ถอดความคิด ชีวิต-ธุรกิจ (ครอบครัว) เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป

เสถียร เสถียรธรรมะ
เสถียร เสถียรธรรมะ

“เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ในฐานะรุ่นที่ 1 ผู้สร้างตำนานธุรกิจครอบครัว ที่ใช้เวลา 20 ปี สามารถเติบโตจนเป็นอาณาจักรคาราบาวกรุ๊ป จากธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง “คาราบาวแดง” สู่ธุรกิจค้าปลีก “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” จนถึงการเป็นผู้ผลิตเหล้าและเบียร์ วันนี้มีทรัพย์สินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท

เล่าถึงมุมมอง-ความคิดการบริหารธุรกิจครอบครัว ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ในโลกความเปลี่ยนแปลง” ของศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

คัมภีร์ความสำเร็จธุรกิจครอบครัวของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” มีง่าย ๆ เพียง 3 คำ คือ “ความรัก-ความสุข-อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าเราคิดถูก”

ดูแลคนต้องเข้าใจความลำบาก

เจ้าพ่อคาราบาวเล่าว่า เรื่องสำคัญที่สุดและความกังวลของคนรุ่นผม ที่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว คือ “ผู้ที่จะมาสืบทอดธุรกิจ”

“แน่นอนว่าเราอยากให้ลูกเข้ามาสืบทอด เพราะเรารู้ว่าธุรกิจเราใหญ่พอที่จะให้ลูกเข้ามาบริหารและเลี้ยงดูครอบครัวได้”

ดังนั้น ตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ ถ้ามีโอกาสก็จะพามาที่ทำงาน ให้มาดู มาวิ่งเล่น ให้เห็นสิ่งที่เราทำ ช่วงปิดเทอมไม่ว่าจะตอนอยู่มัธยมต้น-ปลาย มหาวิทยาลัย ก็จะชวนให้มาทำงาน ให้มาอยู่กับพนักงานระดับล่าง ให้คุ้นชินว่าเค้าทำงานกันยังไง

“สิ่งที่ผมกังวลคือลูกจะไม่รู้จักคน ไม่เข้าใจคน เพราะคนที่ไม่เคยผ่านความยากลำบากจะไม่รู้จักคน คนต้องเข้าใจความยากลำบากจึงจะเข้าใจคน รู้จักปกครองคน ผมจึงพยายามค่อย ๆ ฝึกฝนเค้ามาตลอด”

“ความรัก-ความสุข” สูตรไม่ลับ

“เสถียร” เล่าถึงสูตรไม่ลับในการบริหารธุรกิจครอบครัวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ “ความรักของคนในครอบครัว” เพราะความรักจะให้ทุกอย่าง ให้อภัย ให้โอกาส ให้ความเอื้ออาทรต่อกัน

“ถ้าเราเริ่มทุกอย่างจากความรัก ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าเรายังสร้างสิ่งนี้ไม่ได้ ธุรกิจที่เราสร้างมาใหญ่โตมโหฬารก็ไม่มีความหมาย”

เรื่องที่สอง “ความสุข” สมัยเราทำงานก่อร่างสร้างตัว ต้องทำงานหนัก แต่ตอนนี้เห็นลูกทำงานก็รู้สึกว่าทำไมหยุดบ่อยเหลือเกิน เดี๋ยวก็ไปโน่นไปนี่ แต่สุดท้ายเราก็เข้าใจว่า ถ้าเค้ายังดำเนินชีวิตและมีความสุขในการทำงาน นั่นคือเรื่องสำคัญ เพราะต่อให้มีทรัพย์สินมากมายขนาดไหน แต่เราก็ไม่ได้อยู่ไปตลอด

“ผมคุยกับลูกว่า ถ้าพ่อไม่อยู่แล้ว ลูกทำไม่ไหวก็ขายได้เลย อย่าบอกว่าต้องรักษาไว้เพราะพ่อสร้างมา ทุกอย่างเป็นอนิจจัง อย่าเอาความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่าง ๆ มาทำร้ายตัวเอง”

และเรื่องสำคัญที่ 3 คือ ให้บอกตัวเองทุกวันว่า “เราไม่ได้คิดถูกตลอด”

