2 ทุนจีน “เหิงไชน่า-หัวอี้” ตั้งโรงงานแปรรูปหมากที่ จ.พัทลุง

หมากแห้ง

ทุนจีน-อินเดียตบเท้าลงทุนโรงงานแปรรูปหมากในไทยคึกคัก “เหิงไชน่าไทย-หัวอี้” ทำสัญญาเช่าโกดัง ตั้งโรงงานแปรรูปหมากอ่อนที่ จ.สงขลา-จ.พัทลุง ด้านทุนอินเดีย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯพัทลุง เล็งตั้งศูนย์รับซื้อหมากแห้งเพิ่มที่จังหวัดพัทลุง เผยสต๊อกหมากในไทยบานกว่า 5 หมื่นตัน เหตุอินเดียเมินซื้อผ่านคนกลางเมียนมา

รายงานข่าวจากจังหวัดพัทลุงเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเอส เอ็ม ฟาริส กรรมการ บริษัท อีสต์ เทรด เทรดดิ้ง แอนด์ คอนซัลเท้นท์ จำกัด (East Trade Trading & Consultancy Co.Ltd.) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาให้บริการและส่งออกสินค้าไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมาร่วม 10 ปี ได้ทำหนังสือถึงนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง

โดยระบุว่า จากการสำรวจผลผลิตหมาก พบว่า จ.พัทลุง สามารถเป็นศูนย์กลางหลักของประเทศไทยในการรวบรวม และส่งออกไปยังประเทศอินเดียได้ และ จ.พัทลุง มีทำเลเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานแปรรูปหมาก บรรจุหีบห่อและจัดส่งผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายได้รวดเร็ว ซึ่งบริษัทผู้นำเข้าหมากแห้งอันดับต้น ๆ ของประเทศอินเดียต้องการเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ปลูกหมากของ จ.พัทลุง ผ่านการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทตั้งใจจะมาลงนามบันทึกความเข้าใจกับจังหวัดพัทลุง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ทำให้ไม่สะดวก

ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการธุรกิจหมากจากประเทศจีน และอินเดียหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อนำเข้าทั้งหมากแห้งและหมากอ่อนจากประเทศไทย โดยล่าสุดมีบริษัท หัวอี้ จำกัด (Hua Yi) ของนาย Tommy Cao จากประเทศจีน ได้เข้ามาลงทุนที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยได้ทำสัญญาเช่าโกดังเก่าที่เคยเป็นโรงงานผลิตปุ๋ย มาปรับปรุงเป็นโรงงานแปรรูปหมากอ่อนรายแรก ซึ่งจะเปิดดำเนินการเดือนมิถุนายน 2565

ทั้งนี้ บริษัท Hua Yi ถือเป็นนักลงทุนจากจีนรายที่ 2 ที่เข้ามาลงทุน จากที่ก่อนหน้านี้บริษัท เหิงไชน่าไทยเทคโนโลยีการเกษตร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้มาลงทุนโรงงานแปรรูปหมากอ่อนที่ ต.ควนเนียง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา จะเปิดดำเนินการรับซื้อหมากปลายเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีเป้าหมายซื้อหมากในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส

“ขณะนี้จากการรวบรวมข้อมูลในประเทศไทย พบผู้ประกอบการค้าหมากทั่วประเทศทั้งรายใหญ่ รายกลางประมาณ 60 ราย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุง จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งยืนยันที่จะทำการค้าหมากและส่งมอบให้ได้ตามปริมาณที่นักลงทุนจีนต้องการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ค้าหมากรายใหญ่เหล่านี้มีสต๊อกหมากแห้งรวมกันอยู่ประมาณ 50,000 ตัน โดยซื้อเก็บสะสมมาตั้งแต่ต้นปี 2565”

“สาเหตุที่ทำให้มีหมากค้างสต๊อกจำนวนมาก เนื่องจากพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ในประเทศเมียนมาได้ชะลอการเข้ามาซื้อหมากจากประเทศไทย เพราะกลุ่มผู้นำเข้าจากประเทศอินเดียไม่ได้มีออร์เดอร์เข้าไปยังประเทศเมียนมา ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการค้าหมากรายใหญ่ของไทยเองชะลอการรับซื้อหมากในพื้นที่ หรือถ้ารับซื้อจะให้ราคาต่ำ”

ดร.สมบัติกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเส้นทางการส่งออกหมากของไทยจะผ่านประเทศเมียนมาในฐานะพ่อค้าคนกลาง หลังจากนั้นทางเมียนมาจะส่งออกต่อไปยังประเทศอินเดียอีกทอดหนึ่ง แต่ในอนาคตทางกลุ่มผู้รับซื้อหมากรายใหญ่จากประเทศอินเดียมีเป้าหมายที่จะเข้ามาตั้งศูนย์รับซื้อหมากในประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยเองต้องวางหลักเกณฑ์ในการทำธุรกิจค้าขายหมากที่เป็นมาตรฐาน และช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้ได้ราคาที่เหมาะสม

ดังนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนอินเดีย และจีนเพื่อทำเกษตรพันธสัญญา และการประกันราคาหมาก โดยหมากแห้งราคา 25-30 บาท/กก. และหมากอ่อนราคา 15-20 บาท/กก. และรับซื้อหมากระดับเกรดเอ จำนวน 10 ตันขึ้นไป เกรดบี ต่ำกว่า 10 ตัน และเกรดซี 100-200 ตัน