ค้าปลีกค้าส่งต่างจังหวัดลุยจัดโปรฯ สู้สาขา “บิ๊กแบรนด์” แย่งลูกค้า

ค้าปลีกภูธร

ค้าปลีกค้าส่งภูธร โอดเหนื่อยหนัก หลังค่ายยักษ์ดาหน้าขยายสาขาบุกต่างจังหวัด แถมโดน “ถูกดี-โดนใจ” แย่งโชห่วยเป็นพวก ดิ้นปรับตัวสู้ศึก ผนึกกำลังซัพพลายเออร์อัดโปรโมชั่นดึงลูกค้า จัด “โลคอลโลว์คอสต์” ตลอดทั้งปี ทุกเดือนที่ 2 ของไตรมาส ดีเดย์ กุมภา 2567

“เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ” สำนวนไทยนี้ เปรียบได้กับอุณหภูมิการแข่งขันในธุรกิจปลีกค้าส่งในต่างจังหวัดที่ร้อนระอุขึ้นอย่างหนัก ท่ามกลางเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ซบเซา

เมื่อทุนใหญ่จากส่วนกลางต่างทุ่มเม็ดเงินขยายสาขาทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ลงไปเจาะตลาดทั่วทุกหัวระแหงอย่างหนักหน่วง และแตกย่อยลงมาเล่นในทุกเซ็กเมนต์ทั้ง แม็คโคร โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในเครือ ซี.พี. ที่มีทั่วประเทศเกือบ 15,000 สาขา ขณะที่ บิ๊กซี ที่อยูใต้ร่มเงาของบีเจซี ก็เดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ เซ็นทรัล รีเทล หรือซีอาร์ซี นอกจากจะมีแบรนด์ ท็อปส์ ทั้งท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ด ท็อปส์ ฟู้ดฮอลล์ และเดลี่ ท็อปส์ ล่าสุดกับ โก โฮลเซล ธุรกิจค้าส่งที่ตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 50 สาขา ภายใน 5 ปี รวมถึงการเคลื่อนทัพของคาราบาวกรุ๊ป ที่ปูพรมสาขาทั้งซีเจ มอร์ และขยายเครือข่ายร้านโชห่วย “ถูกดีมีมาตรฐาน” อย่างหนักหน่วง

ทุนใหญ่บุกค้าปลีกภูธรกระอัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจตลาดค้าส่งค้าปลีกในภูธรหลายจังหวัด โดยผู้ประกอบการหลาย ๆ รายกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบจากการขยายธุรกิจทั้งโมเดลที่เป็นสาขาขนาดใหญ่ และสาขาที่เป็นร้านสะดวกซื้อของผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในต่างจังหวัดต่างก็ปรับตัวอยู่รอดกันมาได้

และล่าสุดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากการถูกรุกคืบของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ของกลุ่มคาราบาว และร้านโดนใจ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ทยอยเปิดเกมในการดึงร้านค้าโชห่วยเข้าเป็นเครือข่าย ด้วยการเสนอสินค้า พัฒนาระบบ ให้ป้ายชื่อร้านค้าใหม่ ซึ่งทำให้มีร้านโชห่วยจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าเป็นเครือข่ายของถูกดี และร้านโดนใจแต่ก็มีร้านค้าจำนวนหนึ่งที่ถอนตัวออกมาหลังจากที่เข้าร่วมเครือข่ายมาระยะหนึ่ง

งัด “โลคอลโลว์คอสต์” สู้

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งในจังหวัดอุดรธานี ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 80 ปี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการรุกคืบของค้ารายใหญ่ที่มีการขยายสาขาต่าง ๆ ต่อเนื่องในทุกโมเดล ทั้งที่เป็นสาขาขนาดใหญ่ สาขาขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในภูธรต้องปรับตัวและรวมพลังสู้ ยกตัวอย่าง โปรเจ็กต์ “โลคอลโลว์คอสต์” ที่เป็นการผนึกกำลังของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในต่างจังหวัด ที่มีการประสานกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ ในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

