“มาม่า” ย้ำแบรนด์ต่อเนื่อง ลุยโมเดลใหม่ ขยายฐาน Gen Z

พันธ์ พะเนียงเวทย์
พันธ์ พะเนียงเวทย์

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการสร้างแบรนด์ “มาม่า” ให้เติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ ตามเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจใหม่ด้วยการเปิดตัวโมเดล “ร้านอาหาร” เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ “มาม่า” ให้ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รู้จักแบรนด์มากขึ้น ด้วยการเปิดตัวโมเดล “มาม่า ช็อป” ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นร้านอาหารที่เน้นขายเมนูเส้นจากผลิตภัณฑ์ “มาม่า” ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นร้าน “มาม่า สเตชั่น” และ “เครซี่ มาม่า” ในปัจจุบัน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ขนมปังกรอบ นิสชิน โฮมมี่ ฯลฯ และเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร มาม่า สเตชั่น และเครซี่ มาม่า ถึงทิศทางการดำเนินงานทั้งในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงความท้าทายในการขยายธุรกิจ

เปิดเกมเจาะตลาดกลางคืน

“พันธ์” เริ่มการสนทนาด้วยการอัพเดตการเปิดร้านเพื่อจำหน่ายเมนูเส้นจากผลิตภัณฑ์ “มาม่า” ว่า บริษัทเพิ่งเปิดร้าน มาม่า สเตชั่น ที่ RCA ไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 เปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00-04.00 น. ที่เป็นการพัฒนาโมเดลมาจาก “มาม่า ช็อป” ที่มีอยู่ 2-3 สาขา และใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ในการบริหาร การจัดการ การพัฒนาเมนู

สำหรับ มาม่า สเตชั่น ที่เปิดมาได้ 2 เดือนกว่า ก็ถือว่ายอดขายค่อนข้างนิ่งแล้ว กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ๆ ก็คือ กลุ่มคนหรือนักท่องเที่ยวกลางคืน ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้เมื่อเที่ยวสถานบันเทิงเสร็จก็มักจะหาร้านนั่งต่อ โดยจะเน้นทานอาหารที่ง่าย และสะดวก ซึ่งแน่นอนว่าจุดแข็งของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบซอง หรือแบบร้านอาหาร ก็คือ ความสะดวก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เปิดร้านนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่น่าสนใจคือ ช่วงกลางคืน ตั้งแต่ 23.00-04.00 น. จะเป็นช่วงที่ทำยอดขายดีที่สุด และคิดเป็นสัดส่วนถึง 3 เท่าของช่วงกลางวัน ตั้งแต่ 11.00-23.00 น.

ปีนี้จึงมีแพลนจะขยายอีก 2-3 สาขา โดยจะเน้นการเปิดในแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว เบื้องต้น 1 สาขา เตรียมจะเปิดในย่านเอกมัย ส่วนอีก 2 สาขา ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา

เนื่องจากตอนนี้เรา Find Out ได้อย่างหนึ่งว่า ช่วงกลางวันจะเป็นช่วงที่ร้านอาหารอื่น ๆ เปิดให้บริการ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกคือ ราคา ที่ต้องเหมาะสมและพอดี เมื่อเทียบตัวเลือกอื่น ๆ ของลูกค้า ณ เวลานั้น โดยราคาเริ่มต้นของมาม่า สเตชั่น จะอยู่ที่ 49 บาท

ตอนแรกก่อนจะเปิด มาม่า ช็อป เพื่อให้คนเห็นแบรนด์แล้วจะดิ่งเข้ามาเพื่อกินมาม่า ก็คิดว่าน่าจะมีเยอะ แต่หลังจากที่ได้ทดลองเปิดไป 3 ร้านไม่ว่าจะเป็น ร้านในโครงการ HappyHub คอร์ตแบดมินตัน ย่านลาดพร้าว, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และโครงการมินิมอลล์ เพชรเกษม 98 ปรากฏว่าผลที่ได้ไม่ตรงกับสมมุติฐานที่เราตั้งไว้ เพราะลูกค้าสามารถทํากินเองที่บ้านได้ และเราก็ได้มีการปรับตัวมาตลอด

นอกจากนี้ก็มักจะมีคำถามว่าจะมีการขายแฟรนไชส์หรือไม่ ตอนนี้เราก็ยังคงต้องศึกษาและลองผิดลองถูกอยู่ ยังมีอีก 2-3 เรื่องที่ต้องปรับ ถ้าเปิดไปสัก 4-5 สาขา แล้วรู้สึกว่าใช่ และสามารถรับรองผลได้ 100% ว่าคนที่จะซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วจะไม่เจ๊ง เราถึงจะทำ แต่ถ้ารับรองผลยังไม่ได้ก็จะไม่เสี่ยง

ปรับโฉม “เครซี่ มาม่า”

พร้อมกันนี้ “พันธ์” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการเปิดร้านมาม่า สเตชั่น แล้ว ที่ผ่านมาบริษัทยังได้จับมือกับพันธมิตร คือ ส.ขอนแก่น และร้านอาหารจีน Spicy Cat ล่าเมียว ตั้งบริษัท แอลเอ็ม เอสเค ไทยฟูดส์ จำกัด เปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ “แซ่บ มิวเซียม” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 อโศก เพื่อหวังเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว และยกระดับเมนูให้มีความพรีเมี่ยมขึ้น

แต่หลังจากที่เปิดตัวไปสักพักก็ได้มีการปรับโฉมร้าน และเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ เป็น “เครซี่ มาม่า บาย แซ่บ มิวเซียม” เพื่อที่จะสื่อสารแบรนด์ “มาม่า” ให้ชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มพรีเมี่ยม

และต่อมาก็ได้นำโมเดลร้านเครซี่ มาม่า มาเปิดสาขาใหม่ ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งสาขานี้ถือเป็นสาขาที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะชาวจีน และปีนี้ก็มีแผนจะปรับโฉมร้านใหม่ให้มีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงเมนูต่าง ๆ ก็จะมีเมนูใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้น

ส่วนในแง่ของการขยายสาขา เราก็ค่อย ๆ ดูอยู่ เพราะอย่างที่บอกว่าแบรนด์ร้านเครซี่ มาม่า เป็นตลาดที่ทำมาเพื่อรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องหาโลเคชั่นที่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ ที่มอง ๆ ไว้ก็อาจจะเป็น เอเชียทีค เป็นต้น

โดยการขยายสาขาจะมีทีมของล่าเมียวเป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนเราจะเป็นคนให้คําปรึกษาอย่างเดียว แต่ในส่วนของมาม่า สเตชั่น บริษัทจะดำเนินการและบริหารเองทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ก็คงจะได้เห็นการเคลื่อนไหวมากขึ้น

ทั้งนี้ ร้านเครซี่ มาม่า บาย แซ่บ มิวเซียม ปัจจุบันจะมีเพียงแค่ 1 สาขา ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามเท่านั้น ส่วนสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 อโศก ได้ปิดตัวลงไปแล้ว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

มุ่งสร้างแบรนด์ขยายฐาน

นอกจากนี้ คีย์แม่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ยังกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็จะมีโปรดักต์ใหม่ ๆ และแคมเปญที่หลากหลายออกมาใหม่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะเงินในกระเป๋าผู้บริโภคมีจํากัด

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคก็ยังคงเป็นความท้าทาย นอกจากตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีผู้เล่นที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นเราต้องตื่นตัวและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะความท้าทายในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่จะมีเพียงแค่ปีนี้

ดังนั้น เรื่องของการทําแบรนดิ้ง การทํามาร์เก็ตติ้ง ไม่ใช่จะมุ่งเพียงแค่กระตุ้นยอดขาย แต่ต้องเป็นการสร้างความรับรู้ในแบรนด์ลงไปให้ถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และต้องมองภาพไปอีก 10 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์ มาม่า ยังเป็นเบอร์ 1 ในใจเขาอยู่ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคก่อน

เพราะพฤติกรรมของเด็กยุคนี้กับคนอายุ 30-40 ปี จะมีความแตกต่างกัน ถ้าเราประมาทก็อาจจะเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป และในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าเด็กอายุ 8-12 ขวบ เขาจะรู้จักแบรนด์มาม่าอยู่หรือไม่ อาจจะรู้จักในแบบที่เป็นมาม่าเกาหลีก็ได้

ส่วนร้านอาหารที่เปิดขึ้นมา ในแง่ของยอดขายคงจะไปเทียบกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำได้เป็นหมื่นล้านไม่ได้ แต่ร้านอาหารเป็นช่องทางที่ทําให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์สมบูรณ์ขึ้น สิ่งที่เราทําในวันนี้ เป็นการทำเพื่ออนาคต หรืออีกสัก 50 ปีถัดไป