เสถียรอธิบายว่า เวลาเกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในหมู่พี่น้อง หุ้นส่วน หรือระหว่างเจ้าของธุรกิจรุ่นที่ 1 กับรุ่นที่ 2 แก้ง่ายนิดเดียว คืออย่าเชื่อว่าตัวเองถูกทั้งหมด ความขัดแย้งจะบานปลาย เพราะว่า “ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง”

ร่วมกันคิด-แบ่งกันรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เจ้าพ่อคาราบาวเล่าถึงวิธีการสร้างความรักของพี่น้องว่า ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็ก

“การปลูกฝังไม่ใช่แค่การพูด หรือเวลาทะเลาะกัน แล้วบอกให้น้องยอมพี่ หรือพี่ยอมน้อง แต่อยู่ที่เราต้องทำให้ลูก ๆ เค้าเห็นว่าพี่น้องรักกันอย่างไร ตัวเราปฏิบัติกับพี่น้องอย่างไร”

“ผมมีพี่น้อง 10 คน มีพี่สาว 5 คน น้องชาย 4 คน ผมมีฐานะดีกว่าคนอื่นอีก 9 คน ผมดูแลพี่น้องอย่างไร”

“พ่อตาแม่ยายผมก็เอามาอยู่ด้วย ตอนนี้ลูกชายแต่งงาน ก็บอกให้แม่ยายลูกชายมาอยู่ด้วย โดยที่ไม่ต้องรอให้ลูกชายหรือลูกสะใภ้เอ่ยปาก เพราะเค้ามีลูกสาวคนเดียวที่มาอยู่กับเรา”

นี่คือการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ความรักที่มีให้กับพี่น้อง พ่อแม่ ในแต่ละวันก็จะค่อย ๆ กล่อมเกลา

สำหรับการส่งต่อธุรกิจให้กับลูก 3 คน เสถียรเล่าว่า การทำงานของพี่น้องจะเป็นลักษณะ “ร่วมกันคิด แบ่งกันรับผิดชอบ”

“เพราะผมไม่เชื่อว่าจะแบ่งให้ลูกคนหนึ่งไปดูธุรกิจคาราบาว อีกคนไปดู ซีเจ เอ็กซ์เพรส แล้วให้ลูกอีกคนไปดูโรงเหล้าโรงเบียร์ เพราะธุรกิจที่เราทำใหญ่เกินกว่าที่จะดูเพียงคนเดียว”

ธุรกิจครอบครัว VS มืออาชีพ

มุมมองเรื่องการจ้าง “มืออาชีพ” เข้ามาบริหารเพื่อให้บริษัทเติบโตนั้น เจ้าพ่อคาราบาวกรุ๊ปบอกว่า ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องการจ้างมืออาชีพ

เพราะตอนผมเริ่มทำธุรกิจค้าปลีกซีเจฯใหม่ ๆ ซึ่งตอนนั้นยังขาดทุน ได้จ้างผู้บริหารคนหนึ่ง เงินเดือน 2.5 ล้านบาท/เดือน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี ต้องทำให้ธุรกิจมีกำไร 1,000 ล้านบาท แล้วจะให้โบนัส (มืออาชีพ) 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เอาจริง ๆ มืออาชีพก็อยู่แค่ 6 เดือน ซึ่งนั่นเมื่อ 5-6 ปีก่อน แต่ปีนี้ ซีเจฯมีกำไรแล้ว 2,600 ล้านบาท

“มืออาชีพไม่ใช่เป็ดไก่ที่แขวนอยู่ที่ตลาดที่จะไปเลือกซื้อเลือกหาได้ แต่ถ้าเราทำงานให้เป็นมืออาชีพ ก็จะสามารถสร้างมืออาชีพขึ้นมาได้ คนที่มาอยู่กับเรานี่แหละ โดยการฟูมฟักคนที่ทำงานอยู่กับบริษัท พยายามให้โอกาสพนักงานทุกคนได้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ”

