สหฟาร์ม ผงาดส่งออกไก่ เป็นรองแค่ซีพี-กำไร 3 พันล้าน

สหฟาร์ม

สหฟาร์มเตรียมกลับมาผงาด 8 เดือนแรกปี 2565 กำไร 3,000 ล้านบาท หลังเร่งส่งออกไก่สด-ไก่ปรุงสุกเป็นที่สองรองจากเครือเจริญโภคภัณฑ์

การกลับมาของตระกูลโชติเทวัญ เพื่อกุมบังเหียนบริษัท สหฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ในอดีต หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง “ยกเลิก” การฟื้นฟูกิจการตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ได้สร้างความปีติยินดีให้กับ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท สหฟาร์ม และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส

ดร.ปัญญา ในวัย 90 ปี เห็นถึงโอกาสที่ตระกูลโชติเทวัญ จะนำพาธุรกิจไก่เนื้อกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง โดย ดร.ปัญญาได้กล่าวในงานทำบุญเลี้ยงพระและพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ถนนนวมินทร์ กทม. เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ความว่า…

“วันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และผมจะไม่พูดเรื่องอดีตอีกต่อไป ผมจะพูดแต่เรื่องอนาคต วันนี้อนาคตไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องต่อสู้และต้องเข้มแข็ง และต้องมีประสิทธิภาพทุกคน วันนี้เราต้องใช้ความคิดและสติปัญญาของเราอย่างเต็มความสามารถ เราจึงจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงได้ ขออวยพรให้ทุกคนโชคดี มีความสุข”

สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตที่ “สหฟาร์ม” จะไปต่อนั้น ไม่ใช่เรื่องในภาวะปกติ แต่เป็นการแข่งขันทั้งกับตัวเองและบริษัทคู่แข่ง หลังจากที่สหฟาร์มต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การกำกับของแบงก์มาอย่างยาวนานถึง 7 ปี

นางสาวจารุวรรณ โชติเทวัญ หรือคุณน้ำผึ้ง บุตรสาวของ ดร.ปัญญา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหาร บริษัท สหฟาร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มบริษัทสหฟาร์มกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในองค์กร มีการวางตำแหน่งบริหารงานต่าง ๆ หลังจากที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการมาถึง 7 ปี “เราคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มากนัก”

แต่การกลับเข้ามาบริหารกิจการในช่วงปี 2565 ถือเป็นช่วงที่ตลาดเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาก โดยกลุ่มสหฟาร์มมียอดรายได้จากการส่งออกไก่สดและไก่ปรุงสุกช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2565 ปรากฏบริษัทมีกำไรประมาณ 3,000 ล้านบาท ถือเป็นยอดรายได้จากการส่งออก 100% โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น, ยุโรป, เกาหลี มีวัตถุดิบหลักมาจากโรงเชือดไก่ 2 แห่งที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กับ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ สามารถผลิตไก่เข้าเชือดได้รวมประมาณ 400,000 ตัวต่อวัน

ส่งออกไก่เบอร์ 2 ของประเทศ

แหล่งข่าวในวงการปศุสัตว์กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มสหฟาร์มมีปริมาณการส่งออกไก่สดและไก่ปรุงสุก ประมาณ 120,000 ตัน/ปี ถือเป็นเบอร์ 2 รองจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ตามมาด้วยอันดับ 3 คือ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์), บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป, เครือเบทาโกร และกลุ่มบริษัท GFPT การกลับมาของตระกูลโชติเทวัญ ครั้งนี้ เป็นที่จับตาของวงการผู้ส่งออกไก่

เนื่องจากในอดีตก่อนที่ “สหฟาร์ม” จะเข้าสู่แผนฟื้นฟู ดร.ปัญญา เคยนำกลุ่มสหฟาร์มขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของประเทศมาแล้ว โดยแซงหน้าเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ปัจจุบันการที่จะขยายกิจการคงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะภาวะราคาอาหารสัตว์ค่อนข้างสูง ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการขึ้นค่าแรงด้วย

“ปี 2564 บริษัทส่งออกไก่หลายบริษัทประสบภาวะขาดทุน แต่พอขึ้นปี 2565 ครึ่งปีแรกของปีนี้ราคาไก่ส่งออกดีมาก เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 3,700 เหรียญ/ตัน เพราะเกิดวิกฤตด้านอาหาร ไก่ขาดทั่วโลก แต่ช่วงนี้ราคาได้ปรับลงมาประมาณ 3,400 เหรียญ/ตัน แต่ก็ถือว่าราคาไก่ยังดีอยู่มาก เพราะปกติราคาส่งออกไก่จะเฉลี่ยประมาณ 2,800 เหรียญ/ตัน ทำให้กลุ่มสหฟาร์มสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

งบการเงินปี 2564

สำหรับผลประกอบการล่าสุดของบริษัท สหฟาร์ม กับบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส ได้ยื่นงบการเงินปี 2564 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในส่วนของบริษัท สหฟาร์ม มีสินทรัพย์รวม 7,230.97 ล้านบาท หนี้สินรวม 13,138.58 ล้านบาท

มีรายได้จากการขาย 18,003.98 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 147.97 ล้านบาท ส่วนบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส มีสินทรัพย์รวม 6,610.98 ล้านบาท หนี้สินรวม 12,664.96 ล้านบาท มีรายได้จากการขาย 17,478.22 ล้านบาท โดยผลประกอบการยังขาดทุนสุทธิอยู่ -119.80 ล้านบาท