาคมไรเดอร์ คือการสะท้อนปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเผชิญและหารือกับบริษัทต้นสังกัด และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนจาก “ไรเดอร์” มาโดยตลอด คือ เรื่อง “ค่ารอบ” ที่ไรเดอร์รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เวลาวิ่งงานไม่ว่าจะได้ค่ารอบกี่บาทก็หักค่า GP (gross profit) หรือส่วนแบ่งในการวิ่งแต่ละงาน 15-20% คือหักเท่านี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เมื่อ 8 ปีก่อน การวิ่งงานแต่ละรอบ ไรเดอร์ได้เงินมากกว่านี้ ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเราทำงานหนักขึ้น แต่ได้เงินค่าแรงน้อยลง เราถึงต้องการสู้ให้มีการกำหนดราคากลาง จะได้ไม่โดนเอารัดเอาเปรียบไปมากกว่านี้”

นอกจากเรื่องค่ารอบที่ไรเดอร์เรียกร้องกันมาอย่างยาวนานยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดสรรงานในแอปพลิเคชั่น ที่ทำให้ไรเดอร์ทำงานลำบากขึ้น เช่น มีการจัดสรรงานเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดเพื่อแลกกับการเปิดระบบให้รับงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นฟู้ดดีลิเวอรี่, การรับ-ส่งผู้โดยสาร และส่งของจากร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงการจองรอบงานในพื้นที่ แต่กลับไม่มีการประกันรายได้ให้กับไรเดอร์แต่อย่างใด

“น้อง ๆ บางคนอยู่แถวลาดกระบัง ถ้าอยากให้บริษัทเปิดระบบส่งอาหารให้ ก็จะต้องเข้ามาในเขตเมือง ถ้ามีงานแค่ 1-2 จ็อบก็ต้องตีรถเปล่ากลับบ้านวันละหลายกิโลเมตร ไรเดอร์ต้องวิ่งงานในโซนที่บริษัทกำหนดเพื่อเปิดระบบงานประเภทอื่น ๆ เช่น บ้านผมอยู่นนทบุรี ต้องเข้ามาวิ่งงานที่สยามทุกวัน หากอยากให้ระบบจัดสรรงานอื่นให้ด้วย หรืออย่างเรื่องการจองรอบ สมมุติว่า 7 โมงเช้า-บ่ายโมง เลือกโซนสยามไว้ เพราะคิดว่าจะมีการประกันรายได้ให้ แต่พอวิ่งมาถึงจริง ๆ ไม่มีงาน บางคนรอ 3 ชั่วโมง ไม่ได้งานสักตัว ออกนอกเขตก็ไม่ได้งาน เพราะระบบไม่ยิงงานให้ สรุปต้องตีรถเปล่ากลับเขตเดิมถึงจะมีงานขึ้นบนหน้าแอป เป็นต้น”

ระบบงานพ่วงเจ้าปัญหา

ล่าสุดกับระบบ “งานพ่วง” หรือ “งานแบตช์” (batch order) ที่แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ต่าง ๆ เริ่มนำมาใช้แจกจ่ายงาน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ในเวลานั้นบริษัทมองว่า ระบบงานพ่วงจะเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และช่วยให้ไรเดอร์จัดสรรเวลาในการส่งอาหารหลาย ๆ ออร์เดอร์ได้ดีขึ้น

แต่เมื่อนำมาใช้จริงในมุมของไรเดอร์มองว่านอกจากจะทำงานลำบากขึ้นแล้วยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าด้วย เพราะต้องรออาหารนานกว่าเดิม เนื่องจากระบบไม่ได้ซ้อนออร์เดอร์จากร้านเดียวกัน หรือร้านในพื้นที่ใกล้กัน แต่ซ้อนออร์เดอร์จากร้านที่อยู่ห่างกันพอสมควรมาให้ไรเดอร์วิ่งงาน

“สมมุติลูกค้าคนแรก สั่งชานมไข่มุกจากร้านแรก อยู่ดี ๆ มีงานแทรกเข้ามาให้ไปซื้อข้าวมันไก่อีกร้านที่ห่างกันมากให้ลูกค้าอีกคน ทำให้น้ำที่รับมาจากร้านแรกละลายระหว่างรอข้าวมันไก่ร้านที่สองนี่คือลักษณะของงานพ่วง ส่วนเรื่องรายได้ งานแรกจะได้ 40 บาท แต่งานที่สองที่ซ้อนเข้ามาได้ 17 บาท ถามว่าทำไมไรเดอร์ได้เงินแต่ละงานไม่เท่ากัน ในเมื่อถ้าปกติวิ่ง 2 งาน ต้องได้เงิน 80 บาท ขณะที่แอปหักค่า GP กับร้าน 35% ตามเดิม และเก็บค่าส่งจากลูกค้าแพงขึ้น แต่เงินที่ไรเดอร์ได้กลับน้อยลง ทั้ง ๆ ที่ต้องวิ่งงานไกลขึ้น แถมยังโดนลูกค้าบ่นว่าคุณภาพอาหารไม่ดี เพราะมาส่งช้า”

“พรเทพ” มองว่า ระบบงานพ่วงยังส่งผลกระทบต่อการรับงานทางอ้อมด้วย เพราะการส่งอาหารแบบซ้อนออร์เดอร์ ทำให้ลูกค้าต้องรออาหารนานขึ้นจนเกิดความไม่พอใจ และให้ “ดาว” หรือคะแนนกับ “ไรเดอร์” น้อยมาก ซึ่งระบบของบริษัทจะจดจำว่า ไรเดอร์รายนี้ให้บริการลูกค้าไม่ดี ทำให้โอกาสในการรับงานลดลง และนำไปสู่การปิดระบบรับงานในที่สุด

“ถ้างานแบตช์ที่บริษัทให้เป็นร้านเดียวกัน ไปทางเดียวกัน จะเร็วกว่าไหม แต่ทุกวันนี้ให้งานคนละร้าน ไปคนละทาง ทำให้ลูกค้ารับอาหารช้า ผลกระทบ
มาตกอยู่กับไรเดอร์ สิ่งเหล่านี้เราสู้มาตลอด บริษัทบอกเราว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข แรก ๆ ก็มีการปรับปรุงให้ร้านงานที่พ่วงมาอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้ ร้านที่หนึ่งกับร้านที่สองอยู่คนละพื้นที่กันเลยก็มี”

เรียกร้องความเป็นธรรม

แม้หลายปัญหาที่ “ไรเดอร์” เรียกร้องจะยังไม่ได้รับการแก้ไขจากบริษัทต้นสังกัดอย่างแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ทั้งหลาย แต่การรวมตัวเรียกร้องผ่านสมาคมไรเดอร์ไทยในแต่ละครั้งก็ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นได้บ้าง เช่น การแก้ปัญหาระบบแจ้งเตือนที่ไรเดอร์ต้องกดรับงานด้วยตนเอง ซึ่งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ในระหว่างเดินทาง ล่าสุดไปเรียกร้องกับ LINE MAN ทำให้ระบบงานเป็น “ออโต” สามารถยิงงานได้เลย โดยไม่ต้องมาคอยกดรับเองระหว่างขับรถ

หรือกรณีการแบนไรเดอร์ที่ยกเลิกงาน ในอดีตจะโดนแบนถาวร แต่ปัจจุบันจะเป็นการปิดระบบชั่วคราว 1-3 วันแทน

สมาคมไรเดอร์ไทยยังเรียกร้องสิทธิแรงงาน และสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย โดย “พรเทพ” กล่าวว่า การที่บริษัทมองไรเดอร์เป็นเพียง “พาร์ตเนอร์” หรือ “พนักงานอิสระ” ที่ทำงานให้บริษัทบางเวลา ทำให้ไม่ได้รับการชดเชยจากบริษัท กรณีประสบอุบัติเหตุ หรืออุปกรณ์เกิดความเสียหายขณะทำงาน

“ไรเดอร์ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย เพราะไม่ได้เป็นลูกจ้าง ไม่มีนายจ้าง เกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่ได้รับการชดเชย เราสู้เรื่องนี้มาตลอด เพราะบริษัทไม่เคยดูแลเราเลย ถ้ามีกรณีที่เป็นข่าวดังก็จะรีบมาดู แต่ถ้าไม่ดังก็ทำเงียบ ๆ ไป ถ้าบริษัทบอกว่า เราไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือนายจ้างกัน ทำไมต้องมาบังคับ และลงโทษเรา หรือแม้แต่ปิดระบบรับงานของเราด้วย”

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมไรเดอร์ไทยได้ทำหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิ และสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่มีอาชีพ “ไรเดอร์” ด้วย