5 สตรีทรงอิทธิพลในวงการเทคโนโลยีไทย

ส่องโปรไฟล์ 5 ผู้บริหารหญิงแวดวงเทคโนโลยีไทย ในวันสตรีสากล ด้านการเงิน สินค้าไอที แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริษัทที่ปรึกษาด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

วงการเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่องว่างของสัดส่วนแรงงานชายและหญิงเริ่มแคบลง แรงงานหญิงเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้น ตามรายงานของธนาคารโลกในปี 2023 แรงงานหญิงทั่วโลกที่ทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีน้อยกว่าหนึ่งในสามของแรงงานทั่วโลก

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จำนวนมาก ผู้หญิงคิดเป็น 35% ของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือที่ใช้ทักษะ STEM ในสหรัฐอเมริกา

WomenTech Network ระบุว่า ในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ผู้หญิงเป็นคนกลุ่มน้อย Amazon, Facebook, Apple, Google และ Microsoft สัดส่วนของพนักงานหญิงคือ 45%, 37%, 34%, 33% และ 33.1% ของพนักงานทั้งหมดตามลําดับ ในขณะที่ตําแหน่งระดับผู้บริหารหญิงมีอยู่ 29%, 34%, 31%, 28% และ 26% ตามลําดับ

เนื่องในวันสตรีสากล “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสตรีผู้มีบทบาทและทรงอิทธิพลต่อวงการเทคโนโลยีในประเทศไทย เป็นผู้บริหารหญิงมากฝีมือที่อยู่ในภาคส่วนสำคัญของวงการเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน สินค้าไอที แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

1.ปฐมา จันทรักษ์

“ปฐมา จันทรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เป็น 1 ในผู้บริหารหญิงที่ผ่านการร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่มาอย่างโชกโชน มีความโดดเด่นในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยี เป็นที่รู้จักในวงการไอทีอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

กรรมการผู้จัดการ Worldwide Corporate Accounts and Partner Sales and Software Asset Management and Compliance ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น

รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

และยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ปฐมา จันทรักษ์
ปฐมา จันทรักษ์

ในขณะที่ทำงานกับไอบีเอ็ม ก็มีการนำความเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนของ ไอบีเอ็ม มาผลักดันการใช้งานบล็อกเชนในภาครัฐ ทั้งการใช้งานในกรมศุลกากร เพื่อพัฒนาการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้การตรวจสอบสินค้าผิดกฎหมายและสินค้าหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาสนับสนุนกระบวนการขายพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพันธบัตรรัฐบาลแรกของโลกบนเทคโนโลยีบล็อกเชน

ล่าสุด ได้ร่วมงานกับบริษัท Accenture ประเทศไทย บริการเป็นที่ปรึกษาในด้านแผนกลยุทธ์ แผนธุรกิจ การปฏิบัติการ เทคโนโลยีและสารสนเทศต่าง ๆ

2.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ดีกรีปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัย Stanford

ร่วมงานกับ Sea เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ในตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) และได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2559

Sea Group เป็นบริษัทแม่ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมของชาวไทยอย่าง Shopee รวมถึงผู้นำเข้าเกมออนไลน์มาให้บริการอย่าง Garena ที่ตอนนี้ก็มีเกมยอดนิยมอย่าง Arena of Valor (RoV) และ Free Fire ให้บริการ

ก่อนร่วมงานกับ Sea มณีรัตน์มีประสบการณ์ในการบริหารงานการให้คำปรึกษาที่ The Boston Consulting Group ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552-2557

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

3.วรนุช เดชะไกศยะ

“วรนุช เดชะไกศยะ” Executive Chairman กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่งเป็นปีกเทคโนโลยีของเครือธนาคารกสิกรฯ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีหลักและค้นหานวัตกรรมตอบสนองนโยบายธนาคาร ตัวอย่างเช่น โมบายแบงกิ้งของธนาคาร คือ K+ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีปัญหาน้อยที่สุดในปีที่ผ่านมา และยังสามารถขยายออกไปยังประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ด้วยการรวบรวมเอากำลังพลด้านเทคโนโลยีจากทั่วภูมิภาคมาไว้ในร่มเงาของ KBTG

“วรนุช” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สถิติ) และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัท จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officer SEA/IT Regional Head)

เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปฏิบัติการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Information Technology and Operations ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

เคยได้รับรางวัลผู้บริหารด้านเทคโนโลยีดีเด่นระดับอาเซียน “CIO50 ASEAN 2019” หมายเลข 1 (Ranked #1) จัดโดย International Data Group (IDG) บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก รวมถึงได้รับรางวัล The Chief Information and Technology of the Year 2019 จาก The Asian Banker และดำรงตำแหน่งประธานชมรม CIO ของสมาคมธนาคารไทย (Thai Bankers’ Associations) ในปี 2562-2563

วรนุช เดชะไกศยะ

4.มนสินี นาคปนันท์

“มนสินี นาคปนันท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด หรือที่เราคุ้นเคยคือแพลตฟอร์ม “ทรู มันนี่” อีวอลเลตยอดนิยมของไทย ที่ตอนนี้ทำให้บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ กลายเป็น “ยูนิคอร์น” เมื่อ 2 ปีก่อน ยกสถานะเป็นสตาร์ตอัพ “ยูนิคอร์น” ไปแล้วเรียบร้อย หลังได้เงินลงทุนซีรีส์ C มูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเครือ ซี.พี. ตอนนี้ “ทรูมันนี่” ให้บริการทางการเงินระดับภูมิภาคที่มีผู้ใช้งานเกิน 100 ล้านคนไปแล้ว และยังมีภารกิจท้าทายที่จะเริ่มในปีนี้ คือ การนำท้าชิงใบอนุญาต Virtual Bank

“มนสินี” จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ เอกไฟฟ้าสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท MBA, สถาบัน MIT ผ่านการร่วมงานกับ Intel Corporation ที่สหรัฐอเมริกา และเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของกลุ่มทรู เมื่อหลายปีก่อนในชื่อ Weloveshopping จนเป็นที่รู้จัก

มนสินี นาคปนันท์

5.สุธิดา มงคลสุธี

“สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มักมีสมญานามตามหน้าสื่อว่า “ราชินีแห่งไอที” ที่สินค้าไอทีตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกม อุปกรณ์ไอโอที จนถึงคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่มีขายในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งล้วนผ่านการบริหารของ “ซินเน็ค” ในฐานะดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ของไทย

ผลงานปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขายและให้บริการสินค้า-โซลูชั่นไอที  36,554 ล้านบาท กําไร 513 ล้านบาท

“สุธิดา” จบการศึกษา ปริญญาโทสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ Queen Mary University of London ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีบริหารบัณฑิตสาขาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับช่วงการบริหาร “ซินเน็ค” ต่อจากคุณพ่อ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ซึ่งผันตัวเข้าสู่การทำงานการเมืองในตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย