รัตนากร ชูรายได้ 3 พันล้าน เร่งลงทุนรับท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น

จักรรัตน์ เรืองรัตนากร
จักรรัตน์ เรืองรัตนากร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาสดใส คนต่างชาติทยอยมาเที่ยวประเทศไทยกันอย่างคึกคัก “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “จักรรัตน์ เรืองรัตนากร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมในเครือกว่า 12 แห่ง ทั้งในพัทยา ภูเก็ต สมุย และธุรกิจในเครือกว่า 40 บริษัท ถึงทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการลงทุนของกลุ่มในช่วงปี 2566 ว่า

ภาพรวมรายได้ของกลุ่มรัตนากร ปี 2562 มีรายได้รวม 2,800 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,550 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 2,170 ล้านบาท ปี 2564 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,298 ล้านบาท ปี 2565 รายได้พุ่งขึ้นมา 2,768 ล้านบาท เฉพาะกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,473 ล้านบาท ถือว่ากลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 แล้ว

ขณะที่ต้นทุนทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าครองชีพ และดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น คาดการณ์ปี 2566 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำรายได้ให้ถึง 3,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,800 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ของกลุ่มรัตนากรทั้งหมด

ช่วงโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มรัตนากรได้เข้าซื้อที่ดิน โรงงาน โรงแรม คลังสินค้า เข้ามาจำนวนมากตั้งแต่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย กระบี่ พังงา ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคาต่ำสุด ปัจจุบันได้กำไร 3-5 เท่าแล้ว ตอนนี้เริ่มปรับปรุงกิจการที่ซื้อมาเพื่อเปิดให้บริการ

ฟื้น 12 โรงแรมรับท่องเที่ยว

ปัจจุบันในเครือรัตนากรมีโรงแรม 12 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 3 แห่งที่ซื้อช่วงโควิด-19 มีโรงแรมจัสมิน พัทยาใต้ จ.ชลบุรี ซื้อมาช่วงปี 2563 ตอนนี้ปิดปรับปรุง จะเปิดบริการได้ปี 2567 รวมถึงโรงแรมเดอะ ลอฟท์ สมุย หาดเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี และโรงแรมเดอะ เทรนด์ กมลา จ.ภูเก็ต ซื้อมาช่วงโควิดเช่นกัน ตอนนี้ปิดปรับปรุง เตรียมรีโนเวตใหญ่ จะกลับมาเปิดให้บริการประมาณปี 2567 หรือ 2568

ส่วนโรงแรมเดิม 7 แห่งใน จ.ชลบุรี ที่ช่วงโควิดเปลี่ยนไปทำเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ตอนนี้ลูกค้าเริ่มกลับมาทั้งวอล์กอิน ออนไลน์ จึงกลับมาเปิดเป็นโรงแรมรายวันปกติแล้ว ได้แก่ 1.อาร์-คอน เรสซิเดนซ์ 2.อาร์-คอน บลูโอเชี่ยน 3.อาร์-คอน ซี เทอเรซ 4.โซ บูทิค (อาร์-คอน เรสท์ซี) 5.อาร์-คอน แอท สยาม 6.ซีเลย์รีสอร์ท เกาะล้าน 7.โรงแรมอาร์-คอน วงศ์อมาตย์ มี 450 ห้อง แบ่งเป็นห้องเช่ารายเดือน 200 ห้อง ที่เหลือกลับมาทำโรงแรม

มีโรงแรมใหม่อีก 2 แห่งคือ ซีทาดีนส์ จอมเทียน บีช (Citadines) และซีทาดีนส์พัทยาเหนือ ได้ชะลอการเปิดในช่วงโควิด-19 จะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนนี้

ทุ่ม 3 พันล้านผุด 3 โรงแรมใหม่

นอกจากนี้ มีแผนลงทุนสร้างโรงแรมใหม่อีก 3 แห่ง มูลค่า 3,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดิน ตอนนี้ทั้ง 3 แห่ง อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.โรงแรม 5 ดาว ขนาด 350 ห้องบริเวณปลายแหลมปะการัง เขาหลัก จ.พังงา มูลค่า 1,200 ล้านบาท หากใบอนุญาตสิ่งแวดล้อมผ่าน จะเริ่มก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการได้ปลายปี 2569 หรือต้นปี 2570

2.โรงแรม 4 ดาว+ ขนาด 200 ห้อง เกาะล้าน จ.ชลบุรี มูลค่า 1,000 ล้านบาท หากผ่านเรื่องสิ่งแวดล้อม จะก่อสร้างปี 2567 ใช้เวลา 3 ปี จะเปิดบริการได้กลางหรือปลายปี 2570

3.โรงแรม 3 ดาว+ ขนาด 300 ห้อง ที่พัทยากลาง มูลค่า 750 ล้านบาท จะก่อสร้างปี 2567 จะเปิดบริการได้ปี 2569 พอจบรอบนี้จะเตรียมรีโนเวตโรงแรมเก่าทั้งหมดปี 2568

ภาพรวมของธุรกิจโรงแรม ตอนนี้ลูกค้าเริ่มกลับมา แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้มีการแข่งขันกันดุเดือดรุนแรงและเข้มข้นมาก โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบอันดับแรกคือ การหั่นราคาห้องพักลงมาทั้งโรงแรม คอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ รวมถึงวิลล่าต่าง ๆ เช่น โรงแรม 5 ดาวรับนักท่องเที่ยวในราคาโรงแรม 4 ดาว ส่วน 4 ดาวลดราคาลงมาเท่า 3 ดาว และ 3 ดาวลดเหลือราคา 2 ดาว ส่วนโรงแรม 2 ดาวลงไปไม่มีแขก

ขณะที่ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นทุกตัว ทั้งค่าบริการ อาหาร เครื่องดื่ม ค่าไฟ ดอกเบี้ยขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ และยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ถ้าคิดรายได้กับต้นทุนตอนนี้ถือว่าเปลี่ยนจากติดลบมาเป็นพอมีกำไรบ้าง ซึ่งทุกคนหวังว่าปี 2566 นี้ทุกอย่างจะดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามามากขึ้น คาดการณ์ว่าปี 2567 น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

คาดธุรกิจอสังหาฯปี’67 กระเตื้อง

ช่วงโควิด-19 ปี 2563-2565 พยายามเปิดโครงการใหม่ 2-3 โครงการ ปี 2566 จะเปิด 11 โครงการใหม่แนวราบทั้งหมดในเขตพื้นที่พัทยา จะสร้างทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น บ้านแฝด 1-2 ชั้น ขนาดเล็กสุด 18 ตร.ว. ถัดมา 35 ตร.ว.

และ 45 ตร.ว.ขึ้นไป พื้นที่ 15-30 ไร่/โครงการ แบ่งทำ 10 ไร่ในแต่ละเฟส ราคาแต่ละโครงการไม่เท่ากัน ราคาเริ่มต้นต่ำสุด 2 ล้านบาท สูงสุด 10 ล้านบาท แต่ราคาเฉลี่ยมากที่สุด 3-5 ล้านบาท โดยบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ธนาคารจะไม่ปล่อยกู้เลย

ตอนนี้ทั้ง 11 โครงการอยู่ในขั้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 คาดหวังว่าในปี 2567 สถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนคอนโดฯที่มีเหลืออยู่เพียง 500 ยูนิต ถือว่าตลาดคอนโดฯแข่งขันดุเดือดมาก นับตั้งแต่ปี 2562-2566 เกิดสถานการณ์คอนโดฯเก่าขายไม่หมด โครงการใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา ขายกันทุกรูปแบบ

ซึ่งปกติคอนโดฯจะขายเพื่อการลงทุน แต่ดอกเบี้ยขึ้นคนก็ไม่ซื้อ ที่ซื้อไปแล้วผลตอบแทนน้อยก็ไม่ซื้ออีก ถือว่าตลาดคอนโดฯไม่ดีเลย

“เรามีที่ดินทำโครงการทั่วภาคตะวันออก ทั้งชลบุรี ระยอง แต่ยังไม่ทำทั้งหมด เรามองว่าตลาดกำลังจะฟื้นแล้ว โดยดูจากภาพรวมการท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม จะเป็นต่างชาติ คนไทยที่ย้ายมาอยู่พัทยา บ้านหลังที่สองคนกรุงเทพฯ”

“และคนท้องที่ ซึ่งเราขายให้ผู้ที่อยู่จริงไม่ใช่ผู้ที่ซื้อเก็งกำไร จะไม่พยายามไปแตะกลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุน เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างเหนื่อย กลุ่มนี้ไม่มีความจำเป็นในการซื้อมากนัก ถ้าดอกเบี้ยขึ้นกลุ่มนี้จะมีปัญหา”

ตอนนี้แบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อมาก ปี 2563 ยังมีมาตรการรัฐและซอฟต์โลนช่วย ปี 2564 ยังช่วยอยู่ แต่ช่วยน้อยและเริ่มเลือกลูกค้า ปี 2565 ไม่ช่วยเลยและไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม สถานการณ์กลับไปคล้ายกับปี 2540 แต่ปี 2566 ธนาคารอยากปล่อยสินเชื่อ แต่ตอนนี้ทั้งบ้านและคอนโดฯโดนแบงก์ยึด ไฟแนนซ์ยึด คนร้อนเงินอยากขาย ทำให้มาตัดราคาบ้านมือหนึ่ง ก็ขายได้ยากขึ้น ตัดราคา 20-50% ก็มี

ส่วนกำลังซื้อจากต่างชาติเข้า ยังไม่เห็นทั้งจีน รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ยุโรป ที่ จ.ภูเก็ตมีกระแสคนรัสเซียมาซื้อพูลวิลล่าแต่ยังไม่เห็นของจริง

ธุรกิจปุ๋ย-ตลาดกลางเติบโตพุ่ง

ด้านธุรกิจโรงงานผลิตปุ๋ยตรามุกมังกร ยอดขายทะลุเป้า โดยปี 2564 ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ปี 2565 ประมาณ 2,200 ล้านบาท และคิดว่าปี 2566 น่าจะโตขึ้นเพิ่ม 25% ในปีนี้ออร์เดอร์ปุ๋ยมีล้านกว่าตันแต่ผลิตไม่ทัน เพราะปัจจุบันโรงงาน 3 แห่งผลิตได้เพียง 180,000 ตัน

ขณะเดียวกันกำลังเร่งก่อสร้างโรงงาน 3 แห่งใหม่ จะได้กำลังการผลิตเพิ่มอีกประมาณ 200,000 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ธุรกิจตลาดกลางระดับภูมิภาค ตอนนี้มี 14 ตลาด รวมจำนวน 26,000 แผง เปิดตลาดล่าสุดที่ อ.บ่อวิน จ.ระยอง “ตลาดกลางรัตนากร มาบยางพร” บนเนื้อที่เกือบ 40 ไร่ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรัตนากร มี 4,500 แผง และภายในปี 2566-2567 จะเปิดเพิ่มอีก 3 ตลาดที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และเพิ่มตลาดที่ จ.ชลบุรีอีก ธุรกิจตลาดแม้ในช่วงโควิด-19 ก็อยู่ได้ และแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะมาร์จิ้นสูง

จุดเด่นตลาดของเราคือ ทำเลที่ตั้งและการบริหารจัดการที่ดี ช่วยจัดโปรโมชั่นให้ผู้ค้าเป็นระยะ ทำกลยุทธ์ทางการตลาดคล้ายห้างสรรพสินค้า เรามีทีมออกไปหาลูกค้าให้พ่อค้า-แม่ค้าด้วย และช่วยหาสินค้าให้ กล้าพูดได้เลยว่าเราเป็นเจ้าของตลาดรวม 14 แห่งมากที่สุดในประเทศไทย จุดแข็งคือ มีสินค้าอยู่ในมือจากเกษตรกรโดยตรง ส่งถึงมือผู้ซื้อและผู้ขาย

ธุรกิจคลังสินค้า

ขณะที่ธุรกิจคลังสินค้า ที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่เป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท FLS ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ปัจจุบันคลังสินค้าแห่งแรก 10,000 ตร.ม. เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2565

และกำลังขยายคลังแห่งที่ 2 อีก 30,000 ตร.ม. และจะแบ่งทำคลังห้องเย็นรับสินค้า food grade ด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2566 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่จากต่างชาติ มีทั้งทำธุรกิจปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ฯลฯ

ในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 2 แสน ตร.ม. ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายในปี 2568 ทั้งในนิคมมาบตาพุด ระยอง บ่อวิน แหลมฉบัง อมตะฯ

โดยแต่ละแห่งมีพื้นที่ประมาณ 5-8 หมื่น ตร.ม. รวมจะเปิดเพิ่มอีก 5 คลังสินค้า ทั้งนี้ ในตลาดคลังสินค้าถือว่าแข่งดุเดือดเหมือนกัน แต่อัตราค่าบริการดีกว่าโรงแรม และขึ้นอยู่กับว่าจะจับลูกค้ากลุ่มไหน แต่เราจับกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม

“จุดแข็งของเราคือ มีลูกค้าพรีเมี่ยม ให้บริการลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ดูแลรับของจนถึงส่งครบวงจร มีทั้งรถของเราเองและเอาต์ซอร์ซ”