ไมเนอร์ฟู้ด ขย่มดีลิเวอรี่ อัดโปรฯ แรงปลุกกำลังซื้อ

เดอะพิซซ่า คอมปะนี

ตลาดดีลิเวอรี่ 7.9 หมื่นล้านยังมีโอกาสโต “ไมเนอร์ฟู้ด” ยกทัพแบรนด์ในเครือ เพิ่มจุดแข็งแอปพลิเคชั่น 1112 ดีลิเวอรี่ จับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แย้มไตรมาส 4 เตรียมลอนช์ลอยัลตี้โปรแกรมสะสมแต้ม ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “Best Price รับประกัน ราคาดีที่สุด” เสริมทัพไรเดอร์การันตีส่งเร็ว กระตุ้นยอดขายเพิ่ม 30% พร้อมปรับขึ้นราคาในบางเมนูรับต้นทุนพุ่งสูง

นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารแบรนด์เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์ ฯลฯ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ผู้บริโภคกลับมานั่งทานที่ร้านอาหารมากขึ้น แต่ในทางกลับกันพฤติกรรมผู้บริโภคบางกลุ่มได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเริ่มต้องการความสะดวกสบาย ประกอบกับมีความถนัดในการกดสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ประกอบกับในภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงมองหาความคุ้มค่ามากที่สุด ส่งผลให้ภาพรวมตลาดดีลิเวอรี่ปี 2565 มีมูลค่า 79,000 ล้านบาท เติบโต 5% แม้จะเติบโตน้อยกว่าช่วงโควิด แต่เชื่อว่าในอนาคตยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับช่องทางดีลิเวอรี่ของไมเนอร์ฟู้ดเติบโตกว่า 11% จากข้อมูลอินไซต์หลัก ๆ มาจากฐานผู้บริโภคกลุ่มเดิมและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่หันมาทดลองสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ต่อจากนี้ไป ไมเนอร์ฟู้ดได้หันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางดีลิเวอรี่บนแอปพลิเคชั่น 1112 ดีลิเวอรี่ ซึ่งเป็นการรวบรวม 7 ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์, แดรี่ควีน และเดอะคอฟฟี่ คลับ รวมถึงร้านอาหารพันธมิตรที่เข้าร่วม อาทิ เอสแอนด์พี, เออร์เบินพิซซ่า, เบรดทอล์ค, ซงฟา, เซอร์เจนท์ คิทเชน, อีสาน แซ่บ แซ่บ ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2563

ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ซึ่งมีการจัดส่งอาหารไปแล้วใน 75 จังหวัด ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 2.5 ล้านครั้ง ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างมาก เพราะสามารถขยายความถี่ในการสั่งอาหาร และยังสามารถเพิ่มฐานลูกค้าประจำอายุต่ำกว่า 35 ปีได้ และในไตรมาส 4 เตรียมลอนช์ลอยัลตี้โปรแกรม เพื่อให้ลูกค้าสามารถสะสมแต้มในการสั่งซื้อสินค้าในครั้งต่อไปได้

พร้อมกันนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเมนูอาหารให้มีความหลากหลาย ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพบรรจุภัณฑ์ ที่รักษาอุณหภูมิในการจัดส่ง ที่ยังคงรสชาติจากครัวไปถึงมือผู้บริโภคได้ และเพื่อขยายการสั่งอาหารผ่านดีลิเวอรี่ให้กว้างขึ้น

ล่าสุด ได้เปิดตัวแคมเปญ “Best Price รับประกัน ราคาดีที่สุด” เพื่อส่งเสริมการขายเมื่อสั่งอาหารทั้งเมนูเดี่ยวและชุดเซตคอมโบที่ร่วมรายการ ถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ หากเป็นเมนูเดียวกัน จะมีราคาถูกกว่า 10-15% เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน-5 ตุลาคม 2565 นี้ โดยหลังจากเปิดตัวแคมเปญดังกล่าว คาดว่าจะช่วยขยายฐานคนรุ่นใหม่ คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว และสามารถกระตุ้นยอดขายบนแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 30%

อีกทั้งยังชูจุดแข็งด้านมาตรฐานและบริการ การันตีส่งร้อน ส่งเร็ว ภายในเวลา 30 นาที ซึ่งปัจจุบันไมเนอร์ฟู้ดมีไรเดอร์ส่งอาหารอยู่ประมาณ 3,000 คน โดยก่อนหน้านี้ได้นำร่องใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประมาณ 15 คัน มาใช้ส่งอาหาร เริ่มที่แบรนด์เดอะพิซซ่าในสาขากรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้ และช่วยสนับสนุนให้ไรเดอร์ส่งอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมีแผนมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้านนายปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และธุรกิจดีลิเวอรี่ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ จะมุ่งขยายสาขาร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี ขนาดเล็ก ในอำเภอรองของแต่ละจังหวัดมากขึ้น เช่น แม่ฮ่องสอนและปัตตานี ที่ยังไม่มีร้านอาหารในเครือไมเนอร์ และต้องการรองรับการขยายตัวของดีลิเวอรี่และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ทำให้สิ้นปี 2565 จะมีร้านเดอะพิซซ่าฯทั้งหมด 430 สาขา โดยเพิ่มจากปี 2564 ที่มี 421 สาขา

ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ในเครือไมเนอร์ ทั้งบอนชอน, สเวนเซ่นส์ และคอฟฟี่เจอนี่ ก็มีแผนเตรียมขยายด้วยเช่นกัน และในอนาคตมีโอกาสได้เห็นแบรนด์ใหม่ ๆ มาเสริมพอร์ตโฟลิโออย่างแน่นอน โดยปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของไมเนอร์ฟู้ดหลัก ๆ อันดับหนึ่งยังอยู่ที่แบรนด์เดอะพิซซ่าฯ ตามด้วยบอนชอนและสเวนเซ่นส์ โดยแบ่งเป็นช่องทางไดรฟ์อิน 40% ซื้อกลับบ้าน 30% และดีลิเวอรี่ 30% ส่วนการเติบโตในต่างประเทศ อาทิ อินเดีย ออสเตรเลีย อเมริกา ก็มีสัดส่วนการซื้อผ่านดีลิเวอรี่และซื้อกลับบ้านมากกว่า 80%

ขณะเดียวกัน ธุรกิจอาหารยังมีอุปสรรคในภาวะต้นทุนวัตถุดิบ ค่าพลังงาน น้ำมัน ก๊าซต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของไมเนอร์ฟู้ดเพิ่มขึ้น 7-8% ดังนั้นจึงต้องบริหารต้นทุนวัตถุดิบ โดยมีการมอนิเตอร์ราคาวัตถุดิบกับซัพพลายเออร์ รวมถึงการปรับขึ้นราคาในบางเมนูให้สอดคล้องตามสภาพตลาด แต่ยังอยู่ในอัตราที่ผู้บริโภคสามารถรับได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 ไมเนอร์ฟู้ดมีรายได้รวมจากการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารเติบโตร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของทุก ๆ แบรนด์ ประกอบกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและการสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์เข้ามาสนับสนุนสั่งดีลิเวอรี่ ทำให้รายได้สาขาเดิมเติบโตขึ้น