“วิสาหกิจชุมชนบ้านแคว” ปั้นเกษตรแปรรูปลุย “ตลาดสุขภาพ”

ทองเพียร ศรีสว่าง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว” ไม่ใช่ธุรกิจน้องใหม่ แต่ถือเป็นตำนานแห่งธุรกิจชุมชนที่เลื่องชื่อกว่า 28 ปี ปัจจัยใดที่ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ยืนหยัดมาได้อย่างยาวนาน “ทองเพียร ศรีสว่าง” ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” พร้อมถอดรหัสความสำเร็จ และการต่อยอดสู่ตลาดเฮลตี้ในปี 2567

น้ำพริกตาแดง 2 บาทเปลี่ยนชีวิต

ทองเพียรเล่าว่า ก่อนจะมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว อย่างทุกวันนี้ มาจากตนเองที่ชอบค้าขาย โดยเริ่มทำน้ำพริกตาแดงห่อใบตองห่อละ 2 บาท ขายครั้งแรกเมื่อปี 2526 โดยนำไปขายที่กาดบ้านแคว ในชุมชนที่อาศัยอยู่ ทั้งหมด 75 ห่อ ได้เงิน 150 บาท จากวันนั้นขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การทำสินค้าอื่น ๆ ขายควบคู่ไปด้วย อาทิ ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม

โดยมีการรวมกลุ่มคนในชุมชนมาร่วมทำด้วย ผ่านการรวมกลุ่มมาถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง

ด้วยความเป็นคนมุ่งมั่น ขยันและไม่ท้อ จึงได้ขอคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการตั้งกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน จนเกิดการรวมกลุ่มในครั้งที่ 4 ในปี 2538 ภายใต้ชื่อ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแคว” มีสมาชิกรวมทั้งหมด 35 คน ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของกลุ่มร่วมกัน โดยรวมหุ้นกัน หุ้นละ 50 บาท ได้เงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจครั้งแรก 105,000 บาท สามารถต่อยอดขยายกิจการให้เติบโต มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น

บ้านแคว จ.เชียงใหม่

ทั้งน้ำพริกตาแดง มะม่วงดอง ผักกาดดอง ขิงดอง ขิงตากแห้ง มะเขือเทศตากแห้ง ไข่เค็ม เป็นต้น ยอดขายดี รายได้ดี มีผลกำไรคืนให้กับสมาชิกในกลุ่ม ประกอบกับได้รับการคัดสรรเป็น OTOP 5 ดาวในปี 2546 จนนำมาสู่การจดทะเบียนตั้ง “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว” ในปี 2548 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 97 คน

ออกงานอีเวนต์-ขึ้นห้าง

ทองเพียรบอกต่อว่า หลักการตลาดของทางกลุ่มคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง จึงเน้นออกบูทงานแสดงสินค้าทุกที่ตั้งแต่ปี 2541 เพื่อให้ลูกค้าเห็นสินค้าบ่อย ๆ จากเครื่องหมายการันตีสินค้า OTOP 5 ดาวที่ได้รับ รวมถึงสินค้ามีคุณภาพ และสินค้าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือมาตรฐาน อย. เรียบร้อย ส่งผลให้สินค้าขายดี และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

โดยในปี 2549 เป็นจุดเปลี่ยนของทางกลุ่มที่ได้ขยายตลาดสู่ห้างสรรพสินค้าทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ อาทิ ห้างริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาในจังหวัดเชียงใหม่ ร้านค้าในสนามบินเชียงใหม่ ห้างเซ็นทรัล 2 สาขาในกรุงเทพฯ ห้างพารากอน เดอะมอลล์ และบิ๊กซี ราชดำริ เป็นต้น

รุกตลาด OEM รายได้พุ่ง 59 ล้าน

ทองเพียรบอกว่า สินค้าของทางกลุ่มมาจากผลิตผลทางการเกษตร 100% เป็นผลผลิตจากชุมชน โดยรับซื้อจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือและจากทั่วประเทศ อาทิ มะม่วง ส้ม สตรอว์เบอรี่ ลิ้นจี่ มะเขือเทศ จากเชียงใหม่, ลำไย จากเชียงใหม่และลำพูน, กล้วยน้ำว้า สับปะรด จากเชียงราย, ขนุน จากระยอง เป็นต้น

ปัจจุบันมีสินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ ‘บ้านแคว’ ราว 18-19 ไอเท็ม อาทิ ลำไยอบแห้งสีทอง กล้วยอบ (กล้วยหนึบ) มะขามแก้ว กล้วยกวน สตรอว์เบอรี่อบแห้ง มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง ลิ้นจี่อบแห้ง มะเขือเทศอบแห้ง ขนุนอบแห้งส้มสายน้ำผึ้งอบแห้ง ทอฟฟี่ขิง ทอฟฟี่ตะไคร้ ทอฟฟี่ลำไย เป็นต้น

ผภ.บ้านแคว

โดยทางกลุ่มได้คิดสูตรขึ้นมาเองทั้งหมด ผลิตและขายเอง 40% และอีก 60% รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 5 ตันต่อเดือน ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุด คือ ลำไยอบแห้งสีทอง มีกำลังการผลิต 12 ตันต่อปี ส่งขายให้กับร้านอาหารดังมากกว่า 20 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ สินค้ากล้วยอบ (กล้วยหนึบ) เป็นอีก 1 สินค้าขายดี

โดยรับจ้างผลิต OEM กล้วยหนึบให้กับบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ที่สั่งออร์เดอร์การผลิตราว 1,300 กิโลกรัมต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีสับปะรดอบแห้ง ที่ทำ OEM ให้กับบริษัทในกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ตันต่อเดือน โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด มีรายได้ช่วงระหว่างปี 2560-2562 เฉลี่ยสูงถึง 59 ล้านบาทต่อปี

หลังโควิดรายได้แตะ 10 ล้าน

ทองเพียรบอกต่อว่า ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มไม่มีรายได้เข้ามาเลย ขายสินค้าไม่ได้ การผลิตทุกอย่างหยุดชะงัก รายได้เป็นศูนย์ จึงต้องนำเงินเก็บบางส่วนมาใช้เพื่อดูแลสภาพโรงงาน ดูแลสำนักงาน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งหลังโควิดคลี่คลาย ได้เริ่มกลับมาเปิดโรงงานเดินเครื่องการผลิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ออร์เดอร์สินค้าเริ่มทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ตลาดยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

โดยในปี 2566 รายได้จากการขายสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท มีรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มที่เข้ามาทำงานในโรงงาน มีผลกำไรและมีเงินปันผลให้กับสมาชิกกลุ่ม สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียง

ชู “กัมมี่เสาวรส” สู่ตลาดสุขภาพ

ทองเพียรบอกต่อว่า รุ่นลูกซึ่งเรียนจบระดับปริญญาตรี เป็นเจน 2 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว มีแนวคิดจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีแผนทำผลิตภัณฑ์กลุ่ม อาหารว่าง (Snack) เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเช้า และผลิตภัณฑ์กัมมี่ (Gummy) เพื่อสุขภาพ

ซึ่งได้เข้าอบรมกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center) หรือศูนย์ FIN ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมผลิตสินค้าใหม่ในปี 2567 นี้

โดยเริ่มจากการผลิตกัมมี่เสาวรสผสมกับมะเขือเทศ 100% จะได้ประโยชน์จากเสาวรสและมะเขือเทศโดยตรง เป็นกลุ่มอาหารสุขภาพไอเท็มแรก จะเริ่มเข้าสู่ตลาดสุขภาพในปีนี้ พร้อมกับการขยายตลาด OEM เพิ่มมากขึ้น โดยมีสินค้าใหม่ที่รับจ้างผลิตคือ ส้มสายน้ำผึ้งอบแห้ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากอำเภอสะเมิง ซึ่งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่และการขยายตลาด OEM คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้ในปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านบาท