แผนเวลเนส “เขื่อนเชี่ยวหลาน-โรงไฟฟ้ากระบี่” เสร็จ มี.ค.

เขื่อนกฟผ.

กฎบัตรไทยลุยทำแผนแม่บทธุรกิจเวลเนสบนพื้นที่เขื่อน กฟผ.นำร่อง 2 เขื่อนหลักก่อนเฟสแรก “เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่” ก่อนลุยเฟส 2 “เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี” ตั้งเป้าแล้วเสร็จ เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนได้ มี.ค. 67 และเปิดให้บริการฟื้นฟูสุขภาพนำร่องได้ไตรมาส 4 ปีนี้

หลังจากทางกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัย 10 แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการนำพื้นที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ และเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง

เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมรอบชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่ กฟผ.มีอยู่ในระยะเวลา 5 ปี โดยลงนามไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการพัฒนาพื้นที่เหนือเขื่อนและชุมชนโดยรอบเขื่อนเข้าสู่ “เขตนวัตกรรมการแพทย์” และ “เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เพื่อนำไปสู่การประกอบธุรกิจเวลเนส (wellness) ของ กฟผ. ตอนนี้มีความก้าวหน้าไปพอสมควร

โดยทาง กฟผ.ต้องการให้ทำแผนแม่บท (master plan) โดยเฟสแรกเลือกเขื่อน 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้ากระบี่ จังหวัดกระบี่ มาดำเนินการก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้เขื่อนต่าง ๆ กำหนดกรอบเวลาต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 ก่อนจะนำแผนแม่บทดังกล่าวไปเทียบเคียงเพื่อจัดทำแผนในเขื่อนแห่งอื่น ๆ ต่อไป

โดยเฟส 2 จะดำเนินการต่ออีก 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี

“เป้าหมายของ กฟผ.อยากเห็นความเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมของธุรกิจเวลเนสให้เกิดขึ้นจริงในเขื่อน 2 แห่งนี้ก่อน โดยเบื้องต้นอาจจะใช้อาคารเดิมที่มีอยู่ให้เอกชนเข้าไปเช่า เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้ เช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ มีสนามกอล์ฟ และอาคารเก่าอยู่ ในส่วนที่พักในการฟื้นฟูสุขภาพ น่าจะสามารถนำมาปรับปรุงได้ก่อน อย่างน้อยภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้” นายฐาปนากล่าว

นายฐาปนากล่าวต่อไปว่า ตอนนี้คณะกรรมการกฎบัตรสุขภาพได้ช่วยกันลงขันรวบรวมเงินได้ 1 ล้านบาท เพื่อทำ “แพลตฟอร์มการตลาดต่างประเทศ” เพื่อที่จะดึงลูกค้าหลังการผ่าตัด หรือคนที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะเริ่มหาลูกค้าจากประเทศมาใช้บริการในแถบตะวันออกกลางก่อน เช่น ดูไบ ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป ซึ่งในทีมกฎบัตรสุขภาพมีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ได้

ที่ผ่านมาได้มีโอกาสประชุมหารือร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเตรียมพร้อมเรื่องบุคลากรทางการแพทย์รองรับการบริการด้านการฟื้นฟูสุขภาพ

“การฟื้นฟูสุขภาพ นอกจากด้านบุคลากรต้องจัดเตรียมสถานที่รองรับ ต้องทำไม่ให้เหมือนการนอนโรงพยาบาล ชาวต่างชาติสามารถมาพักฟื้นฟูร่างกาย พร้อมมีลูกหลาน คนติดตามมาพักร่วมอยู่ได้ ทั้งหมดผมจะต้องสรุปข้อมูลให้จบโดยเร็ว”

สำหรับแผนระยะยาว ต้องการใช้พื้นที่ในเขื่อนโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ที่จะสามารถให้เอกชนเข้ามาหารายได้ และ กฟผ.จะมีกำไรจากธุรกิจเวลเนส ธุรกิจทางการแพทย์ โดยเฉพาะการฟื้นฟู สุขภาพ แต่ตอนนี้ยังตอบในเรื่องคาดการณ์ผลตอบแทน และการคืนทุนต่าง ๆ ไม่ได้ ต้องรอศึกษาทำร่างมาสเตอร์แพลนก่อน

ตอนนี้มีภาคเอกชนแสดงความสนใจเข้ามาดำเนินการจำนวนมาก เพราะศักยภาพทำเลที่ตั้งของเขื่อนแต่ละแห่งมีธรรมชาติสวยงาม โดยเฉพาะเขื่อนเชี่ยวหลาน มีเอกชนหลายรายติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งทางกฎบัตรสุขภาพได้ระบุให้แจ้งความจำนงไว้ เมื่อเปิดประมูลคัดเลือกรายใดมีข้อเสนอที่ดีที่สุดก็เลือกรายนั้น คาดว่าภายในปลายเดือนมีนาคม 2567 จะเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคเอกชน (Market Sounding) ที่สนใจได้

“เช่น อาคารเดิมที่มีอยู่จะต่อเติมทำอย่างไรได้บ้าง และพื้นที่ใหม่ตามมาสเตอร์แพลน แม้บอร์ดยังไม่อนุมัติ แต่ภาคเอกชนได้โจทย์ใหญ่ไปทำการบ้านว่าจะทำเป็นโรงแรม ศูนย์ฟื้นฟูเวลเนสอย่างไร” นายฐาปนา กล่าว

นายฐาปนากล่าวต่อไปว่า สำหรับความก้าวหน้าเรื่องที่กฎบัตรไทยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงขลา เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และชลบุรี ร่วมกันยกร่าง “แผนยุทธศาสตร์เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของจังหวัด และแผนยุทธศาสตร์เขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพระดับจังหวัด”

ล่าสุดทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้พิจารณา และให้การทำการปรับปรุงโครงการบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น และให้ยื่นกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2567 ซึ่งถือเป็นแผนใหญ่ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย