“จีน” ป่วนตลาดทุเรียน 6 หมื่นล้าน ล้งหวั่นถูก CCIC เจ้าสัวใหญ่ถือหุ้นล้วงตับ

การเล่นเกมของจีนในการส่ง “บริษัท CCIC (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท CCIC Guangxi (China Certification & Inspection GroupbGuangxi Co., Ltd.) เข้ามาหากินกับผู้ส่งออกผลไม้ไทย สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก

ล้งค้านสติ๊กเกอร์เพิ่มต้นทุน

โดยเฉพาะการยื่นข้อเสนอที่ว่า หากผู้ส่งออกทุเรียน มังคุดไทยรายใดต้องการขนส่งสินค้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนได้อย่างรวดเร็วขึ้น (fast track) จะต้องซื้อสติ๊กเกอร์ติด QR code ราคา 3,000 บาท/ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวทางผู้ประกอบการล้ง หรือโรงคัดบรรจุไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการเพิ่มต้นทุน

6 องค์กรยื่น จ.ม.ร้องรัฐแก้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6 จันทบุรี) ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรภาคเกษตร สมาคมผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก โรงคัดบรรจุ หน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปรากฏว่า 6 องค์กรผู้ประกอบการภาคเอกชนได้รวมพลังต้านพฤติกรรมของบริษัท CCIC และเตรียมยื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์ภายในเดือนตุลาคมนี้

นายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการของบริษัท CCIC ทำให้ผู้ประกอบการสับสน เป็นกังวลใจ รวมทั้งค่าสติ๊กเกอร์ที่ผู้ประกอบการทุเรียน มังคุดนำไปใช้ประมาณ 3,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์เป็นการเพิ่มต้นทุน

ที่สำคัญข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ส่งออกภาคเอกชนที่ปกติส่งให้หน่วยงานรัฐบาลจีนกับหน่วยงานรัฐบาลไทย จะถูกส่งให้ภาคเอกชนด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการเห็นว่าหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ทั่วถึง ทั้งประเด็นเนื้อหากรอบหน้าที่ บทบาทของบริษัท CCIC การตรวจสอบคุณภาพ และการใช้สติ๊กเกอร์ fast track ควรแจ้งด้วยว่าให้ระบุข้อมูลตามความจำเป็นอะไรบ้าง จากการสแกน QR code ของสติ๊กเกอร์ และต้องประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ที่ถูกต้องโดยทั่วไป โดยเฉพาะเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการไม่ใช่มาตรการบังคับ

หากมีการนำมาใช้จริงควรมีระยะเวลาให้เตรียมตัว ได้มีความเข้าใจและแน่ใจว่าบริษัทเอกชนดำเนินการได้เพราะโดยหลักการดี แต่ข้อปฏิบัติกระบวนการใช้ยังไม่ชัดเจน ตอนนี้คือ 50 : 50 ไม่ต้องการใช้และยังไม่แน่ใจเนื่องจากยังสับสน ยังไม่มีความเข้าใจชัดเจน และมีผู้ประกอบการเล็กน้อยที่ซื้อไปใช้บ้างแล้ว เพราะมีการเสนอขายให้กับผู้ประกอบการโดยตรง

“ที่ผ่านมาบริษัท CCIC (ประเทศไทย) ทำงานเป็นเซอร์เวเยอร์ ตรวจสินค้าก่อนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปจีน เป็นข้อตกลงระหว่างเอกชน-เอกชน ที่ผ่านมารับตรวจเฉพาะสินค้าข้าว เพิ่งมาสนใจผลไม้ปี 2563 โดยทำสติ๊กเกอร์ QR code ขายให้ผู้ส่งออกผลไม้เป็นไปโดยความสมัครใจไม่ใช่มาตรการบังคับ”

เกิดระบบการค้าไม่เป็นธรรม

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวว่า วิธีปฏิบัติ fast lane มีคิวการดำเนินการสุ่มตรวจที่สั้นลง สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ระบบนี้ไม่อยู่ในพิธีสารการนำเข้าผลไม้ไทยไปจีน และวิธีการชี้ชวนให้ผู้ประกอบการซื้อสติ๊กเกอร์ราคาประมาณ 3,500 บาท/ตู้คอนเทนเนอร์ผ่านนายหน้าคนไทยกับผู้ประกอบการในไทยโดยตรง หากว่าระบบนี้สามารถดำเนินการได้จริงทั้งระบบทำให้เกิดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

ตอนนี้มีผู้ประกอบการบางส่วนต้องการใช้ และบางส่วนไม่ต้องการ ส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลใจแม้ว่าจะเป็นความสมัครใจแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและกระบวนการใช้ QR code บนสติ๊กเกอร์สแกนข้อมูลตรวจสอบดำเนินการจริงหรือไม่ และเมื่อผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการมาก ๆ ไม่แน่ใจว่าการขนส่งจะไม่ติดบน fast lane หรือราคาสติ๊กเกอร์จะไม่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อำนาจการตรวจสอบการส่งออกตามข้อตกลงไทย-จีนเป็นของกรมวิชาการเกษตรดำเนินการอยู่แล้วเ

“สภาพปัญหาต่าง ๆ ต้องเคลียร์ให้เสร็จก่อนฤดูกาลผลิตในปี 2564 ระบบการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน ปัญหารถติดที่ด่านโหย่วอี้กวนคือรถขนส่งทุเรียนไปจำนวนมากในช่วงพีกตรงกับผลไม้เวียดนามออกจำนวนมาก ปี 2564 น่าจะคลี่คลายลงเพราะจีนเปิดด่านตงซินเพิ่มขึ้นอีกแห่ง”

ส่วนเวียดนามเข้าทางด่านโหย่วอี้กวนผ่านด่านลางเซินของเวียดนาม เข้าไปตลาดมณฑลกว่างซีของจีนเหมือนกัน และถ้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว-จีน เปิดให้ใช้ได้คาดว่าน่าจะปี 2564 จะมีการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงได้ปริมาณสูง และลดปัญหาตู้ไม่เพียงพอเป็นทางเลือกทดแทนการใช้ fast lane มีผลน้อยลง

“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีนภายในเดือนตุลาคมนี้ สมาคมผู้ส่งออกและสมาคมภาคเกษตรกรรมทั้ง 6 สมาคม คือ สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาพันธ์ชาวทุเรียน ภาคตะวันออก สมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี และสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี จะร่วมกันยืนหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยในการใช้สติ๊กเกอร์ fast track พร้อมเสนอความเห็นผลกระทบ” นายภานุศักดิ์กล่าว

จี้รัฐเร่งแก้ก่อนฤดูผลไม้ปี’64

ทางด้าน นายภานุวัฒน์ ใหญ่ยอด นายกสมาคมส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวเสริมว่า ปัญหาสติ๊กเกอร์ fast track ว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องมีแผนแก้ปัญหาที่ชัดเจนก่อนที่จะถึงฤดูกาล 2564 วันที่ 2 มีนาคม 2564 สมาคมมีประชุมใหญ่ประจำปี จะฟันธงแจ้งสมาชิกว่าจะใช้หรือไม่ใช้

ในเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า สติ๊กเกอร์ fast track ผู้ประกอบการกลัวที่จะไม่ทำ หน่วยงานราชการได้ชี้แจงเน้นย้ำว่า fast track ไม่มีข้อกำหนด จะทำหรือไม่เป็นเรื่องความสมัครใจ และการส่งออกมีข้อปฏิบัติภาคบังคับตามข้อตกลงพิธีสารไทย-จีน กรมวิชาการเกษตรดูแลตรวจโรค แมลง และออกใบรับรอง PC ส่วนจีนอยู่ภายใต้กระทรวงศุลกากร เป็นการรับรองระหว่างหน่วยงานรัฐต่อรัฐ ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ fast track แต่หน่วยงานไปบังคับห้ามไม่ให้ใช้ไม่ได้

