MK Wellness หมุดหมายใหม่ “เอ็มเค สุกี้”

นายแพทย์พิฑูรย์ มณีไพโรจน์-ฤทธิ์ ธีระโกเมน

“เอ็มเค เวลเนส” (MK Wellness) ชื่อนี้แบรนด์นี้อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงมากนัก อีกด้านหนึ่ง หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้เห็น ได้สัมผัสกับเชลฟ์สินค้าเพื่อสุขภาพของเอ็มเค เวลเนส ตามสาขาของเอ็มเคและยาโยอิมาบ้างแล้ว รวมถึงอาจจะเคยได้ยินเพลงโฆษณาวิตามิน “เมมเบอร์รี่” ในร้านเอ็มเค เจ้าตลาดสุกี้มาบ้าง

นี่คือ ธุรกิจใหม่ที่อยู่ใต้ร่มเงาของ “เอ็มเค สุกี้” ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท มาร์ก วันอินโนเวชั่นส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ที่เกิดจากต้นคิดของ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายแพทย์พิฑูรย์ มณีไพโรจน์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาร์ก วันอินโนเวชั่นส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ถึงการรุกตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ และทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้ไป ดังนี้

Q : จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาในตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ

ตอนที่ริเริ่ม ผมได้คุยกับคุณฤทธิ์ (คุณพ่อตา) ได้ปรึกษากันว่า จริง ๆ แล้ว เอ็มเคมีความพร้อมหลาย ๆ อย่าง ทั้งเครือข่ายร้านอาหาร ซัพพลายเชน โลจิสติกส์ ขณะที่ผู้บริโภคก็มีมุมมองต่อเอ็มเค ว่าเป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัว และมีภาพลักษณ์ของการเป็นร้านอาหารที่เป็นเฮลตี้ จึงมามองว่าเราจะทำอะไรที่มากกว่านี้ให้กับลูกค้าของเราได้ และได้เริ่มวางโรดแมปขึ้นมาว่า ภายใน 3-5 ปีจะทำอย่างไรให้อาหารของเอ็มเคมีมากกว่าเฮลตี้

จากเดิม เอ็มเค เป็นร้านที่มีที่นั่งรับประทาน มีดีลิเวอรี่ แต่ยังไม่มีการกินที่เป็นในลักษณะ on the go เช่น เวลากำลังนั่งรถไปทำงาน หรือระหว่างการเดินทางที่อาจจะมีความรีบเร่ง

ด้วยความที่ผมเป็นหมอ จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดความเฮลตี้ของเอ็มเคขึ้นมา โดยมุ่งไปที่เรื่องของฟังก์ชั่นนอล หรืออะไรที่ให้มากกว่าคุณประโยชน์ทั่วไป เช่น สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ สามารถมาเติมเต็มให้ร่างกายได้ จึงได้เริ่ม spin off จากเอ็มเคออกมา เพื่อจะได้ทำอะไรที่ฉีกออกไปจากเอ็มเค

Q : มาร์ก วันฯ เริ่มต้นอย่างไร

การเริ่มต้นของ มาร์ก วันฯ หลังตั้งบริษัทเมื่อปี 2561 ช่วงแรกมีการทำความร่วมมือกับคณะแพทย์ของหลายสถาบัน เพื่อต้องการให้มีองค์ความรู้ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การทำงานวิจัย เช่นร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ University of Tennessee ประเทศสหรัฐอเมริกา การทำ MOU กับสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬาของ University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น

โดยงานวิจัยแรกคือ มัลเบอร์รี่ ซึ่งร่วมกับ ม.ขอนแก่น โดยการรีเสิร์ช เราพบว่าสารสกัดจากผลมัลเบอร์รี่ มีสารสกัดช่วยเสริมความจำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้เทียบเท่ากับยาของอัลไซเมอร์ และจากนั้นก็ได้ต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกของ MK Wellness คือ เมมเบอร์รี่ 
(MEMBERRY) นมอัดเม็ด ที่ช่วยเสริมความจำ

Q : ใช้เวลานานหรือไม่กว่าจะมีโปรดักต์ตัวแรกออกมา

ตอนแรกตั้งบริษัทก็เริ่มทำวิจัยเลย วิจัยอยู่นานเหมือนกัน ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงมีโปรดักต์ เมมเบอร์รี่ นมอัดเม็ด ออกมา ซึ่งเราต้องมีการจดสิทธิบัตรก่อน