“สาเหตุที่ซัพพลายเออร์หนุนห้างภูธรให้ลุกขึ้นมาท้ารบกับทุนส่วนกลาง เพราะซัพพลายเออร์เองต้องบาลานซ์น้ำหนักระหว่างการขายสินค้าให้ยักษ์โมเดิร์นเทรดและห้างค้าส่งค้าปลีกในภูธร เพื่อไม่ทำให้อำนาจการต่อรองของทุนใหญ่โมเดิร์นเทรดมีสูงเกินไป”

นายมิลินทร์ยังระบุด้วยว่า สำหรับปี 2567 คาดว่าการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในต่างจังหวัดจะมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกในต่างจังหวัดเหนื่อยกันมาก เพราะต้องแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลางทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่ขยายกิจการ ขยายสาขากันลงมาในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศก็ยังไม่ดี ส่วนซัพพลายเออร์ก็เริ่มส่งสัญญาณดึงบัญชีไม่ยอมปล่อยตัวเลขสินเชื่อต่าง ๆ

จากนี้ไปการจะสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ หลัก ๆ คงจะต้องใช้โปรเจ็กต์ “โลคอลโลว์คอสต์” ต่อเนื่อง เท่าที่หารือกันเบื้องต้นจะทำกันทุกเดือนที่ 2 ของทุกไตรมาส แต่จะให้แตกต่างจากปี 2566 โดยแต่ละภาคพฤติกรรมการบริโภคของคนแตกต่างกัน ดังนั้น ซัพพลายเออร์คงต้องจัดสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันให้ซัพพลายเออร์ตั้งงบประมาณที่จะให้มาชัดเจน โดยแต่ละภาคมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

“หยุดปีใหม่ 3-4 วันที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไม่ได้ดีขึ้นมากมาย เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนที่ใช้เงิน วันนี้สภาพในต่างจังหวัดคนข้าวยากหมากแพง คนยังหาเงินยาก เศรษฐกิจซบเซา ความเชื่อมั่นในรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรมีมาตรการต่าง ๆ ออกมากระตุ้น อย่างกรณีการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็ไม่รู้กฎหมายจะผ่านหรือไม่ ส่วนโครงการ E-Refund ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งคนต่างจังหวัดมีรายได้ถึงขั้นเสียภาษีมีไม่มาก เพราะฉะนั้นไม่น่าจะกระตุ้นอะไรไม่ได้มาก ข้อสำคัญโครงการ E-Refund ที่ออกมา ทุนขนาดใหญ่ได้หมด ใครจะนำเงิน 50,000 บาท มาซื้อของกินของใช้ เพราะฉะนั้นธุรกิจค้าส่งค้าปลีกต่างจังหวัดต้องถือคติตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นายมิลินทร์กล่าว

อัดโปรฯต่อเนื่องทำกำไรหด

นายประกอบ ไชยสงคราม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปีนี้ผู้ประกอบการยังต้องต่อสู้กันหนักทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูง ต้นทุนพลังงานทุกอย่างสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าขึ้นตาม ซึ่งสวนทางกับรายได้ผู้บริโภคในตลาดที่เท่าเดิม แต่จะซื้อของได้น้อยลง อัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมา และปี 2567 ในแง่ของปัจจัยหรือโครงสร้างไม่ได้ต่างกัน แต่ผู้ประกอบการต้องรักษายอดขาย ด้วยการอัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรน้อยลง และการทำงานก็ยากขึ้น

ตอนนี้ต้องงัดทุกกลยุทธ์มาใช้ แต่เมื่อหันกลับมาดูค่าใช้จ่าย กำไรก็น้อยลง ทำงานก็ยากขึ้น แต่ถ้าไม่สู้ก็ถูกรายใหญ่เอาลูกค้าไปหมด ไม่มีกำไรยังเป็นปัญหาระยะสั้น แต่ถ้าไม่มีลูกค้าลำบาก สิ่งที่ตามมาของทุกช่องทางหนีไม่พ้นเรื่องการนำเสนอความคุ้มค่า อัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม กันสนั่น และจบที่ฉากสุดท้ายคือ สงครามราคา และสำหรับโปรเจ็กต์ โลคอลโลว์คอสต์ ยังเดินหน้าต่อ โดยจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นครั้งแรก” นายประกอบกล่าว