เซ็นทรัลเชียงใหม่ ผนึกเครือข่ายขนส่งสาธารณะ ดันเป็นฮับคมนาคมขนส่ง

เซ็นทรัลเชียงใหม่ ขนส่งสาธารณะ

เซ็นทรัลเชียงใหม่ผนึกรถเมล์อาร์ทีซี-กรีนบัส-เครือข่ายขนส่งสาธารณะ พัฒนาเซ็นทรัลเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง หวังประสานโครงข่ายขนส่งระหว่างอำเภอและแหล่งท่องเที่ยว สร้างรูปแบบการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

วันที่ 29 มกราคม 2567 นายพรเทพ อรรถกิจไพศาล ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ กล่าวในงานประชุมและลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางและการพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่และสถานีขนส่งเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่มีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางของจังหวัดเชียงใหม่

เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตรงกันข้ามกับสถานีขนส่งแห่งที่ 2 และ 3 (สถานีขนส่งอาเขต) เป็นพื้นที่ใจกลางของศูนย์เศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่ผังเมืองรวมในอนาคตได้อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษและไม่จำกัดความสูง ที่ตั้งล้อมรอบด้วยอาคารที่อยู่อาศัยแนวตั้งและศูนย์การค้าส่งค้าปลีก พร้อมโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษา

นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ของภาคเหนือด้วยโครงข่ายถนนและโครงข่ายรถไฟฟ้าในอนาคต ด้วยเหตุนี้ เซ็นทรัลเชียงใหม่ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมและขนส่งระดับจังหวัดและระดับภาค

นายพรเทพกล่าวต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าได้ลงทุนพัฒนาจุดจอดรถ จุดรับส่ง (drop off) สำหรับรถขนส่งสาธารณะ อาคารที่พักรอผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว พร้อมสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้เดินทางค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถรองรับรถขนส่งสาธารณะทั้งประเภทรับส่ง และจอดแล้วจร (park and ride) ได้จำนวนมาก

โดยจุดรับส่งตั้งอยู่ด้านหน้าของศูนย์การค้าติดช่องจราจรด้านในของถนนซูเปอร์ไฮเวย์ สร้างความสะดวกให้กับรถขนส่งสาธารณะได้ทุกชนิด ซึ่งการปรับปรุงจุดจอดดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ที่ต้องการยกระดับศูนย์การค้าให้เป็นทั้งพื้นที่ค้าปลีก นันทนาการ และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญให้กับประชาชน

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัดผู้ให้บริการรถเมล์อาทีซี และในฐานะเลขานุการกฎบัตรไทย ผู้ประสานงานการพัฒนาศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของไทยกล่าวว่า นอกจากความเหมาะสมด้านตำแหน่งที่ตั้งและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งมวลชนของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ดังที่กล่าวแล้วนั้น พื้นที่ดังกล่าว จะยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำคัญในอนาคตของจังหวัดและของภาคเหนือ

เนื่องจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ตั้งอยู่ระหว่างท่าอากาศยานนานาเชียงใหม่กับท่าอากาศยานนานาชาติล้านนาที่หน่วยงานภาครัฐอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดยตำแหน่งศูนย์การค้ายังเป็นที่ตั้งสถานีหลักของรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 2 สนามบิน ซึ่งจะได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงได้ทั้งตัวศูนย์การค้าและสถานีขนส่งอาเขต จึงกล่าวได้ว่า ตำแหน่งทางกายภาพมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของโครงข่ายหลัก โครงข่ายการขนส่งรอง และเส้นทางของรถขนส่งสาธารณะโครงข่ายย่อย

อีกทั้ง จากการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายกิจการขนส่งสาธารณะที่ให้บริการจากตัวเมืองไปยังแหล่งท่องเที่ยวและอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ บริษัท กรีนบัส แคบปิตอล จำกัดที่ให้บริการขนส่งเชื่อมโยงทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และกลุ่มกิจการขนส่งที่ให้บริการในเส้นทางโซนเหนือ เช่น บริษัท ยานยนต์นครเชียงใหม่ จำกัด บริษัท ดาวทองขนส่ง จำกัด หรือกลุ่มกิจการที่ให้บริการขนส่งในโซนทิศใต้ เช่น บริษัท บ้านถวายบริการเดินรถ จำกัด

ซึ่งวันนี้ได้ข้อสรุปตรงกันในการสร้างความร่วมมือเชื่อมต่อการเดินทางจากจุดหมายต่างอำเภอเข้ามายังศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่อันเป็นจุดแกนกลาง โดยรถเมล์อาทีซี จะทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อการเดินทางกับพื้นที่ในเมือง ทั้งสถานีขนส่งแห่งที่ 1 หรือสถานีขนส่งช้างเผือก สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประตูท่าแพ ตลาดวโรรส ประตูเชียงใหม่

และศูนย์การค้าทั้งเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต ศูนย์การค้าวันนิมมาน ศูนย์การค้าเมญ่าไลฟ์สไตล์มอลล์ และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ฮับ เชียงใหม่ ในอนาคตจะขยายเส้นทางไปยังมหาวิทยาลัยพายัพและพื้นที่โดยรอบอีกด้วย

สำหรับภารกิจในการยกระดับเชียงใหม่เป็นเมืองพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและภาคของอาคาร ในการลงนามครั้งนี้ บริษัท โรนิตรอน จำกัด ผู้แทนประเทศไทยของ BLOOM Energy จากสหรัฐอเมริกาเจ้าของผลิตภัณฑ์พลังงานไฮโดรเจน ได้ร่วมลงนามและให้การสนับสนุนอาร์ทีซีในการสร้างศูนย์กระจายพลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่ภาคเหนือ

โดยทีมงานวิศวกรรมของโรนิตรอนจะร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับกิจการขนส่งสาธารณะ อุตสาหกรรม และภาคการอาคาร ในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานกรีนไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาดในอนาคต

“ในวันนี้ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรสาธารณะและองค์กรประชาชน เช่น สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาพลเมืองเชียงใหม่ สมาคมเพื่อการออกแบบและส่งเสริมการมีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ได้ให้การสนับสนุนต่อการพัฒนาศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้การปฏิบัติการสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ เมืองพลังงานสะอาด และเมืองกลางทางคาร์บอน บรรลุผลอย่างแท้จริง”