Q : คอนเซ็ปต์ของโปรดักต์ภายใต้แบรนด์ เอ็มเค เวลเนส

โดยหลักคอนเซ็ปต์จะเน้นไปที่การทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม (holistic wellness) ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสุขภาพ ที่มีหลากหลายประเภท ทั้งสแน็ก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินกัมมี่ ทุกโปรดักต์ที่ออกมาจะมีเรื่องของสุขภาพเข้ามาด้วย หรือแม้แต่ สแน็กที่ออกมา ก็ไม่ใช่ว่าจะอร่อยอย่างเดียว แต่ก็จะเป็นสแน็กที่เป็นแนวเฮลตี้

Q : มองภาพของตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างไร

ถ้าดูจากข้อมูลจากยอดขายของบริษัทที่ผ่านมา เราพบว่าช่วงตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมาผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แล้วก็สนใจในเชิงของ preventive คือไม่รอให้ป่วย ไม่รอให้ร่างกายเสื่อมโทรม แต่จะเน้นเรื่องของการป้องกัน การสร้างภูมิคุ้มกัน

จากช่วงก่อนจะมีโควิด-19 ผู้บริโภคยังไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพมากนัก สะท้อนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะไม่มีมานั่งกินวิตามิน ไม่มานั่งพ่นจมูกกัน แต่เดี๋ยวนี้เรื่องเหล่านี้กลายเป็น norm ไปแล้ว ซื้อวิตามินกินเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องเอดูเคตอะไรมากนัก มาร์ก วันฯจึงมาสนใจเรื่องของ preventive medicine ประกอบกับตลาดอาหารเสริมก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปีที่แล้วจากยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ตลาดอาหารเสริมมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้าน และยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย มีสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงสื่อ เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย และมั่นใจว่าตลาดนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

จุดเด่นของ มาร์ก วันฯ อย่างหนึ่งก็คือ เกิดและเติบโตมาจากเอ็มเค ซึ่งอาจจะไม่เหมือนสตาร์ตอัพอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีบริษัทแม่ อาจจะกล่าวได้ว่าเอ็มเคนั้นเป็นยานแม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มาร์ก วันฯ ได้จากเอ็มเค อย่างหนึ่งเลยก็คือ การมีแพลตฟอร์มในการขายที่ชัดเจน

ช่วงแรก ๆ โปรดักต์ทุกอย่าง เอ็มเค เวลเนส ที่ออกมาจะไปวางอยู่ในหน้าร้านเอ็มเค สินค้าที่ผลิตออกมา แม้จะผ่านการวิจัย ผ่านการผลิต ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ (QC) ผ่านอะไรทุกอย่างแล้ว แต่บริษัทต้องการที่จะรู้ว่าสินค้าดังกล่าวผู้บริโภคจะชอบ จะยอมรับหรือไม่ การที่เรานำเอาไปวางขายในร้านเอ็มเค ก็ทำให้เราเห็นพฤติกรรมว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไรของโปรดักต์ตัวนั้น ๆ

บางทีผู้บริโภคหรือลูกค้าไปซื้อในห้าง เขาก็ไม่รู้จะพูดกับใคร แต่ในร้านเอ็มเค เวลาเขาทดลองชิม หรือซื้อกลับไปกินที่บ้าน หรือเขากลับมาที่ร้านอีก เขาก็มีฟีดแบ็กให้กับพนักงาน ซึ่งบริษัทก็จะเก็บข้อมูลพวกนี้กลับมาพัฒนาสินค้าตลอด ซึ่งเป็นการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อันนี้ก็จะเป็นจุดเด่นของเรา

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเอ็มเค เวลเนส มีสินค้าค่อนข้างหลากหลาย จริง ๆ สินค้าทั้งหมดมาจากความต้องการที่เราฟังมาจากลูกค้า

Q : ตอนนี้ เอ็มเค เวลเนส มีโปรดักต์กี่ตัว

6 เอสเคยู แต่มีหลายรสชาติ เช่น เมมเบอร์รี่ นมยูเอชที และนมอัดเม็ด ที่ช่วยเสริมความจำ, เมม พลัส (MEM PLUS) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมการนอนหลับ, เอ็มเค วิตามินกัมมี่ (MK Vittamin Gummy) ขนมกัมมี่ที่ช่วยเสริมสุขภาพ, MK Veggie Chips ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้กรอบ ที่ใช้ผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรไทย เป็นต้น

Q : กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

หลัก ๆ จะเป็นคนรักสุขภาพ และกลุ่มครอบครัว ครอบครัวในที่นี้ เช่น แม่ซื้อให้ลูก หรือลูกซื้อให้พ่อแม่ อย่างกรณีของ MEM Plus ที่ช่วยในเรื่องของการหลับ อันนี้จะเห็นเยอะที่ลูกซื้อให้พ่อแม่ หรือคนที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนหลับก็จะเริ่มซื้อ ซึ่งก็เป็นลูกค้าคล้าย ๆ เอ็มเค แต่เอ็มเค เวลเนส ลูกค้าอาจจะต้องการอะไรที่เป็นฟังก์ชั่นนอลมากขึ้น เช่นเรื่องของการนอนหลับ หรือต้องการสแน็กที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งปกติจะหาไม่ได้ตามท้องตลาด

Q : การจัดจำหน่ายหรือการกระจายสินค้า

หลัก ๆ จะมีวางจำหน่ายตามสาขาของร้านเอ็มเค ยาโยอิ แหลมเจริญ และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ หรือเป็นช่องทางที่เรียกว่า อินเฮาส์ ที่สร้างขึ้นมาเอง แต่นอกจากนี้ สินค้าของเอ็มเค เวลเนส ยังมีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น บู๊สท์ วัตสัน บิ๊กซี โลตัส กูร์เม่ต์ วิลล่า ท็อปส์ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำมีหมด หรือในต่างจังหวัด ค้าปลีกท้องถิ่นก็มี

Q : กลยุทธ์การทำตลาดของ เอ็มเค เวลเนส จากนี้ไป

ตอนนี้ในแง่ของการทำการตลาดเรายังทำแบบพอดีตัว ยังไม่ได้ทุ่มมาก เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์โควิด จึงยังไม่ได้คิดตรงนั้นมากนัก แต่จากที่ได้คุยกับคุณฤทธิ์ คิดว่าปีนี้มีแพลนที่จะทำการตลาดที่มากขึ้น แอ็กเกรสซีฟมากขึ้น เพราะมองว่าตอนนี้สถานการณ์โควิดก็คลี่คลายและดีขึ้นแล้ว คนเริ่มออกมาจับจ่าย ถือเป็นไทม์ไลน์ที่ดี

Q : ปีนี้จะมีโปรดักต์ออกมามากน้อยแค่ไหน

เบื้องต้นอาจจะประมาณเดือนละตัว แต่รวม ๆ แล้วปีนี้น่าจะเกิน 12 ตัว จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เร็วๆ นี้จะมีกลุ่มสแน็ก และกลุ่มซัพพลีเมนต์ โดยในจำนวนนี้จะมีทั้งที่เป็นรสชาติใหม่และสินค้าใหม่

Q : เป้าหมายในระยะยาว

ตอนที่เราวางโรดแมป medical food ก็เป็นสเต็ปหนึ่ง แต่ไม่ใช่สเต็ปสุดท้าย สเต็ปสุดท้ายที่คุณฤทธิ์กับผมวาดฝันไว้ด้วยกันก็คือว่า อยากจะทำอาหารสำหรับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่อาหารสำหรับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน เป็นอาหารที่กินแล้วทานแล้ว แม้อาจจะไม่ได้ไปทดแทนยาได้ แต่ช่วยลดภาระตรงนั้นไปได้ ว่าช่วยป้องกันโรคชัดเจน

ยกตัวอย่าง ทุกคนที่เริ่มมีแนวโน้มเป็นเบาหวาน เวลาไปหาคุณหมอ ครั้งแรกคุณหมอจะยังไม่จ่ายยาเบาหวานให้ แต่จะแนะนำว่า ตอนนี้น้ำตาลคุณเริ่มปริ่ม ๆ เกิน 110 ให้ไปควบคุมอาหาร ลดแป้ง ลดน้ำตาล อีกสัก 2-3 เดือนมาพบกันใหม่ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นแพทย์ จีพี มาก่อน พบว่าคนไข้มากกว่า 50% ทำไม่ได้ กลับมาก็น้ำตาลเท่าเดิม เพราะว่าไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ ตรงนั้นแหละเป็นจุดที่เราจะเข้าไปเล่น เราไม่ต้องการจะเปลี่ยนอะไรคุณ กินอาหารรสชาติอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ว่าในนั้นน่ะดีต่อสุขภาพ น้ำตาล โซเดียม จะหายไป

หลัก ๆ เป็นการเน้นในรูปแบบของอาหาร คล้าย ๆ กับสิ่งที่เอ็มเค ให้กับลูกค้าอยู่ทุกวัน แต่เราทำให้อาหารมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการลดไขมัน อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ตรงนี้เป็นตลาดใหญ่มาก

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าการจะทำ medical food ได้ จะต้องผ่านอะไร ๆ อีกหลายขั้นตอน ต้องมีการวิจัย การขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องไปผ่านอีกหลากหลายขั้นตอน