คนไทยหนี้ท่วม

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

ช่วงนี้ประชาชนตาดำ ๆ ติดตามข่าวคราวความคืบหน้ารัฐบาลแจกเงินหมื่น (บาท) อย่างใจจดจ่อ

เดี๋ยวบ่ายสองโมงวันนี้ (10 พฤศจิกายน) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะแถลงความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนบรรดาข้าราชการต่างก็นั่งลุ้นเรื่องขึ้นเงินเดือนอย่างมีความหวัง เพราะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมานาน 9 ปีแล้ว

ส่วนพี่น้องชาวนาตอนนี้คงฉีกยิ้มได้กว้างหน่อย เพราะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/2567 จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 55,038.96 ล้านบาท

อย่างน้อยที่สุด นี่คือน้ำทิพย์ชโลมใจ ที่ทำให้ชีวิตนี้มีความหวังขึ้นมาบ้าง

ทุกวันนี้คุยกับใครก็บ่นกระปอดกระแปดว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่ค่อยจะพอใช้ ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน ๆ อะไร ๆ ก็แพงไปหมด

ต้องเป็นหนี้เป็นสินกันทุกผู้ทุกนาม

ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจเงินกู้ บานสะพรั่ง ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและเงินกู้นอกระบบ

สะท้อนได้จากการเปิดสาขาของบริษัทปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

หรือไปไหนมาไหนก็เจอกระดาษใบปลิวแผ่นขนาดเท่านามบัตร ที่ระบุเบอร์โทรศัพท์ พร้อมข้อความ เช่น “ยืมง่าย ๆ ได้เงินไว อนุมัติง่ายทันใจ” “โทร.มาปรึกษาได้ อนุมัติภายใน 5 นาที” “เงินมาแล้วจ้า ต้นลด ดอกลด โทร.หาเรานะครับ” เป็นต้น

หรือแม้กระทั่งในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่บอกกันตรง ๆ จะจะ เช่น “เงินเดือนไม่พอจ่าย ค่าห้องไม่พอ ส่งค่าเทอม ใครเดือดร้อน โทร.มาปรึกษาได้ตลอด 24 ชม. เงินกู้ด่วนทันใจ กู้ง่ายได้ชัวร์…อะไรทำนองนี้

หลายปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังมีความกังวลกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ช่วง 4-5 ปีหลังมานี้พุ่งแรงเหลือใจ และเป็นตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

วันก่อนคลิกเข้าไปอ่านข้อมูลเรื่องหนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม ? ที่เผยแพร่เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566 โดยลัทธพร รัตนวรารักษ์ และโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ (https://projects.pier.or.th/household-debt/) ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ให้เห็นภาพสักเล็กน้อย เช่น คนไทยจำนวนมากมีหนี้ โดยจากปี 2560 ถึง 2565 สัดส่วนคนไทยที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 37% ของประชากรไทย คนไทยมีหนี้ในปริมาณที่สูง โดย 57% ของคนไทยที่มีหนี้ มีหนี้เกิน 100,000 บาท กลุ่มที่มีหนี้เกิน 1,000,000 บาท มีถึง 14% โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 520,000 บาท และในภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

คนไทยมีบัญชีหนี้หลายบัญชี โดย 32% ของคนไทยที่มีหนี้ มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป คนไทยที่มีหนี้ มีหนี้โดยเฉลี่ย 3 บัญชีต่อคน และ 32% มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป

ที่น่าห่วงมากไปกว่านั้นก็คือ คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานมีหนี้เร็วขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนมีหนี้เสียสูงที่สุด

1 ใน 2 ของคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงานจะเริ่มมีหนี้สินกันแล้ว และสัดส่วนหนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

คนไทยมีปัญหาหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุด และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4

ใครหลาย ๆ คนอาจจะเคยอ่านผลวิจัยชิ้นนี้แล้ว แต่ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาย้ำเตือน เพราะนี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศ และอยากเห็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

ซึ่งก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะท่านนายกฯ ได้พูดเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ของคนไทยในรายการพิเศษ Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT 11

ครับ…การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