ห้างลุ้นช้อปดีคืนภาษี 5 หมื่น แจกเงิน 10,000 บาท ปลุกจับจ่ายสะพัด

ธุรกิจค้าปลีก-ห้างเกาะติดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน 1 หมื่นบาท ช้อปดีมีคืนภาษี 5 หมื่นบาท มั่นใจช่วยปลุกจับจ่าย แต่ลุ้นรอความชัดเจน “เงื่อนไข-ระยะเวลา” หวั่น พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อมาแจกสะดุด แนะขยายเวลาช้อปคืนภาษีนาน 4 เดือน เริ่ม มี.ค.-พ.ค. ครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม-บริการ ชี้กลุ่มมีกำลังซื้อจับจ่ายสะพัดแน่

ธุรกิจค้าปลีก ทั้งร้านสะดวก ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ฯลฯ แม้จะเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่คาดว่าได้รับอานิสงส์จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากถึง 2 ต่อ ทั้งจากโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท

และการรับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการมูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาท หรือ อีรีฟันด์ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่คึกคักและมากขึ้น แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวและรอความชัดเจนที่เป็นรูปธรรม

แนะขยายเวลาอีรีฟันด์

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุกิจ” ว่า โดยส่วนตัวมองว่า ทั้งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท ตามโครงการดิจิทัลวอลเลต และการลดหย่อยภาษีเงินได้จากการซื้อสินค้าและบริการที่ให้วงเงิน 50,000 บาท หรือโครงการอีรีฟันด์ จะสามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจได้มากพอควร

แต่รัฐบาลควรมีการพิจารณารายละเอียดให้เหมาะสม ทั้งในแง่ของเงื่อนไขและระยะเวลาของมาตรการ อย่างกรณีของ อีรีฟันด์ ที่เป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มตลาดบนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว การเริ่มในเดือนมกราคมอาจจะเป็นช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเท่าที่ควร เพราะการจับจ่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก้าต้อนรับปีใหม่เพิ่งจะจบไป

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และควรมีระยะเวลาสัก 3-4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม-สงกรานต์ และกลุ่มมีกำลังซื้อมักจะมีการจับจ่ายค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน นโยบาย อีรีฟันด์ ควรจะขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เพื่อให้เม็ดเงินหมุนหรือกระจายมากขึ้นไป นอกเหนือจากกลุ่มค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้า

หวั่นกู้เงินแจก 10,000 สะดุด

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า ส่วนเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่เป็นการกระตุ้นตลาดล่างและรากหญ้า ซึ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ตอนนี้ผู้ประกอบการต่าง ๆ หลาย ๆ ค่ายค่อนข้างมีความวังวล ว่ารัฐบาลจะสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ หรือหากออกไม่ได้แล้วจะเป็นอย่างไร ในฐานะผู้ประกอบการก็ได้แต่เกาะติดสถานการณ์

“ตอนนี้ทั้งแจกเงิน 10,000 บาท และ อีรีฟันด์ หลัก ๆ จะมีแต่หลักการ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย หรือกลไกต่าง ๆ ของแต่ละเรื่องก็ยังไม่ลงตัว และยังไม่มีความชัดเจนนัก และเท่าที่ทราบอาจจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกระดับหนึ่ง กรณี อีรีฟันด์อาจจะไม่มีอะไรมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่เคยทำมาอยู่แล้ว จึงทำได้เร็ว ทำได้ง่าย แต่กรณีการกู้เงินมาแจก 10,000 บาท จะได้หรือไม่ ยัง question mark กันอยู่เลย”

อย่างไรก็ตาม ทั้งโครงการการแจกเงิน 10,000 บาท และอีรีฟันด์ หากกำหนดช่วงเวลาการใช้ที่เหมาะสม และลดเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างลง ให้สะดวกในการใช้จ่าย จะเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นการจับจ่ายได้มาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็รอความชัดเจนต่าง ๆ ของนโยบายว่าจะออกมาอย่างไร และตอนนี้หลาย ๆ อย่างก็ยังไม่นิ่ง ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีการมองลงไปในรายละเอียดเรื่องของแคมเปญ หรือโปรโมชั่นที่จะมีออกมารองรับ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ยากอะไร

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคม ได้แสดงความเห็นถึงโครงการดิจิทัลวอลเลต และอีรีฟันด์ ของรัฐบาล โดยระบุว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตเป็นนโยบายที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ในระยะสั้น ทั้งยังช่วยในการอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินอย่างมีศักยภาพ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ

แต่ยังต้องมีความชัดเจนในการออกมาตรการและเงื่อนไขมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย ร้านสตรีตฟู้ด โชห่วย หาบเร่ แผงลอย และขอเสนอแนะให้ขยับเวลาประกาศใช้ในเดือนเมษายนแทนพฤษภาคม จะเป็นการสร้าง impact ให้โครงการนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการ e-Refund ที่จะมากระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ โดยให้วงเงิน 50,000 บาท และหวังว่ารัฐบาลจะเร่งอนุมัติและเพิ่มระยะเวลาใช้จ่ายให้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อช่วยกระตุ้นโครงการ e-Refund ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

ค้าปลีกต่างจังหวัดงง-ขอความชัดเจน

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการ ตั้งงี่สุ่น ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวในเรื่องนี้ว่า สำหรับมาตรการของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 ยังต้องรอดูรายละเอียดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเงิน 10,000 บาท เพราะตอนนี้ชาวบ้านหลายคนคิดว่าเงินดิจิทัลวอลเลตไม่ต่างจากเงินที่เคยได้รับครั้งก่อนในแอปเป๋าตัง

ซึ่งข้อมูลการแถลงข่าวออกมาก็ไม่ชัดเจนสักครั้ง หากปรับแก้แล้วโครงการดำเนินไปได้คงมีคนกลับถิ่นฐานไปใช้เงินในพื้นที่อำเภอของตัวเองจริง ๆ เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัญหาอีกอย่างคือ ผู้ประกอบการจะเบิกเงินคืนจากรัฐได้ตอนไหน

ทั้งนี้ ตั้งงี่สุนอยู่ร่วมโครงการของภาครัฐมาตั้งแต่ธงฟ้าประชารัฐ ผ่านหลายโครงการมามาก พอมาถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ฟังแล้วก็ยังงง ก่อนหน้านั้นมีเพจข่าวออกมาสรุปไว้ว่าสามารถใช้ได้ทุกร้านค้า ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษีก็ได้ สุดท้ายมาบอกว่าร้านค้าที่สามารถขึ้นเงินกับรัฐได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น หลายฝ่ายต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพูด ผมก็กลัวนะ และตรงนี้ก็คิดว่าร้านค้าเล็ก ๆ ในต่างอำเภอคงกังวลเหมือนกัน

ส่วนประเด็นเรื่องช็อป 5 หมื่นคืนภาษี คิดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าเริ่มในช่วงปีใหม่ห้างใหญ่จะได้เปรียบ เพราะจะมีสินค้าตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าห้างภูธร อาจเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหญ่ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้ากลุ่มร้านค้ารายย่อยที่มาซื้อของ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ไปขายต่อ เช่น กะปิ น้ำปลา พริก เหล้า ห้างภูธรจะได้รับอานิสงส์

แต่สุดท้ายแล้วระบบจะเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องทำให้ชัด ๆ ทำให้คนอิ่มท้อง ไม่ต้องให้มานั่งทะเลาะกัน 1-2 ปีที่ผ่านเศรษฐกิจดิ่งสุดแล้ว และคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรววงคลัง เปิดเผยว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าที่คุ้นเคยอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า

ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ ไทม์ไลน์เป็นอย่างไร โครงการดิจิทัลวอลเลตจะใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฎีกาและกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้าจัดเตรียมงบประมาณและเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ก่อนหน้านั้นจะมีโครงการอีรีฟันด์ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า โครงการ อีรีฟันด์ ที่ประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการ มูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาทนั้น จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 และกำลังพิจารณากันว่าจะให้ใช้สิทธิได้นาน 1 หรือ 2 เดือน โดยจะประชุมหาข้อสรุปร่วมกับกรมสรรพากร ทั้งนี้ มาตรการนี้จะทำให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทได้ จะได้รับประโยชน์จากการได้เงินคืนสูงสุด 10,000 บาท เทียบเท่ากับดิจิทัลวอลเลต

โดยการซื้อสินค้าและบริการที่จะได้สิทธิอีรีฟันด์ ต้องใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ e-Receipt เท่านั้น เพื่อเร่งให้คนใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เร่งร้านค้าให้เข้าสู่ระบบ e-Tax invoice เพื่อสร้างฐานภาษี ส่วนสินค้าและบริการอะไรบ้างนั้น จะสรุปกันอีกครั้ง