อสม.เตรียมรับค่าป่วยการเพิ่มเท่าตัวเป็น 2,000 บาท/เดือน เริ่ม พ.ค.นี้

อสม.

สธ.ขึ้นค่าป่วยการให้ อสม. 1.07 ล้านคน อีก 1 เท่าตัว จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท/เดือน เริ่มพฤษภาคม 2567 นี้ พร้อมรับเงินก้อนตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่ตุลาคม 2566-เมษายน 2567

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เดือนพฤษภาคมนี้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จำนวน 1.07 ล้านคนทั่วประเทศไทย จะได้รับเงินค่าป่วยการในอัตราใหม่ 2,000 บาท

รวมถึงได้รับเงินตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566-เมษายน 2567 อีก 7,000 บาท รวม 9,000 บาท จากนั้นจะได้รับค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาททุกเดือน

หลังนายเศรษฐา ทวีสิน อนุมัติตั้งงบประมาณประจำปี 2567 ให้กับกระทรวงสาธารณสุข สำหรับจ่ายเป็นค่าป่วยการให้กับ อสม. 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าป่วยการที่เพิ่มจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท มีผลตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2567 คือ เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า นอกจากจะได้รับค่าป่วยการเพิ่มขึ้นแล้ว อสม.ทั่วประเทศยังได้รับการยกระดับให้เป็น Smart อสม. ด้วยการเสริมความรู้และทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล

รวมทั้งรองรับภารกิจใหม่ ๆ ในการทำงานภายใต้นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เช่น การเป็น Health Rider ส่งยาถึงบ้าน ซึ่งนอกจากได้รับค่าตอบแทนการทำงานที่เพิ่มขึ้น ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับพี่น้อง อสม.ในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ค่าป่วยการ อสม. มีการปรับขึ้น 4 ครั้งในรอบ 15 ปี

  • ปี 2552 ที่เริ่มมีการให้ค่าป่วยการ อสม. ครั้งแรก จากเดิมที่เป็นการทำงานในลักษณะของจิตอาสา เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยรัฐบาลเวลานั้นเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการ อสม. เดือนละ 600 บาท
  • ปี 2562 เพิ่มค่าป่วยการ อสม. เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเดือนละ 1,000 บาท
  • ปี 2565 มีการระบาดของโรคโควิด-19 มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา 30 เดือน เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563-กันยายน 2565 รวม 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน
  • ปี 2567 เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาท

“พี่น้อง อสม.ถือเป็นด่านหน้า เป็น ‘นักรบ’ ของงานสุขภาพระดับปฐมภูมิ และมีส่วนอย่างยิ่งในการหนุนเสริมนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวของรัฐบาล” นพ.ชลน่านกล่าว