รถอีวีต้นทุนพุ่งแห่ขึ้นราคา 2-3% ผู้ผลิตค่ายจีนติดกับดักขยับไม่ได้

รถอีวี

“รถอีวี” อั้นไม่อยู่ ต้นทุน “แบตเตอรี่-ค่าขนส่ง-อัตราแลกเปลี่ยน” พุ่ง รถอีวีหรูนอกโครงการสนับสนุนของภาครัฐทยอยปรับราคาขึ้น 2-3% ตามต้นทุน ส่วนในโครงการ ผู้ผลิตค่ายจีนทั้ง MG-ORA ติดกับดักขยับไม่ได้ แบรนด์ “NETA” ตีมึนประกาศจบมอเตอร์เอ็กซ์โปปรับเพิ่มราคาอีก 5 หมื่น สรรพสามิตสั่งผู้บริหารชี้แจงด่วน

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อกำลังพิจารณาปรับขึ้นราคาขาย เนื่องจากตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาแบตเตอรี่ วัตถุดิบต่าง ๆ ค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงปัญหาขาดเซมิคอนดักเตอร์ และการปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั่วคราวในประเทศจีน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูง

รถหรูปรับขึ้น 2-3% ตามต้นทุน

นายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด หรืออาวดี้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ออดี้ เอจี ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะมีการปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ออดี้ อี-ตรอน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่อาวดี้ ไทยแลนด์เอง พยายามแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นประมาณ 2-3% ไว้ก่อน ซึ่งหากบริษัทแม่ประกาศขยับราคาก็มีความจำเป็นจะต้องปรับราคาขายแน่นอน ส่วนลูกค้าที่จองรถไว้ก่อนหน้านี้ยังได้รับในราคาเดิม

“อาวดี้เราถือเป็นภาระผูกพันในการดูแลลูกค้าที่จองมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมียอดค้างส่งมอบหลักหลายร้อยคัน นโยบายของเราต้องการดูแลลูกค้าชาวไทยให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด และบริษัทพร้อมนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สำหรับลูกค้าที่สนใจเครื่องยนต์สันดาป, PHEV และ EV”

นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า บีเอ็มดับเบิลยูได้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายรถยนต์เกือบทุกรุ่นผ่านแพ็กเกจ BSI เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนต่าง ๆ ที่ขยับขึ้น โดยรถอีวีตอนนี้รับแพ็กเกจ BSI บำรุงรักษา 4 ปีไม่จำกัดระยะทาง การรับประกันแบตเตอรี่แรงดันสูงนานสูงสุด 8 ปีหรือ 160,000 กิโลเมตร การบริการช่วยเหลือฉุกเฉินนอกสถานที่เป็นระยะเวลาสูงสุด 5 ปี

รถจีนติดกับดักโครงการหนุนอีวี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะแต่รถหรูที่ทยอยปรับราคาขึ้นตามต้นทุนการผลิตไปแล้ว มีรถจีนหลายค่ายก็พยายามจะปรับราคา แต่ด้วยรถจีนส่วนใหญ่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และอยู่ในโครงการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งเสียภาษีต่ำลง และยังมีเงินอุดหนุนให้ผู้ซื้อ 1.5 แสนบาท ที่ผ่านมาพยายามเข้าไปเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับขึ้นราคาขาย แต่ยังไม่เป็นผล ทำให้ยังไม่สามารถปรับราคาขายได้ และยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไว้ก่อน

แหล่งข่าวค่ายรถจีนรายหนึ่ง กล่าวว่า ดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นมาก แต่ค่ายรถต้องเผชิญกับปัญหาขาดซัพพลาย ทั้งชิปและชิ้นส่วนบางรายการ ยังเจอปัญหาต้นทุนทั้งแบต-ค่าขนส่ง และอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ทุกคนต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยเงื่อนไขทางด้านภาษีที่กรมสรรสามิตสนับสนุนไว้นั้น ทำให้ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เพิ่มออปชั่น หรือไนเนอร์เชนจ์

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มของราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีว่า มีโอกาสที่จะปรับราคาสูงขึ้นเป็นผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น

“เราเข้าไปคุยกับสรรพสามิตมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้การตอบรับ”

เกรท วอลล์ฯไมเนอร์เชนจ์ ORA

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีกระแสข่าวว่า แบรนด์ ORA ใช้วิธีนำ ORAรุ่น 400 ซึ่งวิ่งได้ต่ำกว่ารุ่น 500 ออปชั่นน้อยกว่า เปลี่ยนแบตฯเป็นรุ่น 500 พร้อมสีใหม่ นำเสนอเป็นรถอีวี ORA ไมเนอร์เชนจ์ เปิดรับจองสิทธิ 2,000 คันผ่านเว็บไซต์ GWM.CO.TH ซึ่งคาดว่าราคาน่าจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย โดยระบุว่ากำลังรอสรรพสามิตอนุมัติ ทุกอย่างเกรทวอลล์ฯขอสงวนสิทธิ์และพร้อมคืนสิทธิ์หากมีการเปลี่ยนแปลงภายใน 31 ธ.ค.นี้

ด้านนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปีหน้าเกรท วอลล์ มอเตอร์ จะนำรถยนต์อีก 4 รุ่นเข้ามาสร้างประสบการณ์การขับขี่ให้กับตลาดเมืองไทย ส่วนยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat ขณะนี้บริษัทมีรถอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดแล้ว และพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าภายในปีนี้อย่างแน่นอน และบริษัทได้เปิดรับจองสิทธิ ORA Good Cat ราคาใหม่และรอบใหม่จำนวน 2,000 คัน เปิดให้จองตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.-31 ธ.ค. 2565 คาดว่าจะส่งมอบรถทั้งหมดได้ภายใน 31 มีนาคม 2566

NETA นำร่องปรับเพิ่ม 5 หมื่น

ขณะที่นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ทางด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนและสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงค่าขนส่ง ทำให้เนต้าจำเป็นต้องปรับราคาขาย NETA V

สำหรับผู้ที่จองตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2565 หลังจบงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเป็นต้นไป จ่ายเพิ่มอีก 5 หมื่นบาท จากเดิม 5.49 แสนบาท เป็น 5.99 แสนบาท โดย NETA ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง

สรรพสามิตยันทำไม่ได้

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีมีข่าวว่าทางค่ายรถยนต์ไฟฟ้า “เนต้า” ประกาศว่า เตรียมปรับขึ้นราคารถอีวีรุ่น NETA V เพิ่มขึ้นอีก 30,000-50,000 บาท จากเดิมที่ขายในราคา 549,000 บาทนั้น ทางกรมยืนยันว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะราคาที่ขายต้องได้รับอนุมัติจากกรมสรรพสามิต เพราะผิดเงื่อนไขที่มีการอนุมัติราคาขายปลีกกันไว้ และเป็นราคาที่รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน

ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า วันนี้ (2 ธันวาคม) กรมสรรพสามิตจะมีหนังสือไปถึงทางค่ายรถยนต์ไฟฟ้า “เนต้า” เพื่อให้ชี้แจงถึงกรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ออกมาประกาศว่าเตรียมปรับขึ้นราคารถยนต์อีวีรุ่น NETA V อีก 30,000-50,000 บาท จากเดิมที่ขายในราคา 549,000 บาท ซึ่งราคาเดิมเป็นราคาที่ได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพสามิต เนื่องจากรถอีวีรุ่นดังกล่าวเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล

“กรมจะให้ทางบริษัททำหนังสือชี้แจงมา เพราะว่าในข้อเท็จจริงแล้ว การปรับราคาทำไม่ได้ และถ้าจะปรับราคาต้องได้รับการอนุมัติโครงสร้างราคาจากกรมสรรพสามิตก่อน ซึ่งราคาที่เราอนุมัติคือราคาเดิม” นายณัฐกรกล่าว