ตอนนี้พยายามให้ข้อเท็จจริงกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการเห็นว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และเมื่อเดือนพฤษภาคมหัวหน้าด่านตรวจพืช ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีหนังสือแจ้งผู้ส่งออกทุเรียนภาคใต้แล้วว่าบริษัท CCIC ทำได้เพียงการอำนวยความสะดวก การส่งออกผลไม้ยังต้องเป็นไปตามพิธีสารไทย-จีนเท่านั้น

เปิดตระกูลดังถือหุ้น CCIC

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผยว่า หากใช้บริการของ CCIC จะทำให้ CCIC ล่วงรู้ความลับทางการค้าของผู้ส่งออกท้้งหมดตั้งแต่สวนผลไม้ที่ไปซื้อ จนลูกค้าในตลาดจีน ซึ่งผู้ส่งออกกังวลกันมาก เพราะตามฐานข้อมูลของบริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ C.C.I.C. จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ล้วนมีบริษัทของเจ้าสัวใหญ่ ๆ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น

“อนาคตบริษัทเจ้าสัวเหล่านี้อาจจะเข้ามากินรวบธุรกิจส่งออกทุเรียน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปีก็ได้ ทุกวันนี้พ่อค้าคนจีนเข้ามาทำธุรกิจล้งส่งออกทุเรียน มังคิดกันเองหลายร้อยรายในภาคตะวันออก และภาคใต้อยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ประกอบด้วย 1.บริษัท China Certification & Inspection Group (CCIC) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49.6813% โดย CCIC จีนถือเป็นองค์กรให้บริการตรวจสอบรับรอง ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพการตรวจสอบและการกักกันของจีน หรือ General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People”s Republic of China (AQSIQ)

2.บริษัท นำทรัพย์ โฮลดิ้ง จำกัด ของตระกูลบุญนำทรัพย์ ถือหุ้น 10.1387% 3.นายสุชัย วีระเมธีกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือหุ้น 10.1387% 4.บริษัท เอ็ม.ไทย กรุ๊ป จำกัด ของตระกูลวีระเมธีกุล ถือหุ้น 5.0693% 5.นางประภา วิริยะประไพกิจ อดีตผู้บริหารเครือสหวิริยา และเครืออินโดไชน่ากรุ๊ป (เสียชีวิตแล้วตั้งแต่ปี 2557) ถือหุ้น 4.0553% 6.บริษัท เครือเจียไต๋ จำกัด อยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ของตระกูลเจียรวนนท์ ถือหุ้น 2.6667%

7.นายธฤต โอภาสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลไลแอนซ์ ทีมเวิร์ค มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 2.5420% 8.นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ถือหุ้น 2.5333%

9.นายชูชัย โอภาสวงศ์ ประธาน บริษัท เวิลด์ไวด์ คอนเนคชั่น ถือหุ้น 2.5333% 10.นางศิริกุล โอภาสวงศ์ ถือหุ้น 2.5333% 11.นางศิริพร โอภาสวงศ์ ถือหุ้น 2.5333% 12.นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์ ถือหุ้น 2.5333% 13.นายฉัตรชัย วีระเมธีกุล รองประธานสนาม เดอะ รอยัล กอล์ฟ แอนด์ คันทรี่ คลับ และ 14.นางสาววไลพร บุนนาค ถือหุ้น 1.5207%

ข้อมูลรายชื่อกรรมการมี 8 คน ได้แก่ 1.นายสุชัย วีระเมธีกุล 2.นายบุญนำ บุญนำทรัพย์ 3.นายธฤต โอภาสวงศ์ 4.นายฉัตรชัย วีระเมธีกุล 5.นายหลิว จุนหมิน 6.นายเป๋า เฟิ่ง 7.นายชูชัย โอภาสวงศ์ และ 8.นายหลิว หัวลี่