เพราะไม่มีทางที่จะจ้างใครเข้ามาเพื่อเริ่มต้นสร้างธุรกิจได้ และจะเห็นว่าตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ ในโลกไปซื้อสตาร์ตอัพ ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจต้องเริ่มต้นจาก “เถ้าแก่”

“เข้าสู่กติกา-ลดขัดแย้ง”

สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ “เสถียร” ให้มุมมองว่า ถ้าธุรกิจมีขนาดใหญ่พอ แนะนำว่าควรเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะกฎกติกา หรือข้อบังคับต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ทุกอย่างโปร่งใส แม้กระทั่งผู้สอบบัญชีที่ต้องได้มาตรฐาน ต้องมีกรรมการอิสระ ซึ่งช่วยลดข้อครหาหรือความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าธุรกิจเล็กไม่เป็นประโยชน์มาก เพราะมีค่าใช้จ่ายและอะไรเยอะแยะ

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มธุรกิจกับพี่แอ๊ด-คาราบาว และคุณณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ซึ่งพี่แอ๊ดไม่ได้บริหาร มาลงทุนและช่วยงานด้านการตลาด ตอนนั้นบริษัทเล็กยังไม่รู้จะรอดหรือไม่ ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 200 ล้านบาท ซึ่งผมก็บอกไปว่าเราควรจะจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี BIG4 ซึ่งตอนนั้นหลายคนคัดค้าน แต่ผมมองว่าอย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าซื้อประกันการทะเลาะกัน โดยที่ไม่มีกรรมการ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งว่าถ้าเรามีกฎกติกา แม้กระทั่งเป็นหุ้นส่วน หรืออยู่ในหมู่พี่น้อง ก็จะลดความขัดแย้งได้”

รับมือ “เทคโนโลยี-กติกาโลก”

นอกจากนี้ “เสถียร” ได้เตือนถึงการรับมือความเปลี่ยนแปลงโดยระบุว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนหลายด้าน แต่สิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ว่ามีผลกระทบต่อเราและต่อการทำธุรกิจอย่างมาก นั่นก็คือ “การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี” เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเราก็ใส่ใจ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมของมนุษย์จะต้องเปลี่ยนตาม อย่างที่ผ่านมาจะเห็นหลายบ้านมีของมาส่งออนไลน์เยอะมาก นี่ก็คือเทคโนโลยีอันหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยน

ตอนนี้ยิ่งเห็นการเข้ามาของเอไอ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันกฎระเบียบหรือกฎกติกาของโลกที่เพิ่มขึ้น เช่น กฎเกณฑ์ ESG เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ เพราะถ้าไม่ปรับตัวจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ยาก

คาราบาวกรุ๊ปให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องเทคโนโลยีและเอไอ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จะสามารถพัฒนาธุรกิจเข้าไปแข่งขันกับบริษัทอื่นได้อย่างรวดเร็ว และการที่มาทีหลัง ก็ไม่มีภาระเทคโนโลยีเก่า ๆ ทำให้การปรับเปลี่ยนง่ายกว่าเดิมมาก

เส้นทาง M&P ไม่ใช่ M&A

ขณะที่การขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวไปในอนาคต “เสถียร” ฉายภาพว่า เส้นทางที่ต้องเดินในการสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโต คือการมีพาร์ตเนอร์ ในลักษณะของ Mergers and Partner คือ M&P ไม่ใช่ M&A (Mergers and Acquisitions)

“สิ่งสำคัญคือต้องเลือกพาร์ตเนอร์โดยคิดว่าจะมาเสริมกัน มาซินเนอร์ยีกัน ต้องคิดให้ดี ๆ เพราะการเลือกพาร์ตเนอร์เหมือนเลือกคนที่จะมาอยู่ในครอบครัว”

ขณะที่ปัจจุบันมีคนอยากขายบริษัทเยอะ แต่ละเดือนมีคนมาเสนอขายธุรกิจให้เราตลอด ซึ่งเราต้องเลือกจากการที่มีซินเนอร์ยีกัน ไม่ใช่เพราะมีใครมาขายบริษัทให้

“เสถียร” ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญเมื่อทำธุรกิจแล้ว สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองคือ “อย่าโลภ เพราะโลภแล้วฉิบหายทุกครั้ง”