กรมวิทย์พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต” ในผัก-ผลไม้ ใช้ง่ายคล้าย ATK

กรมวิทย์ฯ พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต”

กรมวิทย์พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต” ในผัก-ผลไม้สด ใช้ง่ายคล้าย ATK รู้ผลใน 15-30 นาที เตรียมเปิดให้ผู้สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชนมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ชุดทดสอบนี้ สามารถใช้ทดสอบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด แม้เป็นการตรวจสอบอย่างง่าย แต่มีความแม่นยำ และตรวจสอบเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วทราบผลใน 15-30 นาที และมีวิธีใช้คล้ายชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ซึ่งปัจจุบันคนไทยคุ้นเคยดี

สำหรับเกณฑ์การวัดขั้นต่ำสุดที่ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจพบได้จะอยู่ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ซึ่งตรงตามที่กฎหมายกำหนด

โดยชุดตรวจนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อาศัยเทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay) เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพ มีความไวในการตรวจสอบ และไม่ต้องใช้เครื่องพิเศษเพิ่มเติม

กรมวิทย์ฯ พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต”

นายแพทย์ศุภกิจกล่าวเสริมว่า ชุดทดสอบนี้ผ่านการทดสอบภาคสนาม และจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

ขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมเปิดให้ผู้สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชนมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อนำไปผลิตจำหน่ายให้กับประชาชน และหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าถึงชุดทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น และนำไปใช้ตรวจสอบความปลอดภัยของผักผลไม้เบื้องต้นได้

ทั้งนี้ พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรนิยมใช้ เนื่องจากมีราคาถูกและได้ผลดี แต่มีความเป็นพิษสูงและสามารถตกค้างในพืชผัก ดินและแหล่งน้ำได้ หากได้รับโดยตรงจากการบริโภค ทำให้เกิดอาการแสบร้อน เกิดแผลในหลอดลม และระบบทางเดินอาหาร

กรณีสูดดมจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดพังผืดในปอด ปนเปื้อนในอาหาร และยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม รวมถึงถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

โดยแม้ว่าสารนี้จะถูกแบนไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่อาจมีการตกค้างของสารดังกล่าว อยู่ในผักและผลไม้สดในปริมาณสูง และทำให้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากสารปนเปื้อนได้เช่นกัน เนื่องจากตามรายงานการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 ประเทศไทยได้นำเข้าพาราควอตเพื่อใช้ในทางการเกษตรกว่า 9,900 ตัน