อุบลฯแก้วิกฤตน้ำท่วม ชง 5 โครงการ อัดงบฯ 3 พันล้าน

น้ำท่วม

จังหวัดอุบลราชธานีเปรียบเหมือนปราการด่านสุดท้ายรับน้ำจากภาคอีสาน ก่อนมวลน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง และเป็นปลายทางที่มักประสบปัญหาอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่รอบด้าน โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมา

ซึ่งถือว่าหนักสุดในรอบ 44 ปี น้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร วิกฤตเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้มาก จนทำให้เมืองอุบลราชธานีเกือบจะกลายเป็นเกาะกลางน้ำ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวน 21 อำเภอ รวม 108,253 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 368,825 ไร่

“มงคล จุลทัศน์” หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด ไม่ใช่น้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นน้ำมาจากหลายจังหวัดทั่วภาคอีสานไหลมารวมกัน ท่วมใหญ่ตั้งแต่ปี 2545, 2554, 2562 และ 2565 ดังนั้น ในอนาคตต้องเตรียมแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

คลองระบายไม่คืบหน้า

“มงคล” เล่าว่า เมื่อเกิดน้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งถือเป็นเมืองคู่แฝดกันมักประสบปัญหามากกว่าทุกพื้นที่ เพราะคนนับหมื่นไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ สถานีรถไฟจากกรุงเทพฯที่มาสิ้นสุดใน อ.วารินชำราบ จะอาศัยเดินทางต่อเข้าเมือง

หรือไป สปป.ลาว ไม่ได้ เหมือนเส้นทางถูกตัดขาดทั้งหมด ยกตัวอย่าง ผลกระทบในธุรกิจและทางเศรษฐกิจปี 2562 รวมมูลค่ากว่า 5,800 ล้านบาท ล่าสุดปี 2565 ไม่น่าจะต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ดังนั้น จำเป็นต้องมีโครงการเข้ามาแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว

ที่ผ่านมามีโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรมชลประทาน คือโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำระยะทาง 97 กิโลเมตร เพื่อทำคลองระบายน้ำจากแม่น้ำมูลผ่านเมืองอุบลราชธานีไปลงแม่น้ำโขง เพื่อให้น้ำไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ซึ่งได้ศึกษาและวางงบประมาณไว้ประมาณ 45,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้ไปเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาท่อระบายน้ำ การเพาะปลูกกสิกรรมด้วย ทำให้เมื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำประชามติร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง และชาวบ้านในพื้นที่ กลับมีความขัดแย้งกันมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินและผลกระทบพื้นที่ข้างเคียง ประเด็นนี้ยังพูดคุยกันในเวทีประชุมเป็นระยะ จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ แต่จะต้องเร่งหาทางออกให้ได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน มีโครงการที่น่าจะผ่านการพิจารณาและแก้ปัญหาได้เร็วกว่า โดยทางหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการของแขวงการทาง กรมทางหลวง ผลักดันโครงการขยายวงแหวนตะวันออกให้ครบ 4 เลน ซึ่งเป็นโครงการที่รออนุมัติงบประมาณ และทางหอการค้าจังหวัดได้ขอโครงการเพิ่มเติมอีก รวมแล้วมี 5 โครงการ ได้แก่

1.โครงการกิจกรรมฟื้นฟูทางหลวงที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทางหลวงหมายเลข 24 ตอน เดชอุดม-อุบลราชธานี (หาดสวนยา) 450 ล้านบาท 2.โครงการยกระดับถนนวงแหวนรอบเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 800 ล้านบาท

3.โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 231 ตอนถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีด้านทิศตะวันออก 550 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร 600 ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้างทางแยกต่าง ระดับโนนหงษ์ทอง 600 ล้านบาท (ดูรายละเอียดในตาราง)

ตาราง ข้อเสนองบประมาณ

เดินหน้า 5 โครงการ 3 พันล้าน

“มงคล” บอกว่าทั้ง 5 โครงการเป็นแผนการแก้ปัญหาระยะยาวนอกเหนือจากโครงการของกรมชลประทาน รวมงบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีทำหนังสือผ่านการประชุมหอการค้าไทยครั้งที่ 40 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ซึ่งจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการเป็นอันดับแรก เช่น ทำสะพานยกระดับ หรือบางจุดอาจจะยกระดับพื้นขึ้นสูงกว่าเดิม รวมถึงการขยายช่องการจราจร แล้วแต่บริบทของแต่ละพื้นที่จะช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน แต่ก็มีโครงการที่ออกแบบและประเมินงบประมาณไว้แล้ว รอเพียงงบประมาณมา เริ่มโครงการได้ในปีนี้ และมีโครงการที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อนอีกหลายส่วน

“เราคาดหวังกับโครงการงบประมาณ 3,000 ล้านบาทนี้พอสมควร ประชาชนในพื้นที่ก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก คิดว่าในปี 2566 นี้ น่าจะได้โครงการที่อนุมัติไว้แล้ว คือโครงการที่ 3 และ 4 รวม 1,150 ล้านบาท ถ้าโครงการเกิดจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจการค้าไม่ต้องสูญเสียเวลาช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม”

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น เบื้องต้นคือการบูรณาการช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทหาร พร้อมวางจุดที่พักและจัดสรรสร้างศูนย์อพยพให้เป็นสัดส่วน ภายใต้ข้อจำกัดช่วงน้ำท่วม ถือว่าช่วยบรรเทาไปได้บ้าง ส่วนแผนระยะกลางอาจจะต้องของบประมาณจากทางจังหวัดอุบลฯเพื่อขยายถนนให้มีพื้นที่การเดินทางมากขึ้น และอาจจะของบประมาณพิเศษเพื่อทำสะพานยกระดับตามจุดต่าง ๆ

หวังภาครัฐ-นักการเมืองช่วยดัน

ทั้งนี้ มีประเด็นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเข้ามา กังวลอยู่ว่าโครงการที่จังหวัดอุบลราชธานีเสนอไว้จะสะดุด แต่เชื่อว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเข้ามาบริหารประเทศจะคำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก

และนักการเมืองของอุบลราชธานีทั้ง 11 เขต จาก 1.8 ล้านเสียงก็น่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ เพราะน้ำท่วมถือว่าสร้างผลกระทบให้กับประชาชนมากเกินกว่าครึ่ง นักการเมืองท้องถิ่นคงเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี

“ตอนนี้คนอุบลราชธานีไม่กลัวเรื่องโควิด-19 ที่คลี่คลายลงแล้ว แต่มีความตื่นตัวในเรื่องการเมืองสูงมาก ทุกภาคส่วนลงพื้นที่หาเสียง เปิดการแข่งขันกันอย่างเสรี และยังมีเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจที่เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติสนใจ อยากเป็นเมืองคู่แห่งการค้าขายด้วย ประเทศรอบข้างจะมีกิจกรรมเชื่อมโยงกับเรามากขึ้น การค้าชายแดนตัวเลขเราก็ไม่เคยลดลง น่าจะเป็นโอกาสสำหรับพัฒนาเมืองต่อไปได้”

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และผ่านพ้นจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 มาถึงช่วงฟื้นฟูในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทยอยกลับมาเป็นปกติ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันเริ่มคึกคัก

เช่น งานวิ่ง Ubon Solar Night Run 2023 บริเวณเขื่อนสิรินธรที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังได้ตั้งธงฉลอง 231 ปี อุบลราชธานี โดยให้แต่ละภาคส่วนจัดกิจกรรมอีเวนต์ทุกเดือนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย