ฮอนด้าห่วง “หนี้-ดอกเบี้ย” ทุบ “ตลาดจักรยานยนต์” หดตัว 10%

ชิเกโตะ คิมูระ
ชิเกโตะ คิมูระ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ถือว่าสะท้อนภาพตลาดรถจักรยานยนต์ไทย ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากนายใหญ่ค่ายไทยฮอนด้า “ชิเกโตะ คิมูระ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ฮอนด้าในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ดูแลตลาดสองล้อเครื่องของฮอนด้า ในประเทศไทย มาเป็นระยะยาวนานที่สุด เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ชนิดที่ว่า คลุกคลี และเห็นสภาพตลาดอย่างแท้จริง

ก่อนที่ในเดือนเมษายนนี้ เขาจะกลับไปสานงานต่อที่สำนักงานใหญ่ ประเทศญี่ปุ่น ดูแลแผนตลาดมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกของฮอนด้านั้น โดยปี 2567 ฮอนด้ามองว่ายังเป็นอีกปีที่ตลาดกำลังเผชิญความท้าทายทั้งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

Q :  ประเมินตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้

สำหรับในปี 2567 ฮอนด้าประเมินตลาดจักรยานยนต์มีปัจจัยลบเยอะโดยเฉพาะปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสินเชื่อเช่าซื้อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยนโยบายที่สูง รวมทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของภาครัฐที่ยังไม่เริ่มเห็นผล ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อสินค้า และส่งผลให้ความต้องการในตลาดลดลง

ฮอนด้ามองว่าปีนี้ยอดขายรถจักรยานยนต์ไทยจะมียอดจดทะเบียนแค่ 1.7-1.75 ล้านคัน หรือลดลง 7-10% จากปีก่อนที่ทำได้ 1.88 ล้านคัน ส่วนเป้าปีนี้ฮอนด้าน่าจะทำได้ 1.3-1.35 ล้านคัน ลดลง 8-12%

Q : ต้องปรับกลยุทธ์อย่างไรบ้างเพื่อบรรลุเป้า

ตลอดทั้งปี 2567 ฮอนด้าพร้อมที่จะสร้างความคึกคักให้กับตลาด ผ่านการส่งมอบประสบการณ์ในการขับขี่ที่ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การจัดกิจกรรมให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยทุกกิจกรรมถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด

โดยเฉพาะโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของฮอนด้า ที่ไม่ยอมตกขบวน หลังจากได้เริ่มนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดลองวิ่ง และทำตลาดในประเทศไทย เมื่อ 5 ปีก่อนกับ 2 รุ่นหลัก อย่าง Honda BENLY e และ Honda PCX Electric ที่ปัจจุบันมีการทำตลาดในรูปแบบของ B2B และมียอดขายไปแล้ว ประมาณ 500 คัน

และยังมีในส่วนของรถเช่าด้วย ฮอนด้าทำราคาพิเศษ เฉลี่ยการเช่าอยู่ที่ราว ๆ 3,000 บาทต่อเดือน รถทั้ง 2 รุ่นมีการประกอบในประเทศไทย แม้ว่าชิ้นส่วนหลายชิ้นยังต้องนำเข้ามา โดยเฉพาะแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้น่าจะได้เห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น

Q : ปี 2566 ที่ผ่านถือว่ายากลำบากแค่ไหน

สำหรับไทยฮอนด้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ถือว่าการดำเนินงานเป็นอยู่ในระดับกลาง ๆ เราสามารถปิดยอดจดทะเบียนสูงสุดที่ 1.47 ล้านคัน ขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมปิดตัวเลขไปที่ 1.88 ล้านคัน ฮอนด้ายังคงครองความเป็นผู้นำในตลาดรถจักรยานยนต์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 35 ติดต่อกัน จะเห็นว่าตลาดในปีที่ผ่านมานั้นถือว่ายังมีแนวโน้มดี ตัวเลขขายรวมมีการเติบโตขึ้นจากปี 2565 ถึง 4% ในจำนวนนี้รถจักรยานยนต์ในกลุ่ม เอ.ที. หรือที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่สุด มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 49%และโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 5% และมีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Q : ปัจจัยที่ทำให้ฮอนด้าโตเหนือตลาด

ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ ฮอนด้าเติบโตในปีที่แล้วถึง 6% เพราะมีรถใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถ New Honda Giorno+ ที่สามารถสร้างกระแสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยผลักดันให้กลุ่ม เอ.ที. มีการเติบโตในปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตลาดรถบิ๊กไบก์ หรือรถจักรยานยนต์ขนาด 400cc ขึ้นไป ตลอดปี 2566 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 15,468 คัน ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนฮอนด้ามีตัวเลขอยู่ที่ 7,035 คัน เติบโตขึ้น 7% มากกว่าตลาดรวม

สำหรับปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะอยู่ที่ระดับ 15,000 คัน และฮอนด้าตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้ที่ 7,000 คัน โดยปัจจัยบวกที่ทำให้ฮอนด้าเติบโต ประกอบไปด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่อย่าง Honda E-Clutch ในรถตระกูล 650 Series